ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันพฤหัสบดี, 2 พฤษภาคม 2567

อึ้งไปตามๆ กัน! บีบีซีแฉอดีตหน.ทีมยูเอ็นพม่า รู้เห็น-ปกปิดเหตุฆ่าโรฮิงยา

เมื่อ 29 ก.ย. บีบีซีรายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนเปิดโปงการปกปิดข้อเท็จจริงในพม่า พบเรื่องที่น่าตกตะลึงว่า อดีตทีมงานสหประชาชาติประจำประเทศ (ยูเอ็นซีที) ในพม่า รู้เห็นเรื่องที่กองทัพพม่ากวาดล้างชาติพันธุ์ชาวโรฮิงยา ตั้งแต่ 4 ปีก่อน แต่กลับไม่ดำเนินการใดๆ เพื่อป้องกัน ทั้งยังกีดกันหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนเข้าไปตรวจสอบด้วย

แหล่งข่าวในองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) รวมถึงหน่วยงานความช่วยเหลือด้านสิทธิทนุษยชนทั้งในและนอกพม่า เปิดเผยว่า น.ส.เรนาตา ล็อก-เดสซัลเลียน เป็นหัวหน้ายูเอ็นซีที ในช่วงเวลาดังกล่าว และเพิ่งออกจากตำแหน่งเมื่อเดือนมิ.ย.ปีนี้ มีความใกล้ชิดและสนับสนุนทางการพม่า

ทหารพม่าคุมเมืองหม่องดอว์ในยะไข่ เมื่อ 27 ก.ย.2560  / AFP PHOTO / STR

เมื่อปี 2555 ที่เกิดวิกฤตปราบปรามชาวโรฮิงยาในรัฐยะไข่ มีผู้เสียชีวิต 100 ราย และอพยพไปตั้งค่ายอยู่นอกเมืองซิตตเว 100,000 คนนั้น น.ส.ล็อก-เดสซัลเลียนใช้อำนาจหน้าที่พยายามยับยั้งไม่ให้นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนเดินทางไปยังรัฐยะไข่

ภาพนี้เป็นเหตุการณ์เมื่อปี 2555 / Human Rights Watch

อีกทั้งยังพยายามปิดสำนักงานทนายความและสำนักงานช่วยเหลือทางกฎหมายที่ทำงานเกี่ยวข้องกับกรณีชาวโรฮิงยา และใช้นโยบายโดดเดี่ยวเจ้าหน้าที่ของยูเอ็นซีทีที่พยายามเตือนว่าจะมีการกวาดล้างทางชาติพันธุ์

ชาวโรฮิงยาฝังหมู่ญาติๆ ที่เสียชีวิตในค่ายใกล้ค็อกซ์ บาซาร์ / REUTERS/Damir Sagolj

การเปิดโปงนี้อยู่ในช่วงวิกฤตชาวโรฮิงยาหนีภัยทะลักออกจากรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของพม่าไปพักพิงที่ค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศแล้วกว่า 500,000 คน นับจากเหตุกองกำลังติดอาวุธโรฮิงยาบุกโจมตีด่านตำรวจเมื่อวันที่ 25 ส.ค. นำไปสู่การประหัตประหารจนมีผู้เสียชีวิตมากถึง 1,000 รายนั้น

เมื่อข่าวนี้ปรากฏออกไป สหประชาชาติแสดงท่าทีว่าไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการค้นพบข้อมูลดังกล่าวนี้

นางแคโรไลน์ แวนเดนาบีล อดีตหัวหน้าหน่วยงานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของยูเอ็นในพม่า กล่าวว่าเคยเห็นบรรยากาศเป็นสัญญาณเตือนในลักษณะเดียวกันนี้ เมื่อครั้งทำงานที่รวันดา ซึ่งต่อมาเกิดเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งใหญ่ในปี 2536-2537

สภาพชุมชนชาวโรฮิงยาในหม่องดอว์ถูกเผาทำลาย เมื่อ 27 ก.ย.2560 REUTERS/Soe Zeya Tun

“ฉันเคยพูดถึงประเด็นชาวโรฮิงยาในรัฐยะไข่ กับกลุ่มชาวต่างชาติที่อาศัยในพม่า และกลุ่มนักธุรกิจพม่า จู่ๆ ชาวพม่าคนหนึ่งพูดขึ้นว่าเราควรฆ่าพวกเขาเหมือนกับพวกเขาเป็นแค่สุนัข” นางแวนเดนาบีลกล่าว และว่าพฤติกรรมไร้ซึ่งมนุษยธรรมในระดับนี้ถือเป็นสัญญาณที่ชี้ชัดว่าสังคมพม่ายอมรับว่าการฆ่าชาวโรฮิงยาเป็นเรื่องธรรมดา

ที่มาของเนื้อหา : www.khaosod.co.th