ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันพุธ, 8 พฤษภาคม 2567

องค์การนิรโทษฯ จี้ “ไทย” หยุดผลักไส “โรฮิงญา” วอนทำตัวเป็นแบบอย่างในภูมิภาค


รอยเตอร์ – องค์การนิรโทษกรรมสากล (เอไอ) เรียกร้องทางการไทยหยุดผลักไสชาวโรฮิงญาออกสู่ทะเล ท่ามกลางความหวั่นวิตกว่าคลื่นผู้ลี้ภัยที่ไหลทะลักออกจากพม่าอาจจะก่อให้เกิดวิกฤตผู้อพยพทางเรืออีกครั้ง

เหตุรุนแรงล่าสุดปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 25 ส.ค. หลังกลุ่มก่อการร้ายเบงกาลีหัวรุนแรงในรัฐยะไข่ (ARSA) เข้าโจมตีค่ายตำรวจและทหารหลายสิบแห่ง นำมาสู่ปฏิบัติการปราบปรามของกองทัพพม่าซึ่งทำให้มุสลิมโรฮิงญาเกือบครึ่งล้านต้องอพยพหนีตายไปยังบังกลาเทศ ขณะที่นักสิทธิมนุษยชนแสดงความเป็นห่วงว่าคนเหล่านี้อาจตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์

ชาวโรฮิงญาซึ่งถูกรัฐบาลพม่าปฏิเสธสถานะพลเมืองตกเป็นเหยื่อเหตุความไม่สงบกับชาวพุทธมานานหลายสิบปี และมักใช้ไทยเป็นเส้นทางเชื่อมต่อไปยังประเทศที่สาม จนกระทั่งเมื่อ 2015 ที่ทางการไทยเริ่มมีมาตรการปราบปรามอย่างจริงจัง ทำให้เรือของชาวโรฮิงญาจำนวนมากถูกทอดทิ้งอยู่กลางทะเล

“ประเทศไทยควรแสดงตนเป็นแบบอย่างในภูมิภาค ด้วยการกำหนดนโยบายให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัย” ออเดรย์ โกราน ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายงานวิจัยของเอไอให้สัมภาษณ์วันนี้ (28 ก.ย.) ขณะที่องค์กรของเธอเผยรายงานกล่าวหารัฐบาลไทยว่าล้มเหลวในการปกป้องผู้ลี้ภัย

“แทนที่จะขับไล่ไสส่งผู้คนที่ถูกกดขี่ข่มเหงอย่างยากจะจินตนาการได้ รัฐบาลไทยควรเปิดช่องทางให้คนเหล่านี้มีโอกาสขอรับความคุ้มครองจากนานาชาติ”

นักเคลื่อนไหวคาดการณ์ว่า ชาวโรฮิงญาจะเริ่มล่องเรืออพยพอีกครั้งในช่วงปลายเดือน พ.ย. หลังผ่านพ้นฤดูมรสุมไปแล้ว เนื่องจากเป็นช่วงที่คลื่นลมสงบ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนที่แล้วว่า รัฐบาลได้เตรียมมาตรการรองรับชาวโรฮิงญาที่หนีความรุนแรงมาจากพม่า และจะส่งพวกเขากลับไป “เมื่อพวกเขาพร้อม”

อย่างไรก็ตาม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้ระบุผ่านสื่อเมื่อไม่นานมานี้ว่า จะยังคงสกัดกั้นไม่ให้ผู้ลี้ภัยเหล่านี้เข้ามาในไทย และปฏิเสธที่จะชี้แจงข้อซักถามใดๆ

องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน ฟอร์ตีฟาย ไรต์ส (Fortify Rights) ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกในสัปดาห์นี้ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติมาตรการ “ผลักดันออก” ต่อชาวโรฮิงญา

“ผู้นำรัฐบาลไทยควรทำทุกวิถีทางเพื่อยับยั้งเหตุรุนแรงในพม่า และปกป้องผู้ลี้ภัยที่หลบหนีการกวาดล้าง” เอมี สมิธ ผู้อำนวยการบริหาร ฟอร์ตีฟาย ไรต์ส ระบุ

ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ และไม่นับว่าชาวโรฮิงญาเป็นแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย

ที่มาของเนื้อหา:mgronline.com