วันเสาร์ 10 พฤษภาคม 2568
ติดตามเว็บไซต์
หน้าแรก > ความรู้อิสลาม > ทำไมอายุขัยประชาชาติของท่านนบีจึงสั้น?

ทำไมอายุขัยประชาชาติของท่านนบีจึงสั้น?

หมวดหมู่ : ความรู้อิสลาม เปิดอ่าน 934 ครั้ง

ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ วันนี้ช่วงบ่ายผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนและร่วมขอดุอา ( ละหมาด ) ให้กับพี่น้องของเราที่ถึงแก่อาญัล ( เสียชีวิต ) ย่านหนองจอก กรุงเทพมหานครฯ ซึ่งมีพี่น้องมุสลิมจากหลากหลายมัสยิดบริเวณโดยรอบมาร่วมในการละหมาดในครั้งนี้อย่างมากมาย ทำให้ญาติผู้เสียชีวิตนั้นรู้สึกปลาบปลื้มและคลายความโศกเศร้าลงได้ เพราะถ้าพระองค์อัลลอฮฺ ( ซบ. ) ทรงตอบรับดุอา ( คำขอพร ) ของคนหนึ่งคนใดแล้ว แน่นอนมัยยิตในวันนี้ย่อมได้รับความเอ็นดูเมตตา อีกทั้งได้รับการอภัยโทษจากพระองค์อัลลอฮฺ ( ซบ. ) อย่างแน่นอน

หลายท่านอาจจะมีคำถามในใจว่า อิสลามสนับสนุนให้ไปเยี่ยมพี่น้องที่เสียชีวิตด้วยหรือ ??? และเราจะได้รับอะไรบ้างจากการได้ไปเยี่ยมและร่วมละหมาดขอพรให้กับพี่น้องของเราที่ล่วงลับ ??? ถ้าเราได้ศึกษาซุนนะฮ์ของท่านนบี ( ซ.ล. ) เราก็จะพบว่าคำตอบทั้งหมดท่านศาสดามูฮัมหมัด ( ซ.ล. ) ได้ตอบคำถามเหล่านั้นเอาไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว

เราลองมาศึกษาอัลหะดีษบทหนึ่งซึ่งรายงานจากท่านอะบีฮุรอยเราะฮฺ ( ร.ฏ ) ที่เล่าว่าครั้งหนึ่งท่านร่อซู้ล ( ซ.ล. ) ได้กล่าวว่า

                عن أَبي هُريرةَ رضيَ اللَّهُ عنه قال : قال رسول اللَّهِ صَلّى اللهُ عَلَيْهِ وسَلَّم : مَنْ شَهِدَ الجنَازَةَ حَتَّى يُصَلَّي عَلَيها فَلَهُ قِيرَاطٌ ، وَمَنْ شَهدَهَا حَتَّى تُدْفَنَ فَلَهُ قِيراطَانِ »قيلَ وما القيراطَانِ ؟ قال : « مِثْلُ الجَبلَيْنِ العَظِيمَيْنِ » متفقٌ عليه .

                ความว่า ” ใครที่ได้ติดตามญ่านาซะฮ์ไปจนกระทั่งได้ทำการละหมาดให้กับญ่านาซะฮ์นั้นจนเสร็จ เขาจะได้รับผลบุญจากการกระทำดังกล่าว 1 กีรอฏ และบุคลใดก็ตามที่ได้ติดตามญ่านาซะฮ์นั้นไปจนกระทั่งฝังเสร็จเรียบร้อย เขาจะได้ผลบุญจากการกระทำดังกล่าว 2 กีรอฏ มีผู้ถามขึ้นมาว่า อะไรคือ 2 กีรอฏ ท่านนบีกล่าวตอบว่า 2 กีรอฏนั้นเทียบเท่าภูเขาลูกใหญ่ๆ 2 ลูก ”    

muslim-days-56a6170b5f9b58b7d0dfd893

            นอกจากนั้นแล้วยังมีรายงานอีกว่า ท่านร่อซู้ล ( ซ.ล. ) ได้กล่าวว่า ” บุคคลใดก็ตามที่ได้ออกจากบ้านไปพร้อมกับญ่านาซะฮ์ ต่อมาเขาได้ละหมาดขอดุอาให้กับญ่านาซะฮ์นั้น พร้อมทั้งติดตามญ่านาซะฮ์นั้นไปจนกระทั่งฝังเสร็จเรียบร้อย เขาจะได้รับผลบุญ 2 กีรอฏ ทุกๆกีรอฏนั้นมีจำนวนมากเท่าภูเขาอุฮุด และใครที่ละหมาดเสร็จแล้วเดินทางกลับโดยไม่ได้อยู่ร่วมพิธีฝังศพจนเสร็จเขาจะได้รับผลบุญเท่ากับภูเขาอุฮุด 1 ลูก ”

ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ จะเห็นได้ว่าการไปเยี่ยมมัยยิตที่บ้าน หลังจากนั้นติดตามมัยยิตออกจากบ้านไปตามถนนหนทางจนกระทั่งไปถึงมัสยิดเพื่อทำการละหมาดให้กับศพ และอยู่ร่วมพิธีฝังศพจนกระทั่งเสร็จสิ้นนั้นเป็นภาพที่เราเห็นอยู่เป็นประจำในสังคมมุสลิมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เพราะเรามีบทบัญญัติอันเดียวกัน มีรายงานจากท่านอะบูฮุรอยเราะฮ์ ( ร.ฏ. ) กล่าวเพิ่มเติมว่า ครั้งหนึ่งท่านร่อซู้ล ( ซ.ล. ) ได้กล่าวว่า

عَنْ أَبِي هُرَيْرَةَ رضي الله عنه أَنَّ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ : ” مَنْ اتَّبَعَ جَنَازَةَ مُسْلِمٍ إِيمَانًا وَاحْتِسَابًا وَكَانَ مَعَهُ حَتَّى يُصَلَّى عَلَيْهَا وَيَفْرُغَ مِنْ دَفْنِهَا فَإِنَّه يَرْجِعُ مِنْ الأَجْرِ بِقِيرَاطَيْنِ ”

ความว่า ” บุคคลใดก็ตามที่ได้ออกติดตามศพของพี่น้องมุสลิมของเขาไปโดยมีศรัทธาและหวังในความดีจากพระองค์อัลลอฮฺ ( ซบ. ) และเขาก็อยู่ร่วมพิธีละหมาดและฝังศพจนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์ ดังนั้นเขาจะกลับบ้านในสภาพที่ได้รับความดีถึง 2 กีรอฏ ”

ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจจะเคยได้ศึกษา หรือได้อ่านเรื่องราวของคนยุคก่อนจากหน้าประวัติศาสตร์ต่างๆ และพบว่าคนยุคก่อนนั้นอายุยืนหลายร้อยปี แต่พอเรามาศึกษาอายุขัยของประชาชาติของท่านศาสดามูฮัมหมัด ( ซ.ล. ) เราพบว่าอายุขัยของพวกเรานั้นสั้น ส่วนใหญ่จะมีอายุขัยประมาณ 60 ปี ถึง 70 ปี เท่านั้น ซึ่งถ้าจะเทียบกับประชาชาติก่อนๆถือว่าน้อยมาก มีรายงานจากท่านอะบูฮุรอยเราะฮ์ ( ร.ฏ. ) ว่า แท้จริงท่านร่อซู้ล ( ซ.ล. ) ได้กล่าวว่า

عن أبي هريرة عن رسول الله صلى الله عليه وسلم أنه قال : ” أعمارُ أُمَّتي ما بين الستِّينَ إلى السبعينَ ، و أقلُّهم من يجوزُ ذلك ” .

ความว่า ” อายุขัยของประชาชาติของฉันนั้นอยู่ระหว่าง 60 ปี ถึง 70 ปีเท่านั้น และมีพวกเขาเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีจะอายุขัยเกินช่วงเวลาดังกล่าว ”

ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ การที่ประชาชาติของท่านนบี (ซ.ล.) มีอายุสั้นลงกว่าประชาชาติในอดีตนั้นปราชญ์มุสลิมหลายท่านได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจเป็นอย่างมาก  เช่นบางท่านมีความเห็นว่าที่เป็นเช่นนี้ก็เพื่อไม่ให้เราตกอยู่ในความลำพอง ยโสโอหัง ซึ่งถือได้ว่าเป็นความเมตตาจากพระองค์อัลลอฮฺ (ซบ.) อย่างแท้จริง เพราะชนชาติต่างๆในอดีตพวกเขามีอายุยืน ร่างกายใหญ่โต แต่พวกเขาหลงตัวเองอันนำไปสู่การโกรธกริ้วของพระองค์อัลลอฮฺ (ซบ.) อย่างมาก

นอกจากนั้นแล้วปราชญ์มุสลิมบางท่านยังได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า เพื่อทำให้การสอบสวนในวันอาคิเราะฮ์นั้นรวดเร็วขึ้น เพื่อพวกเขาจะได้เข้าสวรรค์อย่างไม่ล่าช้าและถูกประวิงเวลาเอาไว้  หรือไม่ก็เพื่อที่พวกเขาจะได้รีบเร่งขยันหมั่นเพียรในการทำความดีต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซบ.) อย่างไม่รอช้า หรือการที่ประชาชาตินี้อายุสั้นลง แต่พระองอัลลอฮฺ (ซบ.) ก็ทรงทดแทนผลบุญที่ทวีคูณให้เมื่อทำอิบาดะฮ์ต่อพระองค์ตรงกับโอกาสและช่วงเวลาต่างๆ เช่น การทำความดีที่ตรงกับค่ำคืนอัลกอดรฺในเดือนรอมฏอนที่ประเสริฐกว่า 1000 เดือน การถือศีลอดในวันอะรอฟะฮ์ การทำความดีในทุกๆวันศุกร์ การอ่านคัมภีร์อัลกุรอานที่ได้รับผลบุญอักษรละ 10 ความดี เป็นต้น

ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ เมื่อเราพูดถึงประเด็นเรื่องอายุขัยของมนุษย์เรา หลายท่านอาจตั้งคำถามในใจว่า ” เราจะขอดุอาให้เรามีอายุยืนยาวได้ หรือไม่ ??? ” ปราชญ์มุสลิมส่วนใหญ่ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า สามารถกระทำได้ไม่มีข้อห้ามแต่ประการใด แต่ที่ดีแล้วให้จำกัดด้วยว่าเพื่ออะไร เช่น ขอพระองค์ทรงดลบันดาลให้ข้าพระองค์มีอายุยืนยาวนานเพื่อที่ข้าพระองค์จะได้มีโอกาสทำอิบาดะฮ์ต่อพระองค์ต่อไป เป็นต้น ส่วนหลักฐานที่ยืนยันในเรื่องนี้นั้น ท่านอะนัส (ร.ฏ) ได้เล่าว่า

عن أنس رضي الله عنه قال : “كان النبي صلى الله عليه وسلم يدخل علينا أهل البيت ، فدخل يوما فدعا لنا فقالت أم سليم : خويدمك ألا تدعو له ؟ قال : ” اللهم أكثر ماله وولده وأطل حياته واغفر له ” .

ความว่า ” ครั้งหนึ่งท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) ได้เข้ามาหาพวกเรา ในวันหนึ่ง ท่านได้ขอดุอาให้กับพวกเราทุกคน ทันใดนั้นอุมมุซุลัยมฺได้กล่าวถามขึ้นว่า แล้วคนรับใช้ตัวน้อยของท่านล่ะ ท่านจะไม่ขอดุอาให้กับเขาหรือ ??? ท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) ตอบว่า โอ้พระองค์อัลลอฮฺขอให้เขามีทรัพย์สินและลูกหลานที่มากมาย อีกทั้งมีอายุที่ยืนยาว และขอพระองค์ทรงอภัยโทษให้แก่เขาด้วยเถิด ”

indonesia-muslims-getty_custom-f6df86e061ef12f90431cd28e3c192e9f099884b-s900-c85

หลายท่านถามถึงสาเหตุที่ทำให้อายุยืนยาว จากการศึกษาตัวบทจากอัลหะดีษหลายบท พบว่ามีหลายสาเหตุที่ทำให้อายุยืนยาว เช่น การติดต่อสัมพันธ์กับเครือญาติ โดยเฉพาะการทำดีต่อพ่อแม่ซึ่งถือได้ว่าเป็นเครือญาติที่ใกล้ชิดที่สุด เราลองมาศึกษาอัลหะดีษที่รายงานจากท่านอะนัส บุตรมาลิกและท่านอะบูฮุรอยเราะฮ์ (ร.ฏ.) ได้เล่าว่า แท้จริงท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า

عن أنس بن مالك و أبي هريرة أن رسول الله صلى الله عليه وسلم قال : ” مَن سرَّهُ أن يُبسطَ لَه في رزقِهِ ، وأن يُنسَأَ لَه في أثرِهِ ، فَليصل رَحِمَهُ ” .

ความว่า ” บุคคลใดก็ตามที่มีความปราถนาที่จะมีริสกีที่กว้างขวางและอายุที่ยืนยาว เขาจงติดต่อสัมพันธ์กับเครือญาติเถิด ”

นอกจากนั้นแล้วยังมีรายงานจากท่านเษาบาน ( ร.ฏ.) ได้เล่าว่า ท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า

عن ثوبان مولى رسول الله صلى الله عليه وسلم رفعه إلى النبي صلى الله عليه وسلم قال : ” لا يرد القدر إلا الدعاء ولا يزيد في العمر إلا البر وإن العبد ليحرم الرزق بالذنب يصيبه ” .

ความว่า ” ไม่มีสิ่งใดเปี่ยนแปลงก้อดัรได้เว้นแต่ดุอา และไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้อายุยืนยาวได้เว้นแต่การทำดีต่อพ่อแม่ แท้จริงบ่าวคนหนึ่งเขาจะขาดริสกีด้วยบาปที่มาประสบกับเขา ”

ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ การติดต่อสัมพันธ์กับเครือญาติ การมีมารยาทที่ดี การทำดีต่อเพื่อนบ้านล้วนแล้วแต่เป็นการสรรค์สร้างสังคมให้เข้มแข็งและเป็นสาเหตุทำให้เรามีอายุที่ยืนยาวขึ้นตามที่ท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.) ได้บอกกับพวกเราเอาไว้ว่า

عن عائشة أم المؤمنين أن النبي صلى الله عليه وسلم قال لها : ” صِلَةُ الرَّحِمِ ، و حُسنُ الخُلُقِ ، و حُسنُ الجِوارِ ، يُعَمِّرْنَ الدِّيارَ ، و يَزِدْنَ في الأعمارِ ”

ความว่า ” การติดต่อสัมพันธ์กับเครือญาติ การมีมารยาทที่งดงาม และการทำดีต่อเพื่อนบ้านนั้น จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงของครอบครัว และทำให้อายุยืนยาวอีกด้วย ”

ท้ายที่สุดนี้ผู้เขียนอยากบอกกับท่านผู้อ่านทุกๆท่านว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมันดำเนินไปตามพระประสงค์ของพระองค์อัลลอฮฺ (ซบ.) อย่างเป็นระบบ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่มีสาเหตุ และมีที่มาที่ไปของมันทั้งสิ้น ไม่มีใครรู้ถึงสิ่งเร้นลับเหล่านั้นนอกจากพระองค์อัลลอฮ์ ( ซบ.) แต่เพียงผู้เดียว

ขอขอบคุณ ดร. สมชาย ( ฮัสบุ้ลเลาะหฺ ) เซ็มมี อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาอาหรับ ภาควิชาภาษาไทย และภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงขอขอบคุณ ดร. สมชาย ( ฮัสบุ้ลเลาะหฺ ) เซ็มมี
อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาอาหรับ ภาควิชาภาษาไทย
และภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

 

เปิดอ่าน 934 ครั้ง

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " ทำไมอายุขัยประชาชาติของท่านนบีจึงสั้น? "

ปิดการแสดงความคิดเห็น