
ยานอวกาศ แคสสินี เริ่มภารกิจสุดท้ายก่อนที่มันจะทำลายตัวเองแล้ว โดยโคจรเข้าใกล้ดาวเสาร์ในระยะใกล้ที่สุดที่เคยเกิดขึ้น เพื่อสำรวจชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ดวงนี้…
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ยานอวกาศ ‘แคสสินี’ เข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายในภารกิจสำรวจอวกาศของมันแล้วเมื่อวันจันทร์ เมื่อโคจรรอบดาวยักษ์ดวงนี้ในระยะใกล้มาก เป็นครั้งแรกจาก 5 ครั้งตามแผนการ เพื่อตรวจสอบชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ดวงนี้ ก่อนที่มันจะพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ และถูกทำลายในเดือนหน้า
ก่อนหน้านี้ แคสสินีโคจรเป็นวงในพื้นที่ระหว่างชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์ และวงแหวนของมัน และเมื่อเวลา 04.22 น. วันจันทร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ตามเวลามาตรฐานสากล มันก็ได้เคลื่อนแฉลบเข้าใกล้ดาวเสาร์มากที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นมา โดยอยู่ห่างจากเมฆชั้นบนสุดของดาวยักษ์ดวงนี้เพียง 1,600 กม.เท่านั้น ทำให้มันสามารถตรวจสอบตัวอย่างแก๊สที่กระจายอยู่ในบรรยากาศชั้นบนได้โดยตรง
ทั้งนี้ การแฉลบเข้าใกล้ดาวเสาร์ของยานแคสสินี จะเกิดแรงดึงให้มันเข้าหาดวงดาว ทำให้มันต้องใช้ไอพ่นในการรักษาโครงสร้างการบินให้เสถียร และหยุดไม่ให้ตัวมันเองตกลงไป แต่นักวิทยาศาสตร์คาดหวังว่า ยานแคสสินีจะสามารถเข้าใกล้ดาวเสาร์ได้มากกว่านี้ในการโคจรผ่านอีก 4 ครั้งที่เหลือ ก่อนที่มันจะตกลงสู่ดาวเสาร์ ในวันที่ 15 กันยายน
ภารกิจของยานแคสสินี อาจสามารถช่วยตอบคำถามหลายๆ อย่างของนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับดาวเคราะห์ยักษ์ดวงนี้ เช่น ในบรรยากาศของมันมีอะไรเป็นองค์ประกอบบ้าง โดยความเชื่อในปัจจุบันคือ เป็นไฮโดรเจนประมาณ 75% ส่วนที่เหลือคือ ฮีเลียม นอกจากนี้ ยังอาจสามารถให้คำตอบได้ว่า 1 วันของดาวเสาร์มีระยะเวลาเท่าใด โดยนักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า มีประมาณ 10 ชั่วโมงกับอีกราว 30 นาที
อนึ่ง โปรเจกต์แคสสินี เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานอวกาศของสหรัฐฯ, ยุโรป และอิตาลี โดยพวกเขาเตรียมยุติภารกิจ ซึ่งดำเนินมานานกว่า 20 ปีนี้ เนื่องจากเชื้อเพลิงของยานใกล้จะหมดลง และอีกไม่นานจะไม่สามารถควบคุมยานได้อีก และการที่พวกเขาเลือกให้ยานลำนี้ทำลายตัวเองด้วยการพุ่งเข้าใส่ชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์ ก็เพื่อไม่ให้มันชนเข้ากับดวงจันทร์ ไททัน และ เอนเซลาดัส ที่อาจมีสภาพเหมาะสมที่จะมีสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " ยาน ‘แคสสินี’ เข้าใกล้ดาวเสาร์มากสุดในประวัติศาสตร์-เริ่มสำรวจบรรยากาศ "