ที่มามติชนรายวันผู้เขียนมนต์ทิพย์ ธานะสุขเผยแพร่วันที่ 9 สิงหาคม 2560การเบิกถอนเงินในบัญชีธนาคารของชาวลิเบียในขณะนี้ ว่ากันว่ามันยากเย็นแสนเข็ญยิ่ง ผู้คนต้องเข้าคิวรอต่อแถวนานเป็นหลายชั่วโมงหรือหลายวันกันเลยทีเดียว ถึงจะถอนเอาเงินออกมาจากธนาคารได้ เรียกว่าสถานการณ์ในลิเบียตอนนี้กำลังตกอยู่ในวิกฤตขาดแคลนเงินสดในมืออย่างหนัก

ภาวะที่เกิดขึ้นต้องย้อนผลสืบเนื่องไปนับจากลิเบียเจอฤทธิ์โดมิโนของปรากฏการณ์อาหรับสปริงในช่วงปี ค.ศ.2011 ที่จุดการลุกฮือก่อความไม่สงบรุนแรงขึ้นทั่วประเทศ นำไปสู่สงครามกลางเมืองและการล่มสลายของระบบปกครอง “พ.อ.โมอามาร์ กาดาฟี” อดีตผู้นำเผด็จการลิเบีย ซึ่งยังฉุดรั้งสถาบันสำคัญต่างๆ ของลิเบียให้ดำดิ่งสู่วิกฤตไร้เสถียรภาพ หนึ่งในนั้นมีธนาคารกลาง เสาหลักทางการเงินของลิเบียรวมอยู่ด้วย

คลื่นสงครามกลางเมืองลูกที่ 2 ที่ครอบงำลิเบียช่วงปี 2014 ทำให้เกิดรัฐบาล 2 ชุดช่วงชิงอำนาจกันปกครองลิเบีย ฝ่ายหนึ่งยึดหัวหาดทางตะวันออก อีกฝ่ายยึดกุมพื้นที่ตะวันตก ภาวการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ลิเบียตกอยู่ในสภาพเป็ดง่อย เศรษฐกิจชะงักงัน เกิดเงินเฟ้อผันผวนหนัก และนำมาสู่วิกฤตขาดแคลนเงินสด มนุษย์เงินเดือนต้องรอเข้าคิวกันแน่นที่ธนาคารเพื่อที่จะถอนเงินไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ใครทนรอไหว ก็ได้เงินสดมา ถ้าเงินสดไม่หมดเสียก่อน ใครรอไม่ไหว ถอดใจ ก็กลับบ้านไป

วิกฤตที่เกิดขึ้นสั่นคลอนความเชื่อมั่นของชาวลิเบียที่มีต่อสถาบันการเงินในประเทศ ที่หลายครั้งมีข่าวลือว่าทางธนาคารขนเงินสดมาตามธนาคารสาขา ทำให้ประชาชนมารอเพื่อเบิกถอนเงินกันจำนวนมาก โดยที่ไม่มีเครื่องการันตีว่าเงินสดจะมีเพียงพอมาถึงมือพวกเขาหรือไม่

ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ในลิเบียเริ่มนำระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนเงินสดในมือของลูกค้า ซึ่งระบบของแต่ละธนาคารก็ต่างกันไป อย่างระบบ “Edfali” หรือ “เพย์มี” ของแบงก์ ออฟ คอมเมิร์ซ แอนด์ เดเวลอปเมนต์(บีซีดี) และ “โมบีแคช” ของวาห์ดะแบงก์ ที่ต่างเป็นระบบที่ให้ลูกค้าใช้จ่ายเงินซื้อสินค้า ค่าอาหาร ซื้อยา ค่ารักษาในโรงพยาบาล หรือชำระเงินค่าใช้จ่ายหรือค่าบริการอื่นๆ ได้ ด้วยระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์นี้ โดยเงินในบัญชีธนาคารของลูกค้าจะถูกโอนจากธนาคารเข้าสู่บัญชีของผู้ค้าหรือผู้ประกอบการรายนั้นๆ ที่เป็นผู้ขายสินค้าหรือให้บริการโดยตรง เมื่อการโอนชำระเงินเสร็จสิ้น ทางธนาคารก็จะส่งเอสเอ็มเอสแจ้งยืนยันการชำระเงินดังกล่าวให้ลูกค้ารับทราบทันที

แม้ระบบนี้จะช่วยแก้ปัญหาขาดเงินสดในมือได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็มีผู้ใช้หลายคนที่ไม่ได้พึงใจ โดยชี้ว่าระบบนี้ทำให้พวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องของราคา เพราะแม้จะได้รับการบอกกล่าวว่าราคาสินค้าจะเท่ากับราคาในการจ่ายด้วยเงินสดก็ตาม แต่เมื่อต้องชำระเงินผ่านระบบนี้ ราคาที่ต้องจ่ายจริงๆ กลับพุ่งพรวดสูงถึง 40%

อย่างไรก็ดี ทางธนาคารผู้ให้บริการได้แจ้งให้ลูกค้ารายงานปัญหานี้เข้ามา หากพบว่าราคาสินค้าที่จะจ่ายในระบบนี้สูงกว่าราคาจริง

เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องหาทางอุดทางแก้กันไปในท่ามกลางสภาวะไม่ปกติของบ้านเมือง ที่อะไรๆ ก็ยากจะควบคุมให้อยู่ในกฎกติกา

ที่มาของเนื้อหา : www.matichon.co.th