ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันเสาร์, 27 เมษายน 2567

นักสิทธิ จชต.เผย สตรีถูกสามีทำร้าย ทุบตี และหาว่าไม่เชื่อฟัง ไปขอหย่าแต่กลับโดนถามแล้วแต่งทำไม?

SOUTH : นักสิทธิ จชต.เผย สตรีถูกสามีทำร้าย ทุบตี และหาว่าไม่เชื่อฟัง ไปขอหย่าแต่กลับโดนถามแล้วแต่งทำไม? วอนผู้ไกล่เกลี่ยมองหลายๆด้าน อย่าพูดทำร้ายผู้หญิง

อัญชนา หีมมิหน๊ะ อดีตอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจังหวัดชายแดนใต้และผู้ก่อตั้งกลุ่มด้วยใจ โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟสบุ๊คส่วนตัว…ว่าด้วยเรื่องการหย่าของผู้หญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้

คนที่ 1 ขอหย่าเพราะสามีกล่าวหาว่า เธอไม่เชื่อฟังสามี เธอกลัวบาปจึงขอหย่าเพื่อจะได้ไม่ต้องรับบาปที่สามีพูดว่าเธอไม่เชื่อฟัง นอกเหนือไปจากนี้ คือสามีไม่ส่งเสียเลี้ยงดูเธอ กรณีนี้ คือความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดจากการละเลย เพิกเฉย ไม่สนใจ ใส่ใจ

คนที่ 2 สามีเป็นมูอัลลัฟ ภรรยาขอหย่าเพราะถูกทำร้ายร่างกายจนเกือบเสียชีวิตเพราะสามีเมา สามีก็กล่าวหาว่าเธอไม่เชื่อฟังเช่นกัน กรณีนี้อิหม่ามให้กลับไปแก้ไขและอยู่ด้วยกันอีก แต่เธอกลัวสามี จะไปคุกคามเธอที่ทำงานและระหว่างทางกลับบ้าน อันนี้เป็นความรุนแรงในครอบครัวทางร่างกายและจิตใจ

เมื่อเข้าไปสู่ระบบขอหย่าในศาสนาอิสลามผู้ไกล่เกลี่ยกลับขอให้เธอไปอยู่กับคนที่ทำร้ายเธออีก และถามเธอว่าแต่งกับมูอัลลัฟทำไม ?

มันน่าเศร้าที่ผู้หญิงไม่มีสิทธิในการได้รับการปกป้องจากกลไกทางศาสนาเพราะ การไกล่เกลี่ยให้คืนดีกันเป็นความดีในทางศาสนาทำให้ถึงแม้เข้าใจสิ่งที่ผู้หญิงเผชิญ เจ็บปวดแต่ก็ต้องไกล่เกลี่ยเพื่อให้ผู้ทำหน้าที่นั้นได้รับบุญและผู้ที่ขอหย่าได้รับบุญด้วย โดยไม่คำนึงว่าผู้หญิงเสี่ยงตายและต้องเผชิญกับความเจ็บปวดทุกทรมานมากน้อยแค่ไหนตลอดชีวิตของเธอ

อยากจะฝากผู้ทำหน้าที่นี้ช่วยพิจารณาหลายแง่มุมและหลายด้าน รวมถึงการใช้คำพูดที่ไม่ทำร้ายผู้หญิงซ้ำ การถูกทำให้ผู้หญิงรู้สึกว่าตัวเองเป็นฝ่ายผิดจากสามีและผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและอยากฝากถึงสามีทุกคนว่า

หน้าที่คุณ คุณได้ทบทวนและได้ทำมันดีพอหรือยัง?

รอซิดะห์ ปูซู ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงหาสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ ให้สัมภาษณ์ The 101 World

“โอ้ปวงชนทั้งหลาย จงทำดีต่อบรรดาสตรี พวกนางเปรียบเสมือนเชลยในมือของพวกท่าน ทั้งที่ความจริงแล้วพวกท่านไม่มีสิทธิอะไรในตัวนางนอกจากการทำดี” (Sunan Turmudzi, no. Hadits: 1926)

ข้างต้นคือคำกล่าวของท่านนบีหรือศาสดาในศาสนาอิสลาม เมื่อศตวรรษที่ 14 ในการประกอบพิธีทางศาสนาครั้งสุดท้ายที่เรียกว่า ‘ฮัจย์’ จากคำกล่าวข้างต้น ผู้หญิงตามทัศนะของท่านนบีจะต้องได้รับการปฏิบัติที่ดี และการกล่าวว่า ‘ผู้หญิงเหมือนเชลยในมือของพวกท่าน’ นั้น ตามหลักอิสลามไม่ได้มองว่าผู้หญิงเป็นเชลยของผู้ชาย แต่เปรียบเช่นนั้นเพราะพวกเธอมักถูกกระทำความรุนแรง และถูกสังคมวางตำแหน่งให้อยู่บริเวณชายขอบของหลายมิติ

ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่ท่านนบีย้ำคือการให้ความคุ้มครองและการทำดีต่อผู้หญิง ซึ่งรอซิดะห์ กล่าวว่าไม่ต่างอะไรกับหลักการขั้นพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน

“หลักการจริงๆ คือผู้หญิงมุสลิมเป็นบุคคลที่จะต้องให้เกียรติ และต้องดูแลนางอย่างดีที่สุด แน่นอนว่าต้องดูแลไปถึงความรู้สึกและอารมณ์

“ถ้าไปดูรายละเอียดของหลักศาสนา มีหลายบทหลายตอนที่อ้างอิงถึงการให้เกียรติผู้หญิง ทั้งในอัลกุรอานก็ดี หรือการปฏิบัติของท่านศาสดาที่ปฏิบัติต่อภรรยาก็ดี ก่อนท่านศาสดาจะเสียชีวิตท่านสั่งไว้สามอย่าง หนึ่งในสามบอกไว้ว่าต้องดูแลผู้หญิง แต่ความเข้าใจในทางปฏิบัติกลับตรงกันข้าม และไม่มีคนกล้าพูดกล้าแย้ง ผู้หญิงเราก็ฟังเขาบอกต่อกันมาด้วยแพทเทิร์นเดิมๆ คือผู้หญิงต้องทำหน้าที่ภรรยาและแม่ แล้วคนสอนก็เป็นผู้ชาย ผู้รู้ศาสนาทั้งหลายก็เป็นผู้ชาย เวลาสอนเขาจึงพูดว่าผู้หญิงต้องเคารพสามี”

อ้างอิง

สิทธิสตรีมุสลิม จากปากคำของ ‘รอซิดะห์ ปูซู’ นักต่อสู้เพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงชายแดนใต้


ขอบคุณ : อัญชนา หีมมิหน๊ะ อดีตอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจังหวัดชายแดนใต้และผู้ก่อตั้งกลุ่มด้วยใจ
#ขุนคมคำ
White news