ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันพุธ, 15 พฤษภาคม 2567

ตัวอย่างที่ดี! “หมอแว” แต่งลูกสาว สุดเรียบง่าย! สินสอดเพียงหนึ่งหมื่น-ไม่รับซอง

เมื่อวันที่ 24 กันยายน นายแพทย์แวมาฮาดี แวดาโอะ อดีต ส.ว. และ ส.ส. นราธิวาส ได้จัดพิธีนิกะห์บุตรสาว กับลูกชายของ นายสมพร สุมาลี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสาเมาะ จ.นราธิวาส โดยพิธีจัดขึ้นอย่างเรียบง่ายที่มัสยิดหลังละหมาดซุบฮิ ในงานหมอแวได้คุตบะห์นิกะห์ด้วยตนเอง ระบุว่า :

“วันนี้ข้าพเจ้านิกะห์ลูกสาว ในเวลาหลังซุบฮีเพื่อให้มุมินมาเป็นพยาน เพราะเวลานี้ไม่มีมุนาฟิก ข้าพเจ้าตั้งสินสอดหนึ่งหมื่นบาท เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่เจ้าบ่าว ริซกีเป็นของอัลลอฮพระองค์จะทรงประทาน แก่คู่บ่าวสาวที่มีการแต่งงานด้วยความบารอกัติ วันนี้มีการเลี้ยงข้าวไม่มีการรับซองพี่น้องอยู่ไกลไม่ต้องมาแค่ช่วยดุอาให้พอ”

นับเป็นงานแต่งงานที่เรียบง่าย และเป็นตัวอย่างที่ดีของชาวมุสลิม เพราะปัจจุบันพ่อแม่ฝ่ายหญิงมักจะเรียกค่าสินสอดที่เกินความพอดี เพื่อการโอ้อวด จนบางครั้งฝ่ายเจ้าบ่าวต้องยอมแพ้พร้อมท่องประโยคยอดฮิตว่า “รักแท้แพ้มะฮัร” ด้วยความตรอมใจ และจะกลายเป็นต้นเหตุที่ทำให้การแต่งงานเป็นเรื่องยาก และการซินาเป็นเรื่องง่าย
ทั้งนี้ทางมุสลิมไทยโพสต์ ขอดุอาร์และอวยพรว่า บารอกัลลอฮ ฮูลากูมา วาบารอกา อาลัยกา วาญามาอา บัยนากูมาฟี ฆอย
ความว่า: “ขออัลเลาะห์ทรงประทานความสิริมงคลแด่ท่าน และทรงประทานสิริมงคลเหนือท่าน ตลอดจนระหว่างท่านทั้งสองในคุณงามความดี”

ที่มา:  
Abunufai Yee Maha , mtoday.co.th

——————————————————————————–

มะฮัร (ค่าสินสอด)

อิสลามได้กำหนดเงื่อนไขที่ทำให้การแต่งงานใช้ได้หรือไม่ ด้วยการที่เจ้าบ่าวต้องจ่ายมะฮัร(ค่าสินสอด) แก่เจ้าสาว แม้ว่าฝ่ายเจ้าสาวจะยินยอมแต่งโดยไม่คิดค่าสินสอดก็ตาม ดังที่อัลกุรอานกล่าวว่า

“พวกเจ้าจงมอบปัจจัยทานเป็นของขวัญแก่เหล่าสตรีเถิด”
(อันนิสาอฺ : 4)

มะฮัร(สินสอด)ถือเป็นของขวัญและสินน้ำใจที่ฝ่ายชายมอบให้ฝ่ายหญิงด้วยความเต็มใจ เป็นข้อผูกพันที่สานสายใยแห่งความรักและความเข้าใจกัน
มะฮัรจึงไม่ใช่ค่าตัวในการประเมินราคาของสินค้า “ผู้หญิง”จึงมิใช่สินค้าที่ผู้ปกครองสามารถตั้งราคาค่าตัวเพื่อซื้อขายกัน ถ้าค่าตัวสูงกลับกลายเป็นว่าสินค้านั้นต้องดี แต่ถ้าค่าตัวถูกสินค้าที่ได้อาจไม่ใช่ของดี การมอบในลักษณะนี้ถือเป็นการดูถูกศักดิ์ศรีของสตรี  เพราะของแพงอาจไม่ดีอย่างที่คิดไว้ก็ได้ อิสลามจึงไม่กำหนดค่าสินสอด แต่ได้มอบหมายให้กับความพร้อมของฝ่ายชายและความสบายใจของฝ่ายหญิง ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของแต่ละสังคมที่แตกต่างกันไป

“นะบีมูฮัมมัด ได้กล่าวแก่ชายคนหนึ่งที่ต้องการแต่งงานกับสตรีนางหนึ่งว่า
จงหาค่ามะฮัรถึงแม้จะเป็นแหวนเหล็กเพียงวงหนึ่งก็ตาม แต่ชายคนนั้นไม่สามารถหาได้เช่นเดียวกัน
ท่านนะบี จึงแต่งงานด้วยการให้ชายคนนั้นสอนบางซูเราะฮ์ในอัลกุรอานให่แก่สตรีที่จะแต่งงานด้วย”
(รายงานโดยอัลบุคอรีย์/5135)
อัลกุรอานได้กล่าวถึงเรื่องราวในอดีตที่นะบีชูอัยบ์ได้ยกลูกสาวให้แต่งงานกับนะบีมูซาโดยตั้งเงื่อนไขว่า ให้นะบีมูซา ทำงานเป็นลูกจ้างเป็นเวลา 8 ปีเพื่อเป็นค่าตอบแทนในการแต่งงานในครั้งนี้ ซึ่ง นะบีมูซา ได้เพิ่มอีก 2 ปี รวมเป็น 10 ปี (ดูอัลกุรอาน ซูเราะฮ์อัลเกาะศ็อศ/23-28) การทำงานโดยไม่คิดค่าจ้างในครั้งนี้ หากประเมินเป็นตัวเลขแล้วเป็นจำนวนที่มากมาย แต่ไม่ใช่เป็นหลักฐานเพื่อนำจะมาปฏิบัติ อย่างน้อยเพื่อเป็นบทเรียนว่าการกำหนดค่าสินสอดระหว่างแหวนเหล็กเพียงหนึ่งวง หรือการสอนอัลกุรอาน กับการเป็นลูกจ้างเป็นระยะเวลาถึง 10 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับธรรมเนียมประเพณีที่ปฏิบัติกันในสังคม และในแต่ละยุค แต่ละเหตุการณ์

ปัญหาที่ต้องแก้ไขในปัจจุบันอย่างเร่งด่วน คือ สินสอด(มะฮัร)ที่มีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ และได้เกิดค่านิยมวัตถุในสังคมมุสลิม ซึ่งพ่อแม่ฝ่ายหญิงมักจะเรียกค่าสินสอดที่เกินความพอดี เพื่อการโอ้อวด จนบางครั้งฝ่ายเจ้าบ่าวต้องยอมแพ้พร้อมท่องประโยคยอดฮิตว่า “รักแท้แพ้มะฮัร” ด้วยความตรอมใจ

สังคมมุสลิมต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นและต้องเป็นผู้ที่แก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะหากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไข จะกลายเป็นต้นเหตุที่ทำให้การแต่งงานเป็นเรื่องยาก และการซินาเป็นเรื่องง่าย
(ขออัลลอฮ์ทรงคุ้มครอง)

จากหนังสือ “แต่งงานง่าย  ซินายาก”
โดย  อ.มัสลัน  มาหะมะ

 

ที่มาของเนื้อหา : news.muslimthaipost.com