ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

“ซอบัร คุณค่าที่มากกว่าคำว่า อดทน


“ซอบัร คุณค่าที่มากกว่าคำว่า อดทน”

“ฉันอุตส่าห์ทำงานเหนื่อยยากมานาน ทำไมไม่เห็นความดีกันบ้างเลย เงินเดือนก้อไม่เพิ่ม ตำแหน่งก้อไม่ให้ แล้วจะให้ฉันจงรักภักดีต่อไปอีกหรือ ท้อเหลือเกิน ถ้ามีงานใหม่ที่ดีกว่านี้ ฉันไม่อยู่แล้ว”

เชื่อแน่ว่า คำพูดเช่นนี้มีปรากฏอยู่ทั่วไปตามสำนักงานขององค์กรหรือบริษัทต่าง ๆ ไม่เว้นแม้แต่สถาบันการศึกษาและโรงเรียนสอนศาสนา การที่หลายต่อหลายคนมักจะหลุดคำพูดที่บั่นทอนกำลังใจเช่นนี้มีหลายต่อหลายสาเหตุด้วยกัน หากเรามานั่งแยกแยะวิเคราะห์ออกมาแล้ว แปดสิบเปอร์เซ็นต์ของเหตุผลที่ยกมาอ้างกันนั้น มักเป็นตัวแปรภายนอกที่เราไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงและแก้ไขได้เลย ที่เหลืออีกยี่สิบเปอร์เซ็นต์คืออาการท้อแท้ เอือมระอา หมดพลังในการสร้างสรรค์ ขาดแรงกระตุ้นที่ดี บรรยากาศของการทำงานที่น่าเบื่อ และนิสัยของเพื่อนร่วมงานที่แย่สุด ๆ ซึ่งเป็นเรื่องของจิตใจและทัศนคติต่อการทำงานล้วน ๆ

หากเราเอาลักษณะอาการของผู้ที่ท้อแท้กับการทำงานมาเปรียบเทียบกับผู้คนอีกหลายล้านคนในหลายสิบประเทศ เช่นล่าสุด สึนามิที่ญี่ปุ่น เราจะพบว่า เราแสนจะโชคดีที่สุดในโลกด้วยซ้ำไปที่ยังมีงานทำและมีเงินใช้จ่าย แต่เรายังรู้สึกว่ามีความทุกข์บนความโชคดี ไม่น่าเชื่อว่าความโชคดีจะมีความทุกข์พ่วงมาด้วย ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

มุสลิมผู้ศรัทธา มักจะดีใจและยินดีรีฎอที่มีภัยอันตรายมาประสบกับเขา
เพราะจะทำให้เขารำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าอีกครั้ง
ซอบัร หรือ อดทนที่เขามี จะก่อให้เกิดความรู้สึกยอมรับในกฎสภาวการณ์ของพระองค์ที่เราเรียกว่า “กอดอ กอดัร” และเขาเหล่านั้น จะมั่นใจอย่างเต็มหัวใจว่า ภายหลังความยุ่งยากทั้งหลายทั้งมวล จะมีแต่ความง่ายดายและความสงบสุขอันเป็นนิรันดร์ นั่นคือสวรรค์ของพระองค์

ท่านนบีกล่าวว่า การอดทน คือครึ่งหนึ่งของศาสนา นั้น จริงอย่างที่สุดจนมิอาจโต้แย้งได้เลย

ทุกวันนี้ เราลองไล่เรียงดูว่า เราต้องฝึกความอดทนในแต่ละวันมากแค่ไหน
เริ่มต้นด้วยการอดทนและพยายามตื่นให้ทันละหมาดซุบฮ์และไม่นอนในตอนเช้า
อดทนกับการต้องอาบน้ำในเช้าวันที่อากาศเหน็บหนาว หมอกลงจัด
อดทนกับการต้องรีดเสื้อผ้าเพื่อให้เรียบร้อยดูดี เสริมสร้างบุคลิกที่น่าคบหาและน่ามอง
อดทนกับการต้องโหนรถเมล์ เบียดเสียดกับผู้คน เพื่อให้ทันลงชื่อมาทำงาน
อดทนกับการต้องรอลิฟต์ที่มีผู้คนรอคิวยาว ยามเช้า
อดทนกับการต้องอดอาหารเช้าเมื่อเราไม่มีเวลามากพอที่จะนั่งจิบกาแฟ ทานโรตี
อดทนกับการประชุมอันแสนเคร่งเครียด และน่าเบื่อ
อดทนกับนิสัยแย่ ๆ ของเพื่อนร่วมงานเช่น ชอบนินทาเจ้านาย ชอบใส่ร้ายป้ายสี ชอบประจบสอพลอ ชอบเถียงแต่ไม่ทำงาน เป็นต้น
อดทนกับการดุด่า ต่อว่า หรือเอ็ดตะโรของเจ้านายที่อารมณ์เสีย
อดทนกับการต้องทำงานด่วนจนมืดค่ำ จนไม่มีเวลาไปเตะบอลหรือไปนั่งจ้อที่ร้านน้ำชา
หรือ

อดทนกับการต้องอยู่ตัวคนเดียว เปลี่ยวเหงากับความว้าเหว่ ของหนุ่มสาวโสดทั้งหลาย
หรือ

อดทนกับภรรยาที่ไม่เอาอกเอาใจยามที่เรากลับบ้านมาเหน็ดเหนื่อย
อดทนกับบรรดาลูก ๆ ที่ชอบเล่นซุกซนจนทำให้ข้าวของเสียหาย

นี่คือตัวอย่างอันน้อยนิด ที่เหลือผมไม่สามารถยกมาสาธยายให้เห็นได้ทั้งหมด
เหล่านี้แหล่ะ คือ “ครึ่งหนึ่งของศาสนา” ที่ท่านนบีได้พูดไว้

ในเมื่อเราจะให้ตัวแปรทั้งหมดปรับตัวเข้าหาเราไม่ได้ เราจึงต้องเปลี่ยนแปลงเราเองให้ยอมรับในกฎเกณฑ์ที่เกิดขึ้นนั้นให้ได้ เมื่อนั้น เราจะรู้สึกว่า “ที่ทำงานมันไม่น่าเบื่ออย่างที่คิดเลยนะ” หรือ “เจ้านายและเพื่อนร่วมงานของเราไม่ได้เลวร้ายสุดๆ เลย”

ท่านนบีมูซา อาลัยฮิสลาม ได้กล่าวถึงการซอบัรไว้ว่า
“ท่านไม่อาจได้สิ่งที่ท่านรักหรือพึงใจได้ จนกว่าท่านจะอดทนหรือซอบัรได้กับสิ่งที่ท่านไม่รัก”

ฉะนั้น เมื่อท่านไม่อาจให้คนทุกคนเห็นด้วยกับแนวคิดของท่าน
ก้อขอให้ท่านจงอยู่ร่วมกับคนทุกคนด้วยความอดทนซอบัรอย่างจริงใจ
ไม่ช้าไม่นาน ท่านก้อจะเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อท่านเข้าใจท่านก้อจะรักและห่วงใยในความเป็นพี่น้องและเพื่อนร่วมงานได้มากขึ้น
ขอให้ท่านอย่าทิ้งความอดทนเสียกลางทางล่ะ
เพราะ ความอดทนไม่ได้แปลว่าการอดกลั้นต่อสิ่งที่เราไม่ชอบเพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึง ความพยายามในการแนะนำตักเตือนในสิ่งที่ดี และความมั่นใจหรือยาเก่นว่าอัลลอฮ์ทรงอยู่ร่วมกับเรา ช่วยเหลือเราอยู่ตลอดเวลา เราไม่ได้ซอบัรอย่างโดดเดี่ยวเดียวดายหรอกนะ

การอดทน (ซอบัร) ต้องพาตัวเรา ไปให้ได้ใน 3 จุดต่อไปนี้
1. อดทนด้านกายภาพ ไม่นำพาตนเองสู่การกระทำที่ไม่ถูกต้อง
2. อดทนด้วยลิ้น ด้วยการอดกลั้นไม่ใช้ถ้อยวาจาที่ไม่เหมาะสม
3. สำคัญที่สุด ทนที่ใจ ด้วยการไม่ให้ความรู้สึกเชิงลบใดๆ ต่อใคร ย่างกรายเข้าหา


อ้างอิงจาก:http://oknation.nationtv.tv,http://yuwita.blogspot.com