ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันอาทิตย์, 5 พฤษภาคม 2567

การร่วมทายผลฟุตบอลโลก!! ทำได้หรือไม่?

หุก่มการร่วมสนุกทายผลฟุตบอลโลก!!

ช่วงนี้กระแสบอลโลกกำลังมาแรง จะด้วยเหตุใดก็ตามแต่.. สิ่งหนึ่งที่มักจะมาคู่กับบอลโลก หรือรายการอื่นๆก็คือ การพนันขันต่อ การแทงบอล ทายผล ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีถึงความมีอยู่และแพร่หลายของมัน.. ในส่วนของการพนัน การแทงบอล อาจจะเป็นเรื่องที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าหุก่มทางศาสนาว่าอย่างไร?

แต่ยังมีกิจกรรมอีกประเภทหนึ่ง ที่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบหุก่ม หรืออาจจะมองข้ามไป นั่นคือ การร่วมสนุก(อย่างที่เขาเรียกกัน)ทายผลบอลโลก ด้วยการส่งไปรษณียบัตรบ้างละ ส่งชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์บ้างละ หรืออาจส่งชิ้นส่วนคูปองที่ตัดจากหนังสือพิมพ์บ้างละ.. การร่วมสนุก(หรือจะเรียกว่าชิงโชค ร่วมกิจกรรม ร่วมทายผล ฯลฯ แล้วแต่จะเรียกละกัน)เหล่านี้ อนุญาตให้กระทำได้หรือไม่? ถือว่าเข้าข่ายการพนัน หรือเสี่ยงทายเสี่ยงโชค(ในมุมมองของศาสนา)หรือไม่?

เรามาลองอ่านฟัตวาข้างล่างนี้กันครับ..

“มีความเห็นตรงกันเป็นเอกฉันท์ว่า การพนันขันต่อ และการเสี่ยงโชคเสียงทายนั้น เป็นที่ต้องห้ามตามหลักการอิสลาม และถือเป็นการบริโภคทรัพย์สินเงินทองของผู้อื่นโดยมิชอบ

อัลลอฮฺตะอาลาตรัสว่า:

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ إِنَّمَا الْخَمْرُ وَالْمَيْسِرُ وَالأَنصَابُ وَالأَزْلاَمُ رِجْسٌ مِّنْ عَمَلِ الشَّيْطَانِ فَاجْتَنِبُوهُ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ *
إِنَّمَا يُرِيدُ الشَّيْطَانُ أَن يُوقِعَ بَيْنَكُمُ الْعَدَاوَةَ وَالْبَغْضَاء فِي الْخَمْرِ وَالْمَيْسِرِ وَيَصُدَّكُمْ عَن ذِكْرِ اللّهِ وَعَنِ الصَّلاَةِ فَهَلْ أَنتُم مُّنتَهُونَ

“ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! แท้จริงสุรา การพนัน แท่นหินสำหรับเชือดสัตว์บูชายัญ และการเสี่ยงติ้วนั้นเป็นสิ่งโสมมอันเกิดจากการกระทำของชัยฏอน ดังนั้นพวกเจ้าจงห่างไกลจากมันเสีย เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ ที่จริงชัยฏอนนั้น เพียงต้องการที่จะให้เกิดการเป็นศัตรูและการเกลียดชังกันระหว่างพวกเจ้าด้วยสุราและการพนัน และต้องการทำให้พวกเจ้าหันเหออกจากการรำลึกถึงอัลลอฮฺ และการละหมาด (เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว) พวกเจ้าจะเลิกขาดจากมันได้หรือยัง?” (อัลมาอิดะฮฺ 90-91)

ซึ่งอุละมาอ์ได้จัดให้การพนันขันต่อ และการเสี่ยงโชคเสี่ยงทายอยู่ในกลุ่มของบาปใหญ่ (ดู เอียะลามุลมุวักกิอีน 4/309 และอัซซะวาญิร 2/328)

ท่านอิบนุอับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวถึงสาเหตุของการประทานอายะฮฺข้างต้นว่า “ในยุคญาฮิลิยะฮฺนั้น มักจะมีการพนันกัน โดยเอาครอบครัวและทรัพย์สินเป็นเดิมพัน ใครชนะพนันก็ได้ไป” (บันทึกโดยเฏาะบะรีย์ ในญามิอุลบะยาน 2/369)

ทั้งนี้ อุละมาอ์ได้วางหลักนิยามของคำว่าการพนัน และการเสี่ยงโชคไว้ว่า “คือการที่ผู้เข้าร่วมมีโอกาสจะ ‘ได้’ ในกรณีที่เขาชนะ หรืออาจจะ ‘เสีย’ ในกรณีที่เขาแพ้” หมายความว่า เขาจ่ายเงินหรือทรัพย์สิน เพื่อเสี่ยงโชค โดยที่เขาอาจเสียเงินนั้นไปเปล่าๆ หรืออาจจะได้เงินรางวัลที่กำหนดไว้ เช่น การซื้อลอตเตอรี่

ดังนั้น จะถือว่าเป็นการเสี่ยงโชค ก็ต่อเมื่อผู้เข้าร่วมได้จ่ายเงินไปจำนวนหนึ่ง โดยที่เขาอาจจะเสียมันไปเปล่าๆ ซึ่งเงินจำนวนนี้ จะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่ มันก็ไม่ได้มีผลเปลี่ยนแปลงหุก่มการเสี่ยงโชคแต่อย่างใด แม้จะเรียกมันว่า “ค่าสมัคร” หรือเป็น “ค่าคูปองที่ใช้ส่งชิงโชค” หรือจะใช้ชื่ออื่นๆ.. ก็ล้วนแต่เป็นการเสี่ยงโชคทั้งสิ้น

แต่ถ้าผู้เข้าร่วมไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายใดๆเพื่อแลกกับการเข้าร่วมแข่งขัน เช่นนี้ ไม่ถือว่าเป็นการเสี่ยงโชค และอนุญาตให้เข้าร่วมได้”

เชค มุหัมมัด อัลมุนัจญิด www.islamqa.com/ar/ref/89746

——————————————————————————————————

จากฟัตวาข้างต้น เราจะเห็นว่า การส่งไปรษณียบัตรเข้าร่วมทายผลฟุตบอล เพื่อลุ้นของรางวัลนั้น เข้าข่ายการพนันและเสี่ยงโชค ที่อิสลามได้ห้ามไว้อย่างไม่ต้องสงสัย

เพราะการที่คนๆหนึ่ง ซื้อไปรษณียบัตรมา ใบละ 2 บาท แล้วเขียนทายไปว่าชาติใดจะได้เป็นแชมป์บอลโลก เช่นนี้ เงิน 2 บาทที่เขาเสียไปนั้น เขาอาจจะมีโอกาสได้รับของรางวัลตอบแทนกลับมามากมาย หรืออาจจะไม่ได้อะไรเลย! และแน่นอนว่า ส่วนใหญ่แล้วคนที่ส่งไปทายผล ต้องส่งมากกว่า 1 ใบอยู่แล้ว บางคนอาจจะส่ง 10 ใบ (20 บาท) 100 ใบ (200 บาท) หรืออาจจะเป็นพันเป็นหมื่นใบ!! ซึ่งเงินเหล่านั้นที่เสียไป แน่นอนว่า มีแค่ 2 กรณี คือ ได้รางวัลจะมากหรือน้อยก็ตามแต่ หรืออาจจะไม่ได้อะไรเลยสักบาท นี่ก็คือการพนันขันต่อ คือการเสี่ยงโชคดีๆนั่นเอง.. ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าต้องส่งเยอะๆถึงจะหะรอม จะส่ง 1 ใบ (2 บาท) หรือ เป็นหมื่นเป็นแสนใบ ก็ไม่ต่างกันครับ..

วัลลอฮุอะลัม

—————————————–

ทีนี้ ก็มาพูดถึงการร่วมสนุกอีกลักษณะหนึ่ง นั่นคือ การส่งชิงโชค(เสี่ยงโชค)ทายผลฟุตบอล(หรืออื่นๆ) ด้วยการตัดคูปองจากหน้าหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสารต่างๆ เช่นนี้ล่ะ จะทำได้ไหม? ข้อแตกต่างข้อหนึ่ง(ที่อาจผุดขึ้นมาในความคิด) ระหว่างกรณีนี้ กับกรณีของการส่งไปรษณียบัตรคือ กรณีไปรษณียบัตร เราเสียเงินซื้อ แต่กรณีของการตัดชิ้นส่วนหนังสือพิมพ์ส่งไป อันนี้อาจจะเป็นได้ว่า เราซื้อหนังสือพิมพ์อยู่เป็นประจำอยู่แล้ว แม้ว่าจะไม่มีบอลโลกหรืออะไรก็ตาม เช่นนี้มีรายละเอียดอย่างไร?

อุละมาอ์ร่วมสมัยมีความเห็นที่แตกต่างกันในประเด็นนี้ ส่วนหนึ่งเห็นว่าการส่งชิงโชคในกรณีนี้ถือว่าหะรอมเช่นเดียวกัน ในขณะที่บางส่วนเห็นว่าอนุญาตให้กระทำได้ แต่ทั้งนี้ ก็มีเงื่อนไขบางประการ..

ฝ่ายที่เห็นว่าหะรอม ถือว่ากิจกรรมเหล่านี้ เข้าข่ายการเสี่ยงโชคที่ต้องห้าม ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น ทั้งยังมีเรื่องของการใช้จ่ายทรัพย์สินในหนทางที่ไม่ถูกต้อง ผู้ที่ฟัตวาเช่นนี้ ก็เช่น เชคบินบาซ และเชคอิบนุญิบรีน เราะหิมะฮุมัลลอฮฺ

แต่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า อนุญาตให้กระทำได้ ภายใต้เงื่อนไข 2 ข้อ คือ:

1- ผู้ร่วมสนุกจะต้องซื้อสินค้าหรือหนังสือพิมพ์ดังกล่าว เพราะความต้องการใช้จริงๆ แต่ถ้าเป็นการซื้อโดยไม่ได้หวังผลอื่นใด นอกจากเพื่อส่งชิงโชค เช่นนี้ก็ถือว่าไม่อนุญาต เพราะด้วยรูปการณ์เช่นนี้ จะกลายเป็นการเสี่ยงโชคชนิดหนึ่ง กล่าวคือ ผู้ร่วมสนุกจ่ายเงินจำนวนนี้(ค่าหนังสือพิมพ์) โดยหวังในโอกาสที่จะได้ของรางวัล

ดังนั้น หากเขาซื้อหนังสือพิมพ์ โดยไม่ได้ตั้งใจจะซื้อมาอ่าน แต่ซื้อมาตัดคูปองส่งชิงโชคเท่านั้น หรือซื้อมามากกว่า 1 ฉบับ การส่งชิงโชคในลักษณะนี้ถือว่าหะรอม และเป็นการเสี่ยงโชคอย่างหนึ่ง

2- ผู้ขายจะต้องไม่ขายสินค้าหรือหนังสือพิมพ์ดังกล่าว ในราคาที่สูงขึ้นเพราะมีการชิงรางวัลโดยเฉพาะ ถ้าหากว่าหนังสือพิมพ์ราคา 3 ริยาล แล้วเอามาขาย 4 ริยาลในช่วงที่มีการชิงรางวัล เช่นนี้ถือว่าหะรอม เพราะราคาที่เพิ่มมานั้น เป็นการจ่ายเพิ่มเพื่อแลกกับการชิงรางวัล เช่นนี้ก็ถือว่าเป็นการเสี่ยงโชคเช่นเดียวกัน

(ฟัตวาเชคอิบนุอุษัยมีน เราะหิมะฮุลลอฮฺ)

ที่มาของเนื้อหา:อิกเราะห์ฟอรั่ม