ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันพฤหัสบดี, 2 พฤษภาคม 2567

ความแตกต่างระหว่างการลงโทษและบททดสอบ

ความแตกต่างระหว่างการลงโทษและบททดสอบ

มุฮัมมัด ศอลิหฺ อัล มุนัจญิด

Fittree Al-Ashary แปลและเรียบเรียง

การลงโทษ คือสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อตอบแทนผู้ที่การกระทำความชั่วร้าย ในขณะที่บททดสอบ คือ สิ่งที่ส่งมาเพื่อทดสอบมนุษย์ ซึ่งมีทั้งบททดสอบในทางที่ดีและร้าย

อัลลอฮฺได้ตรัสในเรื่องของการลงโทษไว้ (ความ)ว่า: “ความดีใดๆ ที่ประสบแก่เจ้านั้นมาจากอัลลอฮฺ และความชั่วใดๆ ที่ประสบแก่เจ้านั้น มาจากตัวของเจ้าเอง…” [อัน-นิซาอฺ 79]

เมื่อพิจารณาวลีที่ว่า “มาจากตัวของเจ้าเอง” เกาะตาดะฮฺได้กล่าวไว้(ความ)ว่า: “การลงโทษนี้สำหรับเจ้า โอ้ ลูกหลานของอาดัมเอ๋ย เหตุเพราะความผิดบาปของเจ้า” อบูซอลิหฺ กล่าวว่า “ความชั่วใดๆ ที่ประสบแก่เจ้านั้นมาจากตัวของเจ้าเอง” คือ “เนื่องด้วยความผิดบาปของเจ้า ข้า (อัลลอฮฺ) เพียงผู้เดียวเท่านั้นที่ได้กำหนดมันไว้สำหรับเจ้า” (ตัฟซีร อิบนุกะษีร)

อัลลอฮฺได้ตรัสไว้อีกความว่า: “และเคราะห์กรรมอันใด ที่ประสบแก่พวกเจ้า ก็เนื่องด้วยน้ำมือของพวกเจ้า ได้ขวนขวายไว้ และพระองค์ทรงอภัย (ความผิดให้) มากต่อมากแล้ว” [อัซซูรอ 30]
อิบนุกะษีร (ขอพระองค์ทรงเมตตาท่าน) ได้กล่าวไว้(ความ)ว่า: “โอ้ มนุษย์เอ๋ย เคราะห์กรรมอันใดก็ตามที่ประสบแก่เจ้า ล้วนมาจากกรรมชั่วที่เจ้าได้ขวนขวายไว้ และ ‘พระองค์ทรงอภัย (ความผิดให้) มากต่อมากแล้ว’หมายถึง พระองค์มิได้ลงโทษพวกเขา แต่พระองค์ทรงอภัยในกรรมชั่วของพวกเขา ‘และหากอัลลอฮฺจะทรงเอาโทษมนุษย์ ตามที่พวกเขาได้ขวนขวายเอาไว้แล้ว พระองค์จะไม่ทรงให้เหลือสิ่งมีชีวิตใดๆ ไว้บนหน้าแผ่นดิน…’ [ฟาฏิร 45 ตัฟซีรความหมาย]”

ในประเด็นของบททดสอบ ท่านศาสนทูตมุหัมมัด (ขอความจำเริญและความสันติจงมีแด่ท่าน) กล่าวความว่า : “เมื่อ อัลลอฮฺทรงรักกลุ่มชนใด พระองค์จะทดสอบพวกเขา หลังจากนั้นบุคคลใดอดทน เขาก็จะได้รับผลบุญของความอดทน และบุคคลใดไม่อดทน เขาก็จะเศร้าโศกเสียใจ” (รายงานโดยอิหม่ามอะหมัด; ศอเฮียะฮฺ อัล-ญามิอฺ 1706)

ท่านศาสนทูตมุหัมมัด (ขอความจำเริญและความสันติจงมีแด่ท่าน) ยังกล่าวอีกความว่า : “รางวัล ที่ยิ่งใหญ่มาพร้อมกับบททดสอบที่ใหญ่ยิ่ง เมื่ออัลลอฮฺทรงรักมวลมนุษย์ อัลลอฮฺจะทรงทดสอบพวกเขา และผู้ใดก็ตามยอมรับมัน ย่อมได้รับความพึงพอพระทัยจากอัลลอฮฺ และผู้ใดก็ตาม ที่พร่ำบ่นต่อบททดสอบนั้น ย่อมได้รับความโกรธกริ้วจากพระองค์” (รายงานโดย อัตติรฺมิซียฺ 2320; ศอเฮียะฮฺ อัล-ญามิอฺ 2210)

จากที่กล่าวมาเป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้พิจารณาได้ว่าเหตุการณ์นั้นๆ เป็นการลงโทษหรือบททดสอบ:

หากเคราะห์กรรมนั้นเป็นผลมาจาก การเชื่อฟังอัลลอฮฺ เช่น บาดแผลจากการญิฮาด หรือทรัพย์สินสูญหายในระหว่างการอพยพสู่หนทางของอัลลอฮฺ หรือสูญเสียงานเพราะการเป็นมุสลิม หรือการกระทำใดๆ ที่เพิ่มความยึดมั่นในอิสลาม เช่นนั้นแล้วนี่คือบททดสอบ ผู้ใดก็ตามที่ยอมรับมัน ย่อมได้รับรางวัล และผู้ใดก็ตามที่พร่ำบ่นต่อบททดสอบนั้นย่อมได้รับความโกรธกริ้วจากอัลลอฮฺ และหากเคราะห์กรรมนั้นเป็นผลมาจากการกระทำที่ผิดบาป เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การป่วยไข้เนื่องจากการเสพสุราและสิ่งเสพติด เป็นต้น สิ่งเหล่านี่คือลักษณะของการลงโทษบน โลกนี้ (มากกว่าที่จะรอชำระบัญชีในโลกหน้า) ในกรณีที่เคราะห์กรรมไม่ได้เกี่ยวข้องกับความดีความชั่วที่ได้ก่อไว้ เช่น โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ  การสูญเสียบุตร หรือการล้มเหลวในธุรกิจ ทั้งหมดล้วนขึ้นอยู่กับสภาพการณ์ของแต่ละบุคคล หากเขาเป็นคนดีมีศรัทธา สิ่งนั้นคือบททดสอบ และหากเขาเป็นคนอธรรม สิ่งนั้นคือการลงโทษ

เคราะห์กรรมนี้ อาจเป็นการลงโทษเพื่อชำระบาป หรือ อาจเป็นบททดสอบที่มุ่งหมายเพื่อยกระดับผู้ศรัทธา และเพิ่มพูนฮาซานะฮฺ(การงานที่ดี หรือรางวัลตอบแทน) ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลนั้นเชื่อฟังหรือฝ่าฝืนอัลลอฮฺ มนุษย์ไม่ควรที่จะยกยอตนเอง แต่ควรที่จะวิพากษ์วิจารณ์ในข้อบกพร่องของตน และมุ่งมั่นที่จะบรรลุความสมบูรณ์แบบ เขาจะได้รับประโยชน์จากเคราะห์กรรมที่เกิดขึ้นในทุกกรณี ตราบใดที่เขาอดทนและหวังในการตอบแทนจากอัลลอฮฺ

www.fityah.com