ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันพฤหัสบดี, 9 พฤษภาคม 2567

สิ้น “หวันดารา หวันมุดา” ผู้ทอผ้าไหมโบราณพุมเรียง น้องสาวสืบสานตำนานต่อ

ชาวสุราษฎร์ฯ อาลัย “หวันดารา หวันมุดา” ผู้ทอผ้าไหมโบราณพุมเรียงเสียชีวิต น้องสาวสืบสานตำนานต่อ

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ ต.พุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี นางหวันดารา หวันมุดา อายุ 80 ปี ผู้สืบสานตำนานการทอผ้าไหมพุมเรียง ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านภาคใต้ที่มีอัตลักษณ์ประจำถิ่น ของ ต.พุมเรียง อ.ไชยา ได้เสียชีวิตเมื่อเช้าวันนี้ ระหว่างออกมากวาดบ้านและเป็นลมหมดสติไป โดยมีหัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานต่างๆ ไปร่วมไว้อาลัย ซึ่งครอบครัวและญาติจะทำพิธีฝังศพตามหลักศาสนาอิสลาม ณ สุสานกุโบร์ ต.พุมเรียง ในเย็นวันเดียวกันนี้

สำหรับครอบครัวหวันมุดา มีพี่น้อง 2 คนคือนางหวันดารา หวันมุดา และนางมารียะ หวันมุดา น้องสาวเป็นครอบครัวที่ได้รับการสืบทอดการทอผ้าจาก คุณทวดแหม๊ะเหรียม หวันมุดา (ต้นตระกูลสุลต่านสุไลมาน) ผู้ริเริ่มทอผ้าลายพระธาตุไชยา ลายคชสีห์ ลายโคมเพชร ลายสร้อยดอกหมาก และอนุรักษ์การทอผ้าโบราณ มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นตระกูลที่เก่าแก่ที่สุด ของ ต.พุมเรียง อ.ไชยา โดยนางมารียะ หวันมุดา ผู้เป็นน้องสาวจะดำเนินการสืบสานการทอผ้าไหมพุมเรียงต่อไป

ทั้งนี้ ในอดีต นางมาเรียม หวันมุดา มารดา ของนางหวันดารา หวันมุดา และนางมารียะ หวันมุดา ได้ทอผ้าไหมทอมือที่มีลายข้อความว่า “ทรงพระเจริญไชโย” ทอไว้เมื่อปี พ.ศ.2472 ในการรับเสด็จ เมื่อครั้งสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินผ่าน มีข้อความเป็นแถวยาวซึ่งใช้วิธีการทอให้ได้ลายอักษรทำได้ยากและละเอียดมาก นับเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจ และดำรงไว้ให้คนรุ่นหลังได้เชยชม

รายงานข่าวแจ้งว่า การทอผ้าพุมเรียง เป็นศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านภาคใต้ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น ของ ต.พุมเรียง อ.ไชยา ที่มีวิธีการเฉพาะแบบของชาวไทยมุสลิม ที่อพยพมาจากเมืองสงขลา ปัตตานี และเมืองไทรบุรี ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากชาวมลายูในหมู่เกาะอินโดนีเซีย ได้นำกระบวนการการทอผ้าติดตัวมาด้วย ถ่ายทอดสืบต่อกันมายาวนาน เพียงแค่วิธีการสังเกตจดจำและทดลองปฏิบัติทอจริงโดยไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่ได้รับการสั่งสมภูมิปัญญาและสืบทอดกันมาสู่อนุชนรุ่นหลัง โดยเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป

โดยความสวยงามของลายผ้าที่เป็นลักษณะเฉพาะที่มีความประณีต จากฝีมือการทอผ้ามีลักษณะเด่นแตกต่างไปจากผ้าทอมือของภูมิภาคอื่นๆ ด้วยวิธีการยกดิ้นเงิน ดิ้นทอง ที่กลายเป็นอารยะธรรมของชาวพุมเรียง คงความเอกลักษณ์แห่งผ้าทอ โดยลายดั้งเดิมเก่าแก่ของพุมเรียง ที่นิยมนำมาทอเป็นลายผ้ามีหลายลาย อย่าง ลายยกเบ็ด ลายดอกพิกุล ลายคชสีห์ ลายราชสีห์ ลายครุฑ ลายกินรี ลายเทพพนม ลายเบญจรงค์ ลายศรีวิชัย ลายกริช ลายโบตั๋น ลายราชวัตร ลายก้านต่อดอก ลายผ้ายกเชิงครุฑ และลายนพเก้า ซึ่งช่างทอผ้าที่ ต.พุมเรียง ส่วนใหญ่จะมีลวดลายต้นแบบที่ใช้เป็นตัวอย่างเก็บดอกผ้าเรียกว่า “ครูผ้า” เป็นผ้าที่ปักด้วยไหม เป็นลวดลายต่างๆ หรือเศษผ้ายกที่ช่างทอเก็บไว้แต่เดิม

ที่มา: เดลินิวส์