ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันพุธ, 15 พฤษภาคม 2567

โรฮิงยาถูกลบออกจากแผนที่พม่าแล้ว – ซูจีจะรับคืนผู้อพยพจริงหรือ?

(AP Photo, File)

สำนักข่าวเอพีเผยแพร่รายงานสรุปสถานการณ์โรฮิงยาล่าสุด เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ว่า ชาวมุสลิมโรฮิงยาที่เคยเรียกประเทศพม่าว่าเป็นบ้าน ดูเหมือนว่าจะถูกกวาดล้างอย่างเป็นระบบออกจากแผนที่แล้ว หลังกองกำลังติดอาวุธโจมตีด่านตำรวจเมื่อวันที่ 25 ส.ค. จากนั้นกองกำลังทหารพร้อมด้วยม็อบสนับสนุนก็ไล่เผาบ้านเรือนชาวโรฮิงยา

ในจำนวนชาวโรฮิงยามากกว่า 5 แสนคนในรัฐยะไข่ตอนนี้ กว่าครึ่งอพยพหนีไปยังบังกลาเทศ ส่วนหนึ่งหนีไปตั้งแต่ปีก่อนและเกือบทั้งหมดเพิ่งหนีไปในช่วง 3 สัปดาห์มานี้ และตอนนี้ก็ยังทยอยหลั่งไหลออกไป นั่งเรือไม้ข้ามแม่น้ำไปอยู่ค่ายผู้อพยพที่เฉอะแฉะในฤดูมรสุมที่บังกลาเทศ

บ้านเรือนในฝั่งรัฐยะไข่ของพม่าถูกเผา เมื่อมองจากเมืองค็อกซ์บาซาร์ของบังกลาเทศ เมื่อ 3 ก.ย.(AP Photo/Bernat Armangue, File)

ชะตากรรมอันน่าสลดนี้ เลขาธิการสหประชาชาติ นายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เรียกว่าเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์ แม้ว่านางออง ซาน ซู จี จะแถลงเมื่อวันอังคารที่ 19 ก.ย. ว่ายินดีจะรับผู้อพยพกลับตามกระบวนการตรวจสอบ แต่ก็เชื่อกันว่าคงจะมีน้อยนิดที่ได้กลับไป

“นี่คือวิกฤตที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของโรฮิงยา กองกำลังความมั่นคงไล่เผาหมู่บ้านทีละแห่ง อย่างเป็นระบบ แล้วมันก็ยังคงเดินหน้าอยู่” คริส เลวา ผู้ก่อตั้งอาระกัน โปรเจกต์ กลุ่มพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของชาวโรฮิงยา กล่าว

หนูน้อยโรฮิงยาอายุ 2 วันเสียชีวิตในค่ายที่กูตูปาลอง บังกลาเทศ เมื่อ 8 ก.ย. (AP Photo/Bernat Armangue, File)

เลวาและสมาชิกในองค์กรใช้เครือข่ายตามเก็บข้อมูลหมู่บ้านที่ถูกไล่เผาใน 3 เมืองของรัฐยะไข่ ที่ครั้งหนึ่งชาวโรฮิงยาเคยเป็นประชากรส่วนใหญ่ในรัฐแห่งนี้จากจำนวนประชากรในพม่า 1.1 ล้านคน แต่การเก็บข้อมูลนี้เป็นไปได้ยากมาก เพราะทหารปิดกั้นเข้าไปในพื้นที่ ภาพจากดาวเทียมของกลุ่มฮิวแมนไรต์วอตช์แสดงให้เห็นพื้นที่ที่ถูกเผาทำลายถึง 214 หมู่บ้าน

ตำรวจพม่าเข้าทางเข้าหมู่บ้านชเวซาร์ ในเมืองหม่องดอว์ เมื่อ 6 ก.ย. (AP Photo, File)

อาระกัน โปรเจกต์ระบุว่า หมู่บ้านเกือบทุกแห่งในเมืองหม่องดอว์ถูกเผาทำลาย และแทบจะถูกทิ้งร้างทั้งหมด ส่วนในเมืองยะเตเตา ซึ่งอยู่ขึ้นไปทางเหนือ มีหมู่บ้านชาวโรฮิงยาอยู่ 16 แห่ง ในจำนวนนี้ 8 แห่งตกเป็นเป้าหมาย นอกจากนี้ ค่ายที่ตั้งของชาวโรฮิงยาที่หนีภัยจลาจลเมื่อ 5 ปีก่อนก็ถูกเผาด้วย

หมู่บ้านกอตู ซารา ในยะไข่ ยังถูกเผาเมื่อวันที่ 7 ก.ย. (AP Photo, File)

ส่วนที่เมืองปูตีต่อง ฝั่งตะวันออก เป็นส่วนที่ยังเหลือรอดมากที่สุด มีเพียงเมืองเดียวที่ปฏิบัติการความมั่นคงเข้าไปถึงพื้นที่ที่กองกำลังโรฮิงยาบุกโจมตี เพราะสภาพภูมิศาสตร์ที่มีเทือกเขากั้น ทำให้ทางประวัติศาสตร์แล้วที่นี่มีความตึงเครียดน้อยกว่าที่อื่นๆ

ในถ้อยแถลงล่าสุดของนางซู จีที่ว่า รัฐบาลจะเข้าไปดูปัญหาว่าเหตุใดชาวโรฮิงยาจึงไม่ละเว้นในบางพื้นที่ กลายเป็นวาทะที่ชาวโรฮิงยาไม่พอใจมาก เพราะเหมือนกับโยนความผิดไปให้กองกำลังติดอาวุธของโรฮิงยา ในขณะที่ไม่แตะฝ่ายกองทัพพม่าเลย

นางซู จี แถลงท่าทีต่อวิกฤตโรฮิงยาที่กรุงเนปิดอว์ เมื่อ 19 ก.ย. (AP Photo)

แม้ว่าชาวโรฮิงยาตั้งรกรากอยู่ในยะไข่มาหลายชั่วคนแล้ว แต่กลับถูกริบสิทธิความเป็นพลเมืองตั้งแต่ปี 2525 ไม่ให้มีสิทธิใดๆ และกลายเป็นคนไร้รัฐ ไม่สามารถเดินทางไปไหนโดยเสรีได้ ไม่มีโอกาสปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา ไม่สามารถไปเป็นครูหรือหมอ ได้รับสวัสดิการยาและการศึกษาเพียงน้อยนิด เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่สหประชาชาติระบุว่าถูกข่มเหงมากที่สุดในโลก

นายอับดุล คารีม ชาวโรฮิงยา อุ้มแม่อพยพข้ามแดนเข้ามาที่เมืองเทกนาฟ ของบังกลาเทศ. (AP Photo/Dar Yasin, File)

“ตอนนี้เราไม่มีแม้กระทั่งเงินจะซื้อผ้าพลาสติกมาทำที่พักพิง หัวใจของเราร่ำร้องอยากกลับบ้าน ทั้งที่พ่อของปู่ตาเราเกิดในพม่าแท้ๆ ” นายเคฟาเยต อุลเลาะห์ ผู้อพยพอายุ 32 ปีกล่าวพร้อมร้องไห้น้ำตาอาบแก้ม

สถานการณ์โรฮิงยาในพม่าจะปิดฉากลงหรือไม่ยังคงต้องรอดูต่อไป ริชาร์ด ฮอร์สซีย์ นักวิเคราะห์การเมืองในนครย่างกุ้งมองว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่างรัฐบาลบังกลาเทศและพม่าว่าจะค่อยๆ รับชาวโรฮิงยากลับไปหรือไม่ และจะจำกัดการทำลายล้างอย่างไร

“เรายังคงต้องรอดูภาพทั้งหมดว่ามีหมู่บ้านที่ถูกไล่ให้ร้างกับหมู่บ้านที่ถูกเผาทำลายไปมากมายเพียงใด” นายฮอร์สซีย์กล่าว

ที่มาของเนื้อหา : www.khaosod.co.th