ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันศุกร์, 3 พฤษภาคม 2567

พม่าประกาศพร้อมอ้าแขนรับผู้อพยพโรฮิงญากลับจากบังกลาเทศ


รอยเตอร์ – พม่าบอกกับสำนักงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติในวันจันทร์(2ต.ค.) ว่าเป้าหมายสูงสุดของพวกเขาคือการนำพาชาวโรฮิงญาที่หลบหนีไปยังบังกลาเทศ กลับสู่ประเทศ แต่ยอมรับมีงานให้ทำอีกมากในการคืนเสถียรภาพแก่รัฐยะไข่

บังกลาเทศและพม่าเห็นพ้องกันในวันจันทร์(2ต.ค.) ในการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อวางแผนส่งผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมโรฮิงญาราว 5 แสนคน ที่หลบหนีการปราบปรามของกองทัพไปยังบังกลาเทศ กลับสู่พม่า จากการเปิดเผยของกระทรวงการต่างประเทศ

Win Myat Aye รัฐมนตรีกระทรวงสวัสดิการสังคม การช่วยเหลือ และการตั้งถิ่นฐานใหม่ กล่าวกับคณะกรรมาธิการพิเศษของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หลังจาก ฟิลิปโป กรันดิ ผู้อำนวยการสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสิทธิและความเป็นพลเมืองของชาวโรฮิงญา

“เป้าหมายลำดับต่อไปของเราในทันทีคือนำผู้อพยพที่หลบหนีไปยังบังกลาเทศกลับประเทศ” Win Myat Aye บอกกับที่ประชุมในเจนีวา “กระบวนการส่งกลับประเทศ สามารถเริ่มต้นได้ทุกเมื่อสำหรับผู้ที่ปรารถนากลับสู่พม่า การตรวจสอบผู้ลี้ภัยจะขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างรัฐบาลพม่าและบังกลาเทศที่ทำไว้เมื่อปี 1993” เขาเผยต่อว่า “ผู้ที่ได้รับการตรวจสอบว่าเป็นผู้ลี้ภัยจากประเทศนี้ จะได้รับการต้อนรับโดยปราศจากปัญหาใดๆและจะได้รับประกันความปลอดภัยและเข้าถึงเกียรติภูมิความเป็นมนุษย์อย่างเต็มที่”

สถานะของชาวโรฮิงญายังคงเป็นปัญหาที่ไม่คลี่คลายในพม่า โดยพวกเขาถูกปฏิเสธความเป็นพลเมืองและถูกจัดให้เป็นคนต่างด้าวผิดกฎหมาย แม้มีคำกล่าวอ้างย้อนกลับไปหลายศตวรรษก่อนว่าพวกเขามีรากเหง้าในพม่า

การไหลบ่าของชาวโรฮิงญาสู่บังกลาเทศ มีขึ้นตามหลังเหตุปะทะในรัฐยะไข่ระลอกล่าสุด อันเป็นส่วนหนึ่งของสถานการณ์ความไม่สงบที่ปะทุขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว เมื่อกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาเข้าโจมตีกองกำลังความมั่นคงของพม่าหลายครั้ง นำไปสู่การกวาดล้างครั้งใหญ่ที่ยูเอ็นชี้ว่าอาจเป็นการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ขณะที่นักสิทธิมนุษยชนกล่าวหาว่ากองทัพพม่าละเมิดสิทธิของชาวมุสลิมโรฮิงญาอย่างร้ายแรง โดยมีทั้งการเข่นฆ่าสังหาร การข่มขืน การเผาบ้านเรือนและอาคารอื่นๆ นับพันหลัง

Win Myat Aye กล่าวหาว่าพวกองค์การก่อการร้ายเป็นผู้ลงมือโจมตีป้อมตำรวจพร้อมกันหลายสิบจุดเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พร้อมระบุว่ามุมมองด้านมนุษยธรรมและการจัดการกับสถานการณ์จำเป็นต้องพิจารณาในด้านความมั่นคงและทางการเมืองด้วย

“แม้สถานการณ์ด้านความมั่นคงในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจะดีขึ้นและไม่มีการปะทะด้วยอาวุธมาตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน แต่มีหลายอย่างจำเป็นต้องทำเพื่อรวบรวมเสถียรภาพในพื้นที่” เขากล่าว “แนวทางปฏิบัติโดยให้สิทธิพิเศษแก่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทั้งในแง่มอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมหรือคอยแก้ต่างผ่านสื่อมวลชน รังแต่จะทำให้ความรู้สึกของคนกลุ่มอื่นๆแย่ลง” เขากล่าว

ที่มาของเนื้อหา:mgronline.com