ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันพฤหัสบดี, 16 พฤษภาคม 2567

กรรมการสิทธิฯ จี้ ศอ.บต.สอบปมชู้สาวให้ชัด แฉชายแดนใต้เรื่องฉาวเพียบ!

 

แม้หนังสือชี้แจงของข้าราชการระดับสูง ศอ.บต.ที่ถูกกล่าวหาว่า มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมเชิงชู้สาว จะอ้างว่าทาง ศอ.บต.ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องที่มีการร้องเรียนเป็นการภายในแล้วตั้งแต่เดือน มิ.ย.60 ก่อนที่จะตกเป็นข่าวทางสื่อมวลชน จนสรุปผลออกมาว่าข้อกล่าวหา “ไม่มีมูล”

 

กรรมการสิทธิฯ จี้ ศอ.บต.สอบปมชู้สาวให้ชัด แฉชายแดนใต้เรื่องฉาวเพียบ!

แต่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อย่าง อังคณา นีละไพจิตร ก็ได้ออกมาเรียกร้องให้ ศอ.บต.ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ชัดเจนมากกว่านี้ ไม่ควรรีบด่วนปฏิเสธ ขณะที่ข้าราชการหญิงที่อ้างว่าเป็นผู้เสียหาย ก็สามารถมาร้องเรียนได้ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งทาง กสม.พร้อมจะปกปิดชื่อผู้ร้องเรียนและพยานเป็นความลับ 

อังคณา บอกว่า ในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาในฐานะกรรมการสิทธิฯ และรับหน้าที่ดูแลเรื่องสิทธิผู้หญิงและเพศสภาพ ได้รับเรื่องร้องเรียนหลายกรณี มีเรื่องเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศในการทำงาน ตั้งแต่การข่มขืน การลวนลาม การล่วงละเมิดด้วยวิธีการทั้งใช้วาจา หรือว่าการกระทำ

“เรื่องแบบนี้มีมาอย่างต่อเนื่อง และกรรมการสิทธิฯเองได้เคยออกรายงานไปแล้ว 2-3 รายงานเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน และเคยมีโอกาสได้เข้าไปพบกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว) และหยิบยกประเด็นความห่วงใย”


อังคณา บอกต่อว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย.58 ให้กระทรวงมหาดไทยจัดทำ “มาตรการป้องกันการคุกคามทางเพศในการทำงาน” และให้เผยแพร่ไปยังทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวง ทบวง กรม เพื่อให้ทราบ และเพื่อให้ผู้หญิง ข้าราชการหญิง และเจ้าหน้าที่ทั้งหลายทั้งภาครัฐและเอกชน มีมาตรการป้องกันเรื่องการคุกคามทางเพศในการทำงาน รวมถึงจะต้องเผยแพร่และให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ และพนักงานราชการทั้งหลาย ได้เข้าใจและเคารพสิทธิ์ของผู้หญิง

ทั้งนี้ มาตรการป้องกันการคุกคามทางเพศในการทำงาน ไม่ได้หมายถึงเรื่องของการป้องกันการข่มขืนเพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมทั้งเรื่องของการคุกคามโดยใช้วาจา หรือแม้แต่สายตา

“มาตรการเหล่านี้ทางมหาดไทยทำไว้ดีมากๆ แต่ปัญหาที่กรรมการสิทธิฯพบก็คือ ไม่ว่าเราจะไปพบเจ้าหน้าที่หน่วยงานไหน ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่หญิงในหน่วยงานนั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีมาตรการนี้อยู่ ในขณะที่เจ้าหน้าที่ชายเองก็ไม่รู้เช่นกันว่ามีมาตรการนี้ออกมา ทั้งๆ ที่เป็นมติ ครม.และมีหนังสือเวียนจากกระทรวงมหาดไทย”


อังคณา ซึ่งเคยทำงานด้านเข้าถึงสิทธิและกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในนามมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ บอกอีกว่า จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้ลงไปทำงานในพื้นที่ เคยได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศจากผู้หญิงที่ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานราชการหลายราย ตั้งแต่น้อยไปมาก เช่น มีการโอบกอด การใช้คำพูดแทะโลม การล่วงละเมิดในเนื้อตัวร่างกาย จนถึงขั้นข่มขืน

“ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่เป็นมุสลิม เราเคยได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีหนึ่ง คือผู้ร้องถูกข่มขืน และหลังจากนั้นก็ถูกบังคับให้แต่งงาน คือไม่ได้ร้องเรียนมาเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ก็ได้มาเล่าให้ฟังว่าถูกข่มขืน ถูกผู้บังคับบัญชากระทำในระหว่างที่ไปปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดใกล้เคียง เมื่อถูกข่มขืน ต่อมาก็ถูกบังคับแต่งงาน และเลยมาถึงการถูกทำร้าย คือเรื่องของการทำร้ายในครอบครัว ความรุนแรงในครอบครัว จนสุดท้ายต้องขอหย่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และเกิดขึ้นต่อเนื่องมาโดยตลอด แม้รัฐบาลและมหาดไทยได้พยายามหาทางป้องกัน แต่ว่าในทางปฏิบัติ มาตรการนี้ยังไม่ถูกให้ความสำคัญเท่าที่ควร”


“ตามมาตรการที่ประกาศออกมา ถ้าเป็นข้าราชการพลเรือน ก็ร้องที่สำนักงาน ก.พ. (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) ถ้าไม่ใช่ข้าราชการ ก็ร้องได้ทุกหน่วยงาน รวมถึงกรรมการสิทธิฯ ผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยเฉพาะกรรมการสิทธิฯฯ ถ้าร้องเรียนมา เราก็สามารถปกปิดชื่อ ที่อยู่ ไม่เปิดเผยที่อยู่ของผู้เสียหาย กรรมการสิทธิฯ สามารถขอการคุ้มครองพยานให้ได้รับความปลอดภัยได้ด้วย ซึ่งส่วนตัวได้ตรวจสอบไป ก็มีหลายเรื่องด้วยกัน เรียนตรงๆ ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะมันหมายถึงสิทธิของผู้หญิง เป็นศักดิ์ศรีของผู้หญิงด้วย”

เมื่อถามถึงข่าวร้องเรียนการคุกคามทางเพศที่ ศอ.บต. แต่ผู้บริหารหน่วยงานออกมายืนยันว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล และอ้างว่าได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเป็นการภายในแล้วนั้น ประเด็นนี้ อังคณา บอกว่า ศอ.บต.เป็นองค์กรราชการขนาดใหญ่ เป็นองค์กรที่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาก ดังนั้นจึงไม่อยากให้ด่วนสรุป

“เมื่อเกิดการร้องเรียนการล่วงละเมิดทางเพศในการทำงาน เบื้องต้นเราไม่อยากให้ทางเจ้าหน้าที่ระดับสูงออกมาปฏิเสธทันทีว่าไม่มี แต่อยากจะให้มีการตรวจสอบอย่างรอบคอบและระมัดระวัง ที่สำคัญก็คือควรจะให้ความคุ้มครองกับผู้เสียหาย หรือเหยื่อ ในฐานะที่เป็นพยาน เพราะว่าในฐานะกรรมการสิทธิฯ เราเคยไปจัดอบรมความรู้ให้กับผู้หญิงชายแดนใต้เรื่องการเข้าถึงความยุติธรรม ก็ได้รับร้องเรียนด้วยวาจา มีข้าราชการหญิงที่ทำงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตกเป็นเหยื่อของการถูกล่วงละเมิดทางเพศจำนวนไม่น้อย”

“เพราะฉะนั้นก็อยากจะขอให้ ศอ.บต.อย่าด่วนสรุป อยากจะขอให้ตรวจสอบเรื่องนี้โดยคิดถึงเรื่องสิทธิมุษยชนของผู้หญิงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าเรื่องนี้ถ้าไม่มีมูลความจริงคงไม่มีผู้หญิงคนไหนอยากจะออกมาร้องเรียน”


ท้ายที่สุด อังคณา ฝากไปถึงผู้เสียหายที่ออกมาร้องเรียนว่า หากกังวลหรือกลัวจะไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องมาทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ ซึ่งกรรมการสิทธิฯ ก็สามารถตรวจสอบเรื่องนี้ และสามารถปกปิดชื่อของผู้เสียหายให้เป็นความลับได้

นอกจากให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ทีมข่าวอิศรา” แล้ว อังคณายังโพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว แสดงความเห็นต่อเรื่องร้องเรียนที่เกิดขึ้นใน ศอ.บต.ว่า ในฐานะ กสม. (กรรมการสิทธิฯ) ได้รับการร้องเรียนว่า หลังจากที่ข่าวเกี่ยวกับปมชู้สาวใน ศอ.บต.เผยแพร่ออกไป ได้มีการเรียกประชุมข้าราชการ พนักงานราชการ เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างที่เป็นหญิงทั้งหมด เพื่อกดดันให้เปิดเผยตัวผู้ให้ข้อมูลเรื่องการคุกคามทางเพศใน ศอ.บต.จนเรื่องเผยแพร่ออกไป มีความพยายามกดดันหาตัวผู้บันทึกภาพการประชุม ซึ่งสร้างความหวาดกลัวให้กับเจ้าหน้าที่และข้าราชการหญิงเป็นอย่างมาก

“แทนที่จะกดดันให้ผู้เสียหาย หรือพยานเปิดเผยตัวอย่างที่ทำอยู่ ศอ.บต.ควรให้ความคุ้มครองผู้เสียหาย และตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และไม่ควรสร้างความหวาดกลัวแก่เจ้าหน้าที่หญิงมากกว่า ที่สำคัญปัญหาการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นเรื่องศักดิ์ศรี และสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง ซึ่งทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญ” เป็นข้อความที่ อังคณา เขียนในเฟซบุ๊ค

ทั้งนี้ อังคณา ยังใส่แฮชแท็ค เป็นข้อความว่า “ยืนเคียงข้างผู้หญิงทุกคนที่เป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศ” และ “เสียใจที่องค์กรสิทธิมนุษยชนและองค์กรผู้หญิงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เงียบกันหมด”

 

 

ที่มา:  www.isranews.org

 

ที่มาของเนื้อหา : news.muslimthaipost.com