ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันพุธ, 15 พฤษภาคม 2567

ซูจีเปิดปากแถลงโทษการละเมิดสิทธิต้นต่อปัญหายะไข่ ไม่แตะปฎิบัติการของทหาร

นางอองซานซูจี ผู้นำพม่า เปิดปากพูดถึงปัญหาโรฮิงญา กล่าวโทษการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ ระบุว่าผู้ใดก็ตามที่รับผิดชอบการละเมิดเหล่านั้นจะต้องเผชิญกับกระบวนการทางกฎหมาย อ้างเสียใจอย่างลึกซึ้งต่อความทุกข์ทรมานของผู้คนที่เผชิญกับความขัดแย้ง

ในการกล่าวแถลงเป็นครั้งแรกต่อประชาชน นับตั้งแต่เริ่มต้นปฎิบัติการกวาดล้างชาติพันธุ์ที่เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม จนทำให้ชาวโรฮิงญามากกว่า 410,000 คน ต้องอพยพหลบหนีตายไปบังกลาเทศ ซูจีกล่าวว่าพม่าไม่ได้กลัวการตรวจสอบระหว่างประเทศ และมุ่งมุ่นที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างยั่งยืน

สหประชาชาติระบุว่าปฏิบัติการทางทหารในรัฐยะไข่เป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์ ซึ่งซูจีไม่ได้กล่าวถึงข้อกล่าวหานี้ แต่ระบุว่ารัฐบาลของนาง ประณามการละเมิดสิทธิ และผู้ที่ก่อเหตุละเมิดสิทธิเหล่านั้นควรเผชิญกับกฎหมาย

“เราประณามต่อทุกการละเมิดสิทธิมนุษยชน และความรุนแรงที่มิชอบด้วยกฎหมาย เรามุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูสันติภาพและความมั่นคง และหลักนิติธรรมทั่วทั้งรัฐ การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการกระทำอื่นๆ ทั้งหมดที่บ่อนทำลายเสถียรภาพและความสามัคคี รวมทั้งหลักนิติธรรม จะถูกจัดการตามกฎหมายและความยุติธรรมอย่างเข้มงวด เรารู้สึกเสียใจอย่างลึกซึ้งสำหรับความทุกข์ทรมานของผู้คนทั้งหมดที่ติดอยู่ในความขัดแย้ง” ซูจี กล่าวในการแถลงที่กรุงเนปีดอ

ในการแถลงซูจีไม่ได้แสดงความเห็นถึงปฏิบัติการทางทหารแต่อย่างใด โดยระบุเพียงว่า นับตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน(10 วันหลังการปฎิบัติการทางทหารเริ่มขึ้น) ไม่มีการปะทะและปฏิบัติการกวาดล้างเกิดขึ้น

“ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เรารู้สึกวิตกกังวลที่ได้ทราบว่ามีชาวมุสลิมจำนวนมากหลบหนีข้ามแดนไปบังกลาเทศ เราต้องการตรวจสอบว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการอพยพ” ซูจี กล่าว

ในการกล่าวแถลงผ่านทางโทรทัศน์เป็นเวลา 30 นาทีในวันอังคาร (19) ซูจียังกล่าวว่าความเกลียดชัง และความหวาดกลัวเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งหายนะสำหรับโลกของเรา

“เราไม่ต้องการให้พม่ากลายเป็นชาติ ที่แตกแยกเพราะความเชื่อทางศาสนาหรือเชื้อชาติ เราทุกคนล้วนมีสิทธิตามอัตลักษณ์ที่หลากหลายของพวกเรา”

พร้อมกล่าวเสริมว่า รัฐบาลของเธอได้พยายามทุกวิถีทาง ที่จะฟื้นฟูสันติภาพและความมั่นคง และส่งเสริมความสามัคคีระหว่างชุมชนชาวมุสลิมและชาวพุทธยะไข่

ผู้ตรวจสอบสิทธิมนุษยชนและโรฮิงญาที่หลบหนีกล่าวว่า กองทัพและชาวพุทธยะไข่เป็นผู้ก่อเหตุวางเพลิง ที่มุ่งเป้าขับไล่ชาวโรฮิงญาออกจากพื้นที่ ซึ่งทางการพม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยระบุว่ากองกำลังรักษาความมั่นคงกำลังดำเนินการปฏิบัติการปราบปรามผู้ก่อการร้าย ของกองทัพกอบกู้โรฮิงญาแห่งรัฐอระกัน (ARSA) ที่อ้างความรับผิดชอบต่อเหตุโจมตีในวันที่ 25 สิงหาคม และเหตุโจมตีที่เล็กกว่าอีกครั้งหนึ่งในเดือนตุลาคม

รัฐบาลพม่าประกาศว่า ARSA เป็นกลุ่มก่อการร้าย และกล่าวหาว่ากลุ่มก่อการร้ายนี้เป็นผู้ก่อเหตุวางเพลิงและโจมตีพลเรือน

นักการทูตตะวันตกและเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือบรรเทาทุกร์ที่เข้าร่วมการกล่าว แถลงต่างยินดีกับท่าทีของซูจีครั้งนี้ แม้มีบางส่วนสงสัยว่าการแถลงของซูจีนั้น มากพอที่จะยุติการวิพากษ์วิจารณ์จากทั่วโลกได้หรือไม่ ด้วยไม่มีใครทราบว่าแท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่ แม้ซูจีอ้างถึงความประสงค์ในสันติภาพและยืนยันว่าไม่มีปฏิบัติการกวาดล้างทางทหารเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน

ซูจีกล่าวว่ารัฐบาลของนางมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามคำแนะนำของทีมที่ปรึกษา ภายใต้การนำของนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งคณะกรรมการของอันนัน ได้สรุปคำแนะนำส่งมอบให้กับรัฐบาลพม่าเพียง 2 วันก่อนปฎิบติการทางทหารระรอกล่าสุดจะเกิดขึ้น โดยบางส่วนจากข้อเสนอคือการให้รัฐบาลพม่าเร่งกระบวนการการตรวจสอบการเป็นพลเมือง และการทบทวนกฎหมายการเป็นพลเมืองต่อชาวโรฮิงญา รวมถึงข้อเสนอเร่งด่วนก่อนหน้านี้ในการให้พม่าปิดค่ายลี้ภัยที่ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2555 จากความรุนแรงครั้งนั้น เพื่อเปิดทางให้ชาวโรฮิงญากว่าแสนคนในค่ายได้กลับบ้านของพวกเขา

ในส่วนของการเดินทางกลับของเหล่าผู้ลี้ภัย ซูจีอ้างว่าพม่าพร้อมที่จะเริ่มต้นกระบวนการตรวจสอบทุกเมื่อ

“ผู้ที่ได้รับการตรวจสอบว่าเป็นผู้ลี้ภัยจากประเทศนี้จะได้รับการยอมรับโดยไม่มีปัญหาใดๆ และรับประกันอย่างเต็มที่ถึงความปลอดภัยและการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม” ซูจี กล่าว

ก่อนหน้านี้ มีผู้ลี้ภัยเพียงไม่กี่คนที่สามารถเดินทางกลับพม่าได้ ภายใต้กระบวนการตรวจสอบที่ซับซ้อนและยาวนานของรัฐบาลพม่า

ซูจียังเรียกร้องต่อประชาคมโลกให้สนับสนุนความพยายามของเธอที่จะยุติความขัดแย้งกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ และสนับสนุนสันติภาพทั่วทั้งประเทศด้วย

ที่มาของเนื้อหา : i-newsmedia.net