ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันจันทร์, 29 เมษายน 2567

9 สิ่งที่ควรทำในวันอีด

ซุนนะฮฺต่างๆ ที่มุสลิมควรปฏิบัติใน วันอีด ตามที่มีรายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มีดังนี้

1.ประการแรก ในวันอีดมุสลิมควรต้องเอาใจใส่เรื่องการอาบน้ำชำระร่างกายและใส่เครื่องหอม ซึ่งนักวิชาการบางกลุ่มมีทัศนะสนับสนุนให้ทำสิ่งดังกล่าวนั้น เช่นที่มีรายงานจากอิบนุ อุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ว่าท่านจะอาบน้ำก่อนที่จะออกไปละหมาดอีด (มุวัฏเฏาะอ์มาลิก 1/189) นักวิชาการบางท่านกล่าวว่าส่งเสริมให้ขจัดขนรักแร้ ตัดเล็บ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลความสะอาดของร่างกาย เพราะนี่ถือว่าเป็นการประดับกายที่สมบูรณ์ อีกทั้งยังสนับสนุนให้สวมใส่เสื้อผ้าที่ดีสุดเท่าที่สามารถจะหามาใส่ได้

มีรายงานจากอิบนุ อุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ว่าท่านมักจะสวมใส่เสื้อผ้าที่ดีที่สุดในวันอีด (สุนัน อัล-บัยฮะกียฺ 3/281)
อิบนุล ก็อยยิม ได้กล่าวว่า ในวันอีด ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะสวมเสื้อผ้าที่งามที่สุดของท่าน ท่านจะมีชุดเฉพาะที่ใช้สวมใส่ในวันอีดและวันศุกร์ (ดู ซาด อัล-มะอาด 1/441)

2.ประการที่สอง ถ้าเป็นอีดุลฟิฏรฺ(วันอีดออกบวชเราะมะฎอน) มีสุนนะฮฺให้ทานอินทผลัมก่อนออกไปละหมาดเล็กน้อยด้วยจำนวนคี่ คือ สามผล หรือห้าผล หรือเจ็ดผล

ท่านอะนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะไม่ออกไปละหมาดอีดุลฟิฏรฺ จนกว่าจะได้ทานอินผลัมก่อนเล็กน้อย โดยท่านจะทานเป็นจำนวนคี่ (บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺ หมายเลข 953)
ส่วนอีดุ้ลอัฎฮา รอจนละหมาดอีดเสร็จแล้ว จึงรับประทานเนื้อกุรบานเป็นมื้อแรก
ในบันทึกของอิมามอัตติรมิซียฺ เชคอัลบานียฺว่าเศาะฮี้ฮฺ จากรายงานของท่านบุร็อยดะฮฺว่า “ท่านนบี จะไม่ออกไปในวันอีดุ้ลฟิฏรฺจนกว่าจะได้รับประทานอาหาร และท่านจะไม่กินอะไรเลยในวันอีดิ้ลอัฎฮา จนกว่าจะละหมาด(จึงจะรับประทานอาหาร(เนื้อกุรบาน))”

3.ประการที่สาม ส่งเสริมให้ออกไปละหมาดด้วยเส้นทางหนึ่ง และขากลับให้ใช้อีกเส้นทางหนึ่ง เพราะมีรายงานจากญาบิรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เมื่อถึงวันอีดท่านจะใช้เส้นทางสลับกัน ระหว่างขาไปกับขากลับ (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หมายเลข 986)

อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

ขอสาบาน ว่าแท้จริงแล้วสำหรับพวกเจ้า ในตัวศาสนทูตของอัลลอฮฺนั้น มีแบบอย่างที่ดีงามแก่คนที่หวังในอัลลอฮฺและวันอาคิเราะฮฺ และได้รำลึกถึงอัลลอฮฺอย่างมากมาย
อัล-อะห์ซาบ 21

4.ประการที่สี่ ตามสุนนะฮฺนั้นให้ละหมาดอีดที่มุศ็อลลา(สนามละหมาด) ไม่ใช่ที่มัสญิด นี่เป็นสิ่งที่รู้กันจากการปฏิบัติของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ได้ทำเช่นนี้เสมอมา ตามที่นักวิชาการจำนวนหนึ่งได้วินิจฉัยให้น้ำหนักเกี่ยวกับความเห็นในประเด็นดังกล่าวนี้

5.ประการที่ห้า ไม่มีรายงานที่ยืนยันได้จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่าท่านละหมาดสุนัตก่อนหรือหลังละหมาดอีดที่มุศ็อลลา ซึ่งท่านอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ได้เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ออกไปละหมาดอีดุลฟิฏรฺ ท่านละหมาดสองร็อกอะฮฺ โดยไม่ได้ละหมาดสุนัตก่อนและหลังละหมาดอีดแต่อย่างใด (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หมายเลข 989)

แต่ถ้าหากว่าทำการละหมาดอีดในมัสญิด ก็ควรต้องละหมาดตะหิยะตุลมัสญิด(ละหมาดเมื่อเข้ามัสญิดก่อนที่จะนั่งลงหรือทำภารกิจอื่น)จำนวนสองร็อกอะฮฺเสียก่อน มีรายงานจาก อบู เกาะตาดะฮฺ อัส-สุละมียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

“เมื่อใครคนใดคนหนึ่งในหมู่พวกท่านเข้ามัสญิด เขาก็จงอย่านั่งจนกว่าจะได้ละหมาดสองร็อกอะฮฺเสียก่อน”
บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 444 , มุสลิม หมายเลข 714

6.ประการที่หก เมื่อกลับจากละหมาดอีดไปถึงบ้านแล้ว มีบทบัญญัติให้ละหมาดสองร็อกอะฮฺที่บ้าน เป็นหะดีษที่รายงานโดย อบู สะอีด อัล-คุดรียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะไม่ละหมาดใดๆ ก่อนละหมาดอีด แต่เมื่อท่านกลับถึงบ้านแล้ว ท่านก็จะละหมาดสองร็อกอะฮฺ (บันทึกโดยอิบนุ มาญะฮฺ หมายเลข 1293, อัล-หากิม กล่าวว่าเป็นหะดีษเศาะฮีหฺ ในขณะที่อิบนุ หะญัรฺ กล่าวว่าเป็นหะดีษหะสัน ดู ฟัตหุลบารี 2/476)

7.ประการที่เจ็ด ส่งเสริมให้มีการกล่าวตักบีรฺ

สำหรับอีดิ้ลฟิตรี่ให้เริ่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกดินของคืนที่รุ่งเช้านั้นเป็นวันอีด นักวิชาการบางท่านเห็นว่าการตักบีรฺนั้นเป็นสิ่งวาญิบต้องทำเลยทีเดียว เพราะอัลลอฮฺได้ตรัสว่า

“เดือนเราะมะฎอนนั้น เป็นเดือนที่อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมาในฐานะเป็นข้อแนะนำสำหรับมนุษย์ และเป็นหลักฐานอันชัดเจนเกี่ยวกับข้อแนะนำนั้น และเกี่ยวกับสิ่งที่จำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จ ดังนั้น ผู้ใดในหมู่พวกเจ้าเข้าอยู่ในเดือนนั้นแล้ว ก็จงถือศีลอดในเดือนนั้น และผู้ใดป่วย หรืออยู่ในการเดินทาง ก็จงถือใช้ในวันอื่นแทน อัลลอฮฺทรงประสงค์ให้มีความสะดวกแก่พวกเจ้า และไม่ทรงให้มีความลำบากแก่พวกเจ้า และเพื่อที่พวกเจ้าจะได้ให้ครบถ้วนซึ่งจำนวนวัน (ของเดือนเราะมะฎอน) และเพื่อพวกเจ้าจะได้ตักบีรฺ(กล่าวถ้อยคำแสดงความเกรียงไกร)แด่อัลลอฮฺในสิ่งที่พระองค์ ทรงแนะนำแก่พวกเจ้า และเพื่อพวกเจ้าจะขอบคุณ”

อัล-บะเกาะเราะฮฺ 185

ในเช้าวันอีดให้กล่าวตักบีรฺตั้งแต่เริ่มออกจากบ้านไปมุศ็อลลา(สนามละหมาด) จนกระทั่งอิมามนำละหมาดได้เข้ามาถึงยังที่ละหมาด อุละมาอ์ทั้งสี่มัซฮับต่างเห็นพ้องกันว่า การกล่าวตักบีรฺที่ว่านี้เป็นสิ่งที่ถูกบัญญัติให้ปฏิบัติโดยไม่มีผู้ใดเห็นแย้งในประเด็นนี้
มีรายงานจากอิบนุ อุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ว่าท่านได้ออกจากมัสญิดเพื่อเดินไปยังมุศ็อลลา ท่านจะไม่หยุดกล่าวตักบีรฺไปตลอดทาง จนกระทั่งอิมามผู้นำละหมาดได้เข้ามาถึงยังสถานที่ละหมาดนั้น (ดู สุนัน อัด-ดาเราะกุฏนียฺ 2/44 หมายเลข 4)
และมีรายงานเล่าว่า ท่านอิบนุ มัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ จะกล่าวตักบีรฺด้วยถ้อยคำว่า “อัลลอฮุอักบัรฺ, อัลลอฮุอักบัรฺ, ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ, วัลลอฮุ อักบัรฺ, อัลลอฮุอักบัรฺ, วะลิลลาฮิลหัมดฺ” ซึ่งการตักบีรฺนี้ส่งเสริมให้กล่าวทั้งในมัสญิด ในบ้าน และบนถนนหนทาง (ดู มุศ็อนนัฟ อิบนิ อบี ชัยบะฮฺ 2/167)

สำหรับอีดุ้ลอัฎฮาเศาะฮาบะฮฺเริ่มตักบีร(และซิกรุลลอฮฺ)ตั้งแต่วันแรกของซุลฮิจญะฮฺ เป็นการตักบีรทั่วไป(ตักบีรมุฏลัก) ตักบีรเมื่อใดก็ได้ไม่ใช่เฉพาะหลังละหมาด ส่วนตักบีรเฉพาะอีด(ตักบีรมุก็อยยัด)จะเริ่มตั้งแต่หลังละหมาดซุบฮิวันที่ 9 ซุลฮิจญะฮฺ (วันอะเราะฟาต) ตักบีรเสียงดังหลังละหมาดทุกเวลา จนถึงหลังละหมาดอัสริวันที่ 13 ซุลฮิจญะฮฺ รวมห้าวัน และให้กล่าวตักบีรทั่วไปตั้งแต่ออกจากบ้านในวันอีดจนกระทั่งถึงมุศ็อลลา ให้ตักบีรตลอดเวลา ทั้งเสียงดังและเบา หยุดตักบีรเมื่อเริ่มละหมาดอีด

8.ประการที่แปด การละหมาดอีดนั้นเป็นภารกิจที่ส่งเสริมอย่างยิ่ง(สุนนะฮฺ มุอักกะดะฮฺ)ให้ปฏิบัติทั้งชายและหญิง และมีอุละมาอ์บางท่านกล่าวว่ามันเป็นวาญิบ พวกเขาได้อ้างหลักฐานที่เป็นหะดีษจากอุมมุ อะฏียะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สั่งให้บรรดาหญิงสาวที่บรรลุวัยตามศาสนบัญญัติและหญิงที่มีประจำเดือนให้ออกไปที่สนามละหมาดอีดด้วย โดยให้บรรดาหญิงที่มีประจำเดือนอยู่ห่างๆ จากที่ละหมาด ให้พวกนางได้มีส่วนร่วมรับความดีงามและดุอาอ์ต่างๆ ของมวลมุสลิมในวันดังกล่าว (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หมายเลข 980)

9.ประการที่เก้า การอวยพรในวันอีด ซึ่งได้มีรายงานที่เล่ามาจากเศาะหาบะฮฺบางท่านว่า พวกเขาได้กล่าวอวยพรแก่กันในวันอีดว่า “ตะก็อบบะลัลลอฮุ มินนา วะมินกุม” หมายถึง ขออัลลอฮฺทรงตอบรับการงานต่างๆ จากพวกเราและพวกท่านด้วยเถิด

จากบทความ : ซุนนะฮฺต่างๆ ที่สนับสนุนให้ปฏิบัติในวันอีด

โดย : ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์

แปลโดย : ซุฟอัม อุษมาน

ที่มา : islamhouse.com

และ ซุนนะฮฺในวันอีด

โดย เชคริฎอ อะหมัด สมะดี

ที่มา : islaminthailand.org