ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันพฤหัสบดี, 2 พฤษภาคม 2567

คำสั่งเสียของลุกมาน ที่มีต่อลูก

คำสั่งเสียของลุกมาน ต่อลูกของท่าน

อัลลอฮ์ตรัสไว้ว่า

“และจงรำลึกถึง เมื่อลุกมานได้กล่าวแก่ลูกของเขา ในขณะที่เขาได้ตักเตือนลูก” (ลุกมาน : 13)

นี่เป็นคำสั่งเสียที่เป็นประโยชน์ ที่อัลลอฮ์ ได้ทรงเล่าไว้ เกี่ยวกับลุกมานผู้มีความรอบรู้ว่า

คำสอนที่หนึ่ง

เจ้าจงระวังการตั้งภาคีในการเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์ให้มากๆ เช่น การวิงวอนขอดุอาอ์ต่อผู้ที่ตายไป หรือล่วงลับไปแล้ว ซึ่งท่านนะบีได้กล่าวไว้เกี่ยวกับเรื่องขอดุอาอ์ว่า

“โอ้ ลูกของพ่อ เจ้าอย่าได้ตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์แท้จริง การตั้งภาคีนั้น เป็นความอธรรมอันยิ่งใหญ่” (ลุกมาน : 13)

“การขอดุอาอฺ คือ การทำอิบาดะฮฺ” (การบันทึกโดย ติรมิซียฺ และกล่าวว่า เป็น ฮะดีษ ฮะซัน ซ่อเฮี๊ยะ)

และเป็นคำตรัสของอัลลอฮ์ที่ว่า

“บรรดาผู้ที่ศรัทธา และมิได้คละเคล้าการศรัทธาของพวกเขาเข้าด้วยกับความอธรรม” (อัลอันอาม : 82)

ได้ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ในคำว่า “อธรรม” บรรดามุสลิมสมัยนั้นจึงพากันกล่าวว่า พวกเราไม่เคยอธรรมต่อตัวเองเลย แล้วจะทำอย่างไรกันดี ท่านนะบี ได้กล่าวว่า

“ไม่ใช่เช่นนั้น แท้ที่จริง มันคือการตั้งภาคี ท่านทั้งหลายไม่ได้ยินคำดังกล่าวของลุกมานแก่ลูกของเขาหรือที่ว่า โอ้ ลูกของพ่อ เจ้าอย่าได้ตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์ แท้จริง การตั้งภาคีนั้นเป็นความอธรรมที่ยิ่งใหญ่” (บันทึกโดย บุคอรีย์ และมุสลิม)

คำสอนที่สอง

“และเรา (อัลลอฮ์) ได้สั่งเสียแก่มนุษย์ให้ทำดีต่อพ่อแม่ของเขาว่าแม่ของเขาได้อุ้มครรภ์เขา ด้วยความอ่อนเพลีย และข้าเท่านั้นที่เจ้าจะกลับไป” (ลุกมาน : 14)

หลังจากนั้น พระองค์ได้ทรงเอาการมีคุณธรรมต่อพ่อแม่มากล่าวต่อจากคำสอนที่ให้เคารพภักดีต่อพระองค์เพียงองค์เดียวเท่านั้น อันเนื่องจากความยิ่งใหญ่ในสิทธิของทั้งสอง แม่ได้อุ้มครรภ์ลูกด้วยความเหนื่อยยาก และพ่อก็ทำหน้าที่ในการให้ค่าใช้จ่าย ดังนั้น เขาทั้งสอง จึงสมควรได้รับการขอบคุณแด่อัลลอฮ์ และการขอบคุณต่อพ่อแม่ทั้งสองของเขาจากลูก

คำสอนที่สาม

“และหากเขาทั้งสองมาเคี่ยวเข็ญบังคับเจ้า ให้ตั้งภาคีต่อเขาในสิ่งที่เจ้าไม่มีความรู้ในสิ่งนั้น เจ้าก็จงอย่าได้เชื่อฟังเขาทั้งสอง และจงคบหากับเขาทั้งสองในโลกนี้ด้วยดี และจงดำเนินตามหนทางของผู้ที่หวนกลับมาหาข้าหลังจากนั้น พวกเจ้าจะกลับมายังข้า แล้วข้าจะบอกพวกเจ้าถึงสิ่งที่พวกเจ้าได้กระทำไว้” (ลุกมาน : 15)

อิบนุ กะษี้ร ได้กล่าวไว้ ซึ่งมีข้อสรุปว่า

“คือ หากพวกเขาทั้งสอง พ่อ-แม่ พยายามอย่างที่สุด ในการที่จะให้พวกเจ้าดำเนินตามศาสนาของเขาทั้งสอง เจ้าก็อย่าได้รับเอาการนั้น และอันนั่นไม่เป็นสิ่งที่หักห้ามเจ้าไม่ให้คบหากับเขาทั้งสองในโลกนี้ด้วยดี คือ ให้ทำดีต่อเขาทั้งสอง และจงดำเนินตามหนทางของบรรดาผู้ศรัทธา”

ผู้เขียนเห็นว่า คำสอนของท่านนะบีมุฮัมมัด ต่อไปนี้กล่าวสนับสนุนไว้อย่างชัดเจนมากคือ

“ไม่มีการเชื่อฟังคนหนึ่งคนใด ในการฝ่าฝืนอัลลอฮ์ แท้ที่จริงการเชื่อฟังนั้น ให้เชื่อฟังในสิ่งที่ดีเท่านั้น” (บันทึกโดย บุคอรีย์ และ มุสลิม)

คำสอนที่สี่

“โอ้ ลูกของพ่อ หากว่ามัน (ความผิดนั้น) มีขนาดเท่าเม็ดพันธุ์ผักแล้วซ่อนตัวอยู่ในก้อนหิน หรืออยู่ในชั้นฟ้าต่างๆ หรืออยู่ในผืนแผ่นดิน อัลลอฮ์ ก็จะทรงนำเอามันมา แท้จริง อัลลอฮ์ เป็นผู้ทรงรอบรู้ เป็นผู้ทรงเชี่ยวชาญเสมอ” (ลุกมาน : 16)

อิบนุ กะษี้ร กล่าวว่า ความอธรรมหรือความผิด หากมันมีน้ำหนักเท่าเมล็ดพันธุ์ผัก อัลลอฮ์ ทรงเอามันมาในวันปรโลก ในขณะที่พระองค์ทรงนำตราชั่งที่มีความเที่ยงตรงมาชั่ง และพระองค์จะทรงตอบแทนหากมันเป็นสิ่งที่ดี ก็จะมีสิ่งที่ดีเป็นผลตอบแทน และหากมันเป็นสิ่งที่เลว ก็จะมีสิ่งที่เลวเป็นผลตอบแทน

คำสอนที่ห้า

“โอ้ ลูกของพ่อ เจ้าจงดำเนินการละหมาดเถิด” (ลุกมาน : 17)

ต้องปฏิบัติละหมาดโดยเคร่งครัดต่อกฎเกณฑ์ต่างๆ ของการละหมาดพร้อมกับมีความนอบน้อมในขณะทำการละหมาด

คำสอนที่หก

“และจงใช้ให้ทำความดี และจงห้ามปรามไม่ให้ทำความชั่ว” (ลุกมาน : 17)

โดยยึดความอ่อนโยนความอ่อนน้อม ไม่ใช้ความรุนแรงในการสั่งสอน

คำสอนที่เจ็ด

“และจงอดทนต่อสิ่งที่ได้มาประสบกับเจ้า” (ลุกมาน : 17)

ท่านนะบีมุฮัมมัดรู้ว่า ผู้ที่ใช้ให้ผู้อื่นทำความดี และห้ามไม่ให้ทำความชั่วนั้น จะมีสิ่งที่เป็นโทษมาประสบกับเขา ดังนั้น ท่านจึงใช้ให้เขามีความอดทน ท่านนะบีมุฮัมมัดได้กล่าวไว้ว่า

“ผู้ศรัทธาที่คบหาสมาคมผู้คลุกคลีกับผู้คนทั้งหลาย และอดทนต่อความเลวร้ายของพวกเขา ดีกว่าผู้ที่ศรัทธาที่ไม่คบหาสมาคมคลุกคลีกับผู้คนทั้งหลาย และไม่อดทนต่อความเลวร้ายของพวกเขา” (บันทึกโดย อิมามอะฮฺมัด และคนอื่นๆ)

“แท้จริง ดังกล่าวนั้นอยู่ในเรื่องที่มีความหนักแน่น” (ลุกมาน : 17)

คือ แท้จริง การอดทนต่อสิ่งเลวร้าย ที่เป็นอันตรายจากบรรดาผู้คนทั้งหลายนั้น อยู่ในเรื่องราวที่ต้องอาศัยความหนักแน่น

คำสอนที่แปด

“และเจ้าอย่าได้หันแก้มของเจ้าให้ผู้คนทั้งหลาย” (ลุกมาน : 18)

อิบนุ กะษี้ร อธิบายอายะฮ์นี้ว่า เจ้าอย่าเบือนหน้าไปทางอื่น ขณะที่สนทนาอยู่กับผู้คน หรือขณะที่ฟังผู้คนสนทนาอยู่กับเจ้า เพราะการทำเช่นนั้น ถือว่าไม่เป็นการให้เกียรติกับผู้ที่สนทนาอยู่ด้วย แต่ทว่า เจ้าจงแสดงความอ่อนน้อม และทำให้ใบหน้าของเจ้าเบิกบานแก่พวกเขา

ท่านนะบีมุฮัมมัดได้กล่าวไว้ว่า

“การที่ท่านมีใบหน้าที่ยิ้มแย้มให้แก่พี่น้องของท่าน ถือเป็นการทำบุญชนิดหนึ่ง” (บันทึกโดย ติรมิซีย์ และคนอื่นๆ เป็นฮะดีษ ซ่อฮี๊ฮฺ)

คำสอนที่เก้า

“และเจ้าอย่าได้เดินบนพื้นหน้าแผ่นดินด้วยความหยิ่งผยอง” (ลุกมาน : 18)

คือ มีความทรนง ดื้อรั้น อวดโต เจ้าอย่าได้ทำเช่นนั้น เพราะอัลลอฮ์จะทรงกริ้วเจ้า และด้วยเหตุนี้ อัลลอฮ์ทรงตรัสไว้ว่า

“แท้จริง อัลลอฮ์ไม่ทรงรักผู้อวดโต โอหังทุกคน” (ลุกมาน : 18 )

อิบนุ กะษี้รกล่าว คือ ทำตัวหยิ่งผยอง แสดงความยิ่งใหญ่เหนือกว่าผู้อื่น

คำสอนที่สิบ

“และเจ้าจงทำให้เกิดความพอดีในการเดินของเจ้า” (ลุกมาน : 19)

คือ จงเดินในลักษณะที่มีความพอดี ไม่ช้าเกินไป ไม่เร็วเกินไป คือ อยู่ในสายกลาง

คำสอนที่สิบเอ็ด

“และจงลดเสียงของเจ้า” (ลุกมาน : 19)

คืออย่าเกินเลยในคำพูด และอย่าใช้เสียงดังในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ด้วยเหตุนี้ อัลลอฮ์ ตรัสไว้ว่า

“ แท้จริง เสียงที่น่าเกลียดที่สุดนั้น คือเสียงของลา” (ลุกมาน : 19)

ท่านมุญาฮิดกล่าว่า เสียงที่น่าเกลียดที่สุดนั้น คือ เสียงลา เพราะฉะนั้นผู้ที่ใช้เสียงดังมาก ถือว่าเป็นเสียงที่น่าเกลียด เหมือนเสียงลาร้อง พร้อมกันนี้เขายังเป็นผู้ถูกอัลลอฮฺ เกลียดชังอีกด้วย และการเปรียบเทียบกับ ลา เป็นการตำหนิอย่างที่สุด เพราะว่า ท่านนะบีมุฮัมมัดได้กล่าวไว้ว่า

“ไม่รู้ว่าเราจะไปเปรียบกับความชั่วช้าอะไร (ถึงจะสาสมกับ) คนที่ให้สิ่งของผู้อื่นแล้วเอากลับคืน เสมือนกับสุนัขที่กินของที่สำรอกออกมากลับเข้าไปอีก” (บันทึกโดย บุคอรีย์)

“เมื่อท่านทั้งหลายได้ยินเสียงไก่ขัน ท่านทั้งหลายก็จงขอความโปรดปรานจากอัลลอฮฺเพราะว่าที่ไก่ขันนั้น เนื่องจากมันเห็นบรรดามลัก(มลาอิกะฮฺ) และเมื่อท่านทั้งหลายได้ยินเสียงลาร้อง ท่านทั้งหลายก็จงขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺให้พ้นจากชัยฏอน เพราะว่าที่ลาร้องนั้นก็เพราะมันเห็นชัยฏอนนั่นเอง”

(บันทึกโดย บุคอรีย์ และมุสลิม),(ดูตีฟซี้ร อิบนุ กะษี้ร เล่มที่ 3/446)

เขียนโดย อ. มุฮัมมัด ญะมี้ล ซัยนู

แปลโดย อ. มุฮัมมัด เหมอนุกุล