ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันพุธ, 8 พฤษภาคม 2567

ตราฮาลาลคืออะไร? “ทำไมไทยพุทธบางคนถึงต้าน” และโอกาสของประเทศไทย!

ตราฮาลาลคืออะไร ทำไมไทยพุทธบางคนถึงต้าน และโอกาสของประเทศ

ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล

ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ที่มาของภาพ,THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ,ตราฮาลาล เกี่ยวอะไรกับประเด็นนี้

ตราฮาลาล ที่มีเพื่อรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์สำหรับชาวมุสลิม ตกเป็นเป้าโจมตีของไทยพุทธบางคนที่อ้างว่า ตราฮาลาลเป็นภัยคุกคามต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

นี่เป็นเพียงความเชื่อของคนกลุ่มหนึ่ง หรือกระจกสะท้อนกระแสเกลียดกลัวอิสลามในสังคมไทย ที่กำลังเติบโต ผ่านสังคมออนไลน์ และข้อมูลที่ชาวไทยมุสลิมมองว่า “บิดเบือน”

เมื่อ 20 ก.ย. กลุ่มคนที่อ้างตัวว่าเป็นสมาชิกของ “องค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ” หรือ อปพส. พร้อมด้วยประชาชนจำนวนหนึ่ง ที่อ้างว่ามาจากทั่วประเทศไทย นำโดยนายประพันธ์ กิตติฤดีกุล ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงกรรมการบริหารบริษัทซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) หน้าอาคารซีพีทาวเวอร์ ถนนสีลม

ข้อเรียกร้องคือ ให้ร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นทุกสาขา ต้องมีชั้นวางจำหน่ายสินค้าที่ไม่มีตราฮาลาล ให้กลุ่มลูกค้าคนไทยที่เป็นชาวพุทธ จีน คริสต์ และอื่น ๆ “ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ กว่า 60 ล้านคน”

นายประพันธ์ ชี้แจงว่า เครื่องหมายฮาลาลทำให้ลูกค้าที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมต้องเสียเงินเพิ่มขึ้น เพื่อซื้อสินค้ากว่า 160,000 รายการ ที่มีค่าตราฮาลาล

บีบีซีไทยสอบถามไปยังซีพีออลล์ เพื่อขอคำชี้แจงในเรื่องนี้ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ

ก่อนมายื่นหนังสือ สมาชิก กลุ่ม อปพส. ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอทางสังคมออนไลน์ กล่าวหาว่าค่าธรรมเนียมตราฮาลาล เป็น “แผนโค่นล้ม 3 สถาบันหลักของไทย” และเป็น “การเคลื่อนไหวของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง”

“ตราฮาลาล จึงเป็นตรา ฮาลวง ไม่เป็นผลประโยชน์ต่อคนไทย”สมาชิก อปปส. แสดงความเห็นในคลิปวิดีโอ ที่เผยแพร่ก่อนเดินทางไปยื่นหนังสือกับซีพีออลล์

ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์วิทยาลัย มองว่า การเผยแพร่ข้อมูลของ อปพส. อาจเข้าข่าย “บิดเบือน”เพราะค่าธรรมเนียมตรามาตรฐานฮาลาลนั้น แทบจะไม่ได้เพิ่มราคาผลิตภัณฑ์ตามที่ทางกลุ่มกล่าวอ้าง และอันที่จริง ตราฮาลาล เป็นใบเบิกทางผลิตภัณฑ์อาหารไทยสู่ตลาดโลกมุสลิมที่มีขนาดใหญ่กว่า 2,000 ล้านคน

ทำไมกลุ่มอย่าง อปพส. ถึงมองว่า ฮาลาลเป็นภัยต่อความมั่นคงทางศาสนาของไทย และความเคลื่อนไหวของกลุ่มลักษณะนี้ กำลังปลุกโรคเกลียดกลัวอิสลามในสังคมไทย หรือไม่ บีบีซีไทยชวนหาคำตอบ

ที่มาของภาพ,THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ,อปพส. ยื่นหนังสือคำร้องถึงซีพีออลล์

*คำเตือน: เนื้อหามีความอ่อนไหว และเกี่ยวข้องกับความเชื่อส่วนบุคคล

ภัยต่อชาติและศาสนาจริงหรือ

“อิสลามเนี่ย มีแต่ฆ่าคน วางระเบิด ตามงานวัด งานประจำปี อยู่แล้วก็เสียวกระดูกสันหลัง น่ากลัว มาเลเซียก็สนับสนุนด้วย” สมาชิก อปพส. คนหนึ่ง ที่เคยอาศัยอยู่ อ.เบตง กล่าว ในการไลฟ์สดช่วงหนึ่งของ อปพส. เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ขณะที่นายประพันธ์ชี้ว่า การรวมตัวในครั้งนี้ คือ “พลังของชาวไทยพุทธทั้งแผ่นดิน”

“อปพส. และชาวพุทธจงเจริญ” และ “เพื่อพุทธอยู่ร่มเย็นเป็นศักดิ์ศรี” นี่คือหนึ่งในความเห็นเกือบ 400 คอมเมนต์ ในวิดีโอไลฟ์ผ่านยูทิวบ์ของ อปพส. ในวันยื่นคำร้องต่อซีพีออลล์ ที่ส่วนใหญ่ล้วนให้กำลังใจเหล่าผู้ชุมนุม

แต่ในความเห็นของ ดร.ศราวุฒิ ทัศนคติของ อปพส. และกลุ่มผู้ติดตามทางโลกโซเชียล เป็นเพียงความเห็นของคนไทยเพียงส่วนน้อยเท่านั้น และเป็นความเชื่อที่เกิดจาก “ความหวาดกลัว หวาดระแวง ต่อมุสลิมที่ไร้เหตุผล” ส่วนข้อกล่าวหาว่า ตราฮาลาลจะทำให้ “คนมุสลิมครอบครองประเทศไทย” ยิ่งไม่เป็นความจริง

ผอ.ศูนย์มุสลิมศึกษา เปิดเผยว่า จากการจัดทำฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ รวบรวมผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ขอตรามาตรฐานฮาลาลนับแสนรายชื่อ พบว่า กว่า 90% ล้วนเป็นผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมทั้งสิ้น

ที่มาของภาพ,THAI NEWS PIX

“ผู้ประกอบการเห็นโอกาสของการขอตราฮาลาล” ดร.ศราวุฒิ อธิบาย และขยายความว่า ถ้าผลิตภัณฑ์มีตราฮาลาล นั่นหมายความว่าเข้าถึงตลาดชาวมุสลิมในไทยได้เพิ่มขึ้นอีกหลายล้านคน และมีศักยภาพส่งออกไปนอกประเทศ ไปยังชาวมุสลิมหลายพันล้านคนทั่วโลก ซึ่งปัจจุบัน ไทยเป็นประเทศที่ไม่ใช่ชาติมุสลิม ที่ส่งออกอาหารฮาลาลมากที่สุดติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก

ดังนั้น ดร.ศราวุฒิ ไม่อยากให้มองตราฮาลาล เป็นเรื่องของศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการรับรองมาตรฐานเหมือน “ไอเอสโอ” (ISO) ขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน และ “จีเอ็มพี” (GMP) ที่ใช้กำกับว่าผลิตภัณฑ์มีการรับรองคุณภาพการผลิตที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย

ชาวพุทธรับภาระ ?

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย จนถึงวันที่ 20 ก.ย. 2565 ระบุว่า มีผู้ประกอบการเกือบ 5,400 ราย รวมเกือบ 150,000 ผลิตภัณฑ์ ที่ขอรับรองมาตรฐานฮาลาล

นายประพันธ์ แกนนำ อปพส. แถลงในวันยื่นหนังสือต่อซีพีออลล์ว่า ค่าใช้จ่ายในการขอตราฮาลาลและต่ออายุใบรับรอง ประเมินได้ถึงหลักหมื่นถึงหลักแสนต่อปี และผู้ประกอบการกำลังผลักภาระให้ผู้บริโภคที่ไม่ใช่คนมุสลิม ด้วยการขึ้นราคาสินค้า

“สินค้าที่ติดตราฮาลาลไทย…ผู้ประกอบการไทยต้องเสียค่าธรรมเนียม ค่าขอต่ออายุ ค่าขอใหม่ ค่าที่พัก (ผู้เข้าตรวจสอบเพื่อรับรอง) ค่าขอเพิ่มผลิตภัณฑ์ ค่าหนังสือรับรองฮาลาล ค่าที่ปรึกษาที่ต้องเสียกันทุกเดือน”

ที่มาของภาพ,SRAWUT AREE

คำบรรยายภาพ,ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาฯ

“ (ร้านสะดวกซื้อ) บางสาขาไม่มีมุสลิมเลย แต่คนไทยต้องมาเสียส่วนนี้” นายประพันธ์ กล่าวผ่านเครื่องขยายเสียง หน้าสำนักงานซีพีออลล์ ถนนสีลม เมื่อวันที่ 20 ก.ย.

อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบค่าใช้จ่ายเหล่านี้กับปริมาณที่ผลิตเพื่อจำหน่ายแล้ว ดร.ศราวุฒิ ชี้ว่า ตราฮาลาลทำให้ราคาของสินค้าเพิ่มขึ้นจริง “เป็นหน่วยสตางค์” เท่านั้น

อาหารฮาลาล คืออะไร

ข้อมูลจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ระบุถึงอาหารฮาลาล (Halal) ว่า หมายถึง อาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งอนุมัติตามบัญญัติศาสนาอิสลามให้มุสลิมบริโภคหรือใช้ประโยชน์ได้

ฮาลาล เป็นคำมาจากภาษาอารบิก หมายความว่า “การผลิต การให้บริการ หรือการจำหน่ายใด ๆ ที่ไม่ขัดต่อบัญญัติของศาสนา” จึงกล่าวได้ว่า อาหารฮาลาล คืออาหารที่ได้ผ่านกรรมวิธีในการทำ ผสม ปรุง ประกอบ หรือแปรสภาพ ตามศาสนบัญญัตินั่นเอง เพื่อรับประกันว่า ชาวมุสลิมโดยทั่วไปสามารถบริโภคอาหาร หรืออุปโภคสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ได้โดยสนิทใจ

เครื่องหมายฮาลาลนั้น คือ เครื่องหมายที่คณะกรรมการฝ่ายกิจการฮาลาลของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย หรือคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดได้อนุญาตให้ผู้ประกอบการทำการประทับ หรือแสดงบนสลาก หรือผลิตภัณฑ์ หรือกิจการใด ๆ โดยใช้สัญลักษณ์ที่เรียกว่า ฮาลาล ซึ่งเขียนเป็นภาษาอาหรับภายในกรอบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หลังกรอบเป็นลายเส้นแนวตั้ง ใต้กรอบภายในเส้นขนานมีคำว่า “สนง.คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย”

ที่มาของภาพ,สนง.คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

คำบรรยายภาพ,ตราฮาลาลที่ใช้ในประเทศไทย

ผู้ประกอบการ หรือผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาล มีหน้าที่

รักษาอุปกรณ์ในการผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาลให้สะอาดถูกต้องตามศาสนบัญญัติ ตลอดจนไม่ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวร่วมกับของต้องห้ามตามศาสนบัญญัติ
วัตถุดิบหลักในการผลิต ตลอดจนเครื่องปรุงอื่น ๆ ต้องระบุแหล่งที่มาอันน่าเชื่อถือได้ว่า “ฮาลาล” โดยไม่แปดเปื้อนกับสิ่งต้องห้าม
วัตถุดิบที่ได้จากสัตว์ต่าง ๆ นั้น ต้องเป็นสัตว์ที่ศาสนาอิสลามอนุมัติ และหรือได้เชือดตามศาสนบัญญัติ
เจ้าหน้าที่ที่ควบคุมการผลิต หรือปรุงผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ต้องเป็นมุสลิม

ในระหว่างการขนย้าย ขนส่ง หรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์ฮาลาลนั้น ต้องไม่ปะปนผลิตภัณฑ์ฮาลาลนั้น ต้องไม่ปะปนผลิตภัณฑ์ฮาลาลกับสิ่งต้องห้ามตามศาสนบัญญัติ

ครัวไทยสู่ครัวซาอุฯ

รัฐบาลไทยภายการนำของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รื้อฟื้นความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานมานาน 32 ปี กับรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ด้วยการเดินทางเยือนซาอุฯ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

นโยบายรูปธรรมที่รัฐบาลไทยพยายามผลักดัน คือ การส่งออกแรงงานไทยไปซาอุฯ และการส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาลที่ผลิตในไทย ไปซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นประเทศที่ปกครองด้วยกฎหมายชารีอะห์

บริษัท ซีพีเอฟ เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการไทยรายแรก ๆ ที่เริ่มส่งออกเนื้อสัตว์ไปซาอุฯ นับแต่เดือน มี.ค. ที่ผ่านมา

”ขอบคุณรัฐบาลไทย…และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ช่วยผลักดัน ดำเนินการกับหน่วยงานของรัฐบาลซาอุฯ อย่างเต็มที่” นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวในแถลงการณ์ เมื่อ มี.ค. 2565 พร้อมระบุถึงศักยภาพการนำเข้าผลิตภัณฑ์ไก่ของซาอุดีอาระเบียที่สูงถึงปีละเกือบ 600,00 ตัน

ซีพีเอฟยังอธิบายว่า กระบวนการผลิตทั้งหมดถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม อาทิ การเชือดไก่โดยพนักงานที่นับถือศาสนาอิสลาม และการแปรรูปเนื้อไก่โดยวัตถุดิบที่ไม่มีของต้องห้าม

ที่มาของภาพ,HANDOUT

คำบรรยายภาพ,พล.อ. ประยุทธ์ เยือนซาอุฯ ปี 2565

ผอ.ศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาฯ เห็นพ้องว่า ไทยมีศักยภาพด้านการผลิตอาหารฮาลาลมหาศาล โดยเฉพาะซาอุฯ ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพมากสำหรับไทย ทั้งชาวมุสลิมทั่วโลกปีละกว่า 20 ล้านคน ที่จะไปแสวงบุญที่ซาอุฯ ไม่นับประชากรซาอุฯ อีกราว 30 ล้านคน ซึ่งล้วนเป็นประชากรที่มีกำลังซื้อสูง

และใบเบิกทางแรกสู่โอกาสดังกล่าว คือการได้รับการรับรองตราฮาลาล

“เพราะเขา (ซาอุฯ) ไม่รู้กระบวนการผลิตของเรา องค์กรศาสนาบ้านเราตรวจสอบหรือยัง เขาต้องการการรับรองแค่นั้นเอง” ดร.ศราวุฒิ บอกกับบีบีซีไทย

จากชัชชาติในชุดอาหรับ สู่ตราฮาลาลในเซเว่นอีเลฟเว่น

ช่วงต้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ภาคีเครือข่ายองค์กรพลังชาวพุทธได้ยื่นหนังสือถึงนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ว่า “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ แต่งตัวเป็นมุสลิม คือ ภัยใหญ่หลวงของชาวพุทธ” ภายหลังปรากฏภาพนายชัชชาติแต่งกายด้วยชุดประจำชาติของซาอุดีอาระเบีย ในนิทรรศการ “สะพานเชื่อมสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย”

เมื่อตรวจสอบความเคลื่อนไหวในสังคมออนไลน์ พบว่า แกนนำภาคีเครือข่ายองค์กรพลังชาวพุทธและ อปปส. ร่วมกันจัดทำเนื้อหาในเชิงวิจารณ์บทบาทของศาสนาอิสลามและชุมชนมุสลิมในประเทศไทยในด้านลบอยู่บ่อยครั้ง เผยแพร่ตามช่องทางสังคมออนไลน์ต่าง ๆ โดยเฉพาะช่องยูทิวบ์ “องค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ” ที่มีผู้ติดตามเกือบ 100,000 คน

บีบีซีไทยถาม ดร.ศราวุฒิ ว่า ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ รวมถึงจำนวนผู้ติดตามและเสพข้อมูลจากกลุ่มเหล่านี้ สะท้อนถึง กระแสเกลียดกลัวอิสลามในสังคมไทย ที่กำลังน่าวิตกหรือไม่ เขาตอบว่า กระแสเหล่านี้ “เกิดขึ้นมานานพอสมควรแล้ว” เพียงแต่สื่อกระแสหลักไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก และอันที่จริง เคยมีประเด็นการต่อต้านสร้างมัสยิดในภาคเหนือด้วยที่ควรเป็นประเด็นใหญ่ แต่มีสื่อโทรทัศน์เพียงส่วนน้อยที่ติดตามทำข่าว

ที่มาของภาพ,กรุงเทพมหานคร

คำบรรยายภาพ,ชัชชาติในชุดอาหรับ

“กระแสอิสลาโมโฟเบีย (Islamophobia หรือ เกลียดกลัวอิสลาม) เริ่มปรากฏในไทย แต่เริ่มจากภาคเหนือและอีสาน เพราะชุมชนเหล่านั้น ไม่ค่อยสัมผัสกับสังคมมุสลิม ความไม่รู้จักกัน ทำให้เกิดความกลัว”

“ในโซเชียลมีเดีย เราคงจะเห็นตัวเลขที่ค่อนข้างมาก เกี่ยวกับคนที่เหมือนกับรับเอากระแสเกลียดกลัวอิสลามมาฝังในหัว แต่ถ้าเราไปดูแกนนำจริง ๆ มีไม่มากนัก เพราะสังคมไทยมีภูมิคุ้มกันค่อนข้างสูง” ดร.ศราวุฒิ แสดงความเห็นในเรื่องนี้ พร้อมเล่าว่า

“ผมเองเป็นคนเชียงใหม่ คนไทยทั่วไปมีความใจกว้าง ยอมรับความหลากหลาย…ผมเป็นบ้านหลังเดียวที่เป็นคนมุสลิม ชาวบ้านพยายามทำความเข้าใจว่า อะไรทำได้ไม่ได้ เป็นสังคมที่เปิดกว้างมาก ประเทศไทยค่อนข้างมีภูมิคุ้มกันกระแสเกลียด” เขาเล่าถึงอดีตสมัยอยู่ใน จ.เชียงใหม่

เขายังเชื่อมั่นว่า แนวคิดเชิงสุดโต่งเหล่านี้จำกัดอยู่แค่ “เครือข่ายชาวพุทธบางส่วนเท่านั้น” แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ภาครัฐและภาคเอกชนควรนิ่งเฉยกับความเคลื่อนไหวของกลุ่มเหล่านี้ เพราะถ้าไม่ “สร้างภูมิคุ้มกัน” คนไทยอาจตกเป็นเหยื่อทางความคิดจาก “ความไม่รู้” ได้

ด้านองค์กรศาสนาอิสลามในประเทศไทยเอง ไม่ได้นิ่งเฉย ยกตัวอย่าง สำนักจุฬาราชมนตรี พยายามขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับศาสนิกชนของศาสนาต่าง ๆ ในไทย “เพราะตระหนักถึง ปรากฎการณ์ที่มันน่ากลัวในอนาคต”

ดร.ศราวุฒิ ยอมรับว่า องค์กรภาครัฐดำเนินการในเรื่องนี้ได้ลำบาก เพราะหากไม่ระวัง อาจถูกโจมตีเรื่องความไม่เท่าเทียมทางศาสนาได้ แต่สิ่งที่สามารถดำเนินการได้ทางกฎหมายจริง ๆ คือ การใช้ พรบ. ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ต่อการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ และสร้างความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องในสังคม

“กฎหมายไซเบอร์ต้องจัดการ ทางการต้องไปตรวจสอบ ถ้าหากบิดเบือนต้องมีกระบวนการจัดการ ซึ่งสร้างความเข้าใจผิด และทำให้สังคมแตกแยก”

www.bbc.com