ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันพุธ, 15 พฤษภาคม 2567

ผู้ควบอาชาแห่งเมืองบราชอฟ


ชายชราตากอากาศ และแมวหลบแดด ณ จัตุรัส Piata Sfatului

ฝนกลางพฤษภาคมในเมืองบราชอฟยังคงลงมาทักทายแบบไม่เลือกเวลา วันนี้ตกตั้งแต่เช้าไปหยุดเอาเกือบเที่ยง เมื่อฝนหยุดผมต้องรีบเดินไปฝากท้องกับร้าน “คาซา โรมาเนสกา” ร้านอาหารสไตล์โรมาเนียร้านเดิม สั่งซุปเนื้อท้องถิ่นมีลักษณะคล้ายซุป “กูลาส” ของฮังการี ซึ่งมีเนื้อหลายชิ้นเหมือนจะมากกว่าเกาเหลาเนื้อบ้านเราเสียอีก พร้อมด้วยบรรดาผักท้องถิ่น ตามด้วยข้าวผัดไก่ใส่ผักแบบสไปซี่ (แต่ไม่เผ็ด) ข้าวเป็นเม็ดกลมขนาดใหญ่ เสิร์ฟมาในจานขนาด 2 คนกิน แล้วยังมีตะกร้าขนมปัง 5-6 แผ่นมาวางให้อีก บริกรหนุ่มไม่ลืมที่จะถามว่า “รับชนัพส์ไหม” ซึ่งเป็นบรั่นดีพลัมเครื่องดื่มเรียกน้ำย่อย ผมปฏิเสธไป เพราะไม่ต้องเรียก น้ำย่อยก็มารออยู่เต็มท้องแล้ว

ซุปเนื้อถือเป็นจานที่ยอดเยี่ยมที่สุด ข้าวก็ใช้ได้ แต่เยอะไปหน่อย ส่วนขนมปังผมไม่แตะ เพราะรสชาติเหมือนกระดาษ ค่าอาหารรวมทิป 45 เล หรือประมาณ 350 บาท ถือว่าราคาถูกกว่าร้านระดับเดียวกันในเมืองไทย

เขตที่ผมพักอยู่นี้เรียกว่า Scheii อ่านว่า “ชเคอิ” เป็นย่านเก่าแก่อีกย่านของเมืองบราชอฟ จัตุรัสเล็กๆ ของทหารนิรนาม โบสถ์เซนต์นิโคลัส โรงเรียนแห่งแรกของประเทศ ก็อยู่ในเขตที่เรียกว่า Scheii Brasovului แห่งนี้


โบสถ์เซนต์นิโคลัส ในเขต Scheii เมืองบราชอฟ ข้างๆ คืออดีตโรงเรียนแห่งประของประเทศ

ในสมัยที่เยอรมันแซ็กซอนเข้ายึดครองเมืองบราชอฟในคริสต์ศตวรรษที่ 13 โบสถ์ดำ (สมัยนั้นชื่อโบสถ์เซนต์แมรี) เพิ่งถูกทำลายลงไปโดยฝีมือชาวตาตาร์ การก่อสร้างใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ.1385 แต่เนื่องจากชาวเยอรมันแซ็กซอนเองก็มุ่งแต่สร้างโบสถ์และปราสาทของตัวเอง จึงได้แค่สนับสนุนชาวบราชอฟด้วยวัตถุดิบเท่านั้น ชาวเมืองบราชอฟจึงอนุญาตให้คนต่างถิ่นเข้ามาร่วมกันสร้าง และที่มากันอย่างแข็งขันที่สุดก็คือชาวบัลแกเรีย สมัยนั้นเรียกชาว “เบลเกอร์” และเนื่องจากการก่อสร้างใช้เวลานาน และเป็นงานที่ประสบผลสำเร็จอย่างดี ชาวเบลเกอร์จึงตัดสินใจลงหลักปักฐานในเมืองบราชอฟ เรียกเขตที่ตัวเองอยู่นี้ว่า “ชเคอิ” หลังจากนั้นพวกเขาก็ได้กลายเป็นชาวโรมาเนียไปโดยปริยาย

ชาวชเคอินิยมสร้างบ้านหลังเล็กๆ ปลูกติดๆ กันไปบนถนนแคบๆ โดยมีสวนเล็กๆ และทุ่งหญ้าที่ค่อยๆ ลาดขึ้นสู่เนินเขา คนบัลแกเรียนในพื้นที่เขตชเคอินี้จะไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าไปในเขตเมืองที่มีกำแพงกั้นอยู่รอบทุกด้าน แต่หากประสงค์จะเข้าไปจริงๆ (ส่วนมากเพื่อขายสินค้า) ก็จะต้องจ่ายค่าเข้าพื้นที่ให้กับแซ็กซอนผู้ปกครอง ที่ประตูแคทเธอรีน ซึ่งเป็นประตูเดียวที่ชาวโรมาเนียดั้งเดิมสามารถใช้ได้ ส่วนอีก 4 ประตูรอบกำแพงเมือง ไม่มีใครใช้ได้นอกจากเยอรมันแซ็กซอนเท่านั้น

วันนี้ผมเดินไปยังจัตุรัสประจำเมือง Piata Sfatului อีกครั้ง ตั้งใจจะซื้อเสื้อหนาวในถนนคนเดินเขตเมืองเก่า เพราะไม่แน่ใจว่าอากาศจะหนาวไปอีกนานแค่ไหน โดยเฉพาะตอนเช้าและกลางคืนที่หนาวเกินแจ็กเกตธรรมดาที่พกมาแค่ 2 ตัวจะต้านทานได้ แต่เมื่อเห็นแจ็กเกตกันหนาวในร้านชื่อ CATO ล้วนมีสีและดีไซน์แปลกๆ หากใส่แล้วอาจจะออกไปทางเกย์หนุ่มชาวเอเชีย จึงเลิกล้มความตั้งใจทนหนาวต่อไปดีกว่า


ประตูแคทเธอรีน ประตูเข้าเมืองที่ในอดีตต้องจ่ายค่าผ่านประตูให้กับเยอรมันแซ็กซอนผู้ปกครอง

เดินกลับมายังจัตุรัส ได้ยินเสียงทักขึ้น “คนไทยหรือเปล่าคะ” พี่ผู้หญิงคนนี้เดินทางมากับกรุ๊ปทัวร์คนไทยประมาณ 30 คน แต่เธอแยกเดินถ่ายรูปอยู่คนเดียว “เอากล้องมา ให้พี่ถ่ายรูปให้นะ จะได้มีรูปตัวเอง” เธอเล่าว่าเดินทางมาจากเมืองโซเฟีย ประเทศบัลแกเรีย แวะบูคาเรสต์เมื่อวาน ส่วนพรุ่งนี้จำไม่ได้แล้วว่าทางคณะจะไปไหนกันต่อ ผมขอบคุณในความกรุณาของเธอ แล้วเดินเข้าร้านเคเอฟซีที่มีที่นั่งว่างติดกระจกหน้าต่าง มองออกไปยังจัตุรัสได้เกือบ 180 องศา รวมถึงหอประจำเมืองที่ปัจจุบันคือ “พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์” แห่งเมืองบราชอฟ ซื้อกาแฟราคาแก้วละ 5 เล มานั่งจิบมองภาพเคลื่อนไหวบริเวณจัตุรัส เมื่อจะเข้าห้องน้ำต้องเดินไปหลังร้าน กดรหัสที่อยู่ในใบเสร็จรับเงินลงบนแผงตัวเลขที่ประตู จากนั้นเดินลงใต้ดินไปหนึ่งชั้น ที่เป็นอย่างนี้ก็เข้าใจได้ว่ามีคนนอกแอบเข้ามาใช้บริการบ่อย โดยที่พนักงานของร้านต้องมีภาระทำความสะอาดเพิ่มขึ้น

ระหว่างทางเดินกลับที่พัก ซึ่งเป็นทางที่รถวิ่งได้ ผมแวะร้านชำร้านเดิม เจอเด็กชาย “จอร์จี้” อีกครั้ง วันนี้เขาอยู่กับเพื่อนผู้หญิงรุ่นราวคราวเดียวกันชื่อ “อันเดรีย” คงจะเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่มาช่วยจอร์จี้ขายของ ส่วนผู้เป็นแม่กำลังวุ่นกับการจัดของในร้าน


สุนัขดาราแห่งถนนคนเดินเมืองเก่าบราชอฟ

ผมเดินไปยังตู้แช่เครื่องดื่ม หยิบ Ursus, Timisoreana และ Ciucas ขนาด 400 มิลลิลิตร มาอย่างละกระป๋อง และน้ำเปล่าขนาด 2 ลิตร มา 1 ขวด เบียร์ทั้งหมดราคากระป๋องละ 3 เล หรือ 24 บาทเท่านั้น ส่วนน้ำเปล่าราคาขวดละ 2 เล รวมทั้งหมด 11 เล ผมให้ธนบัตรใบละ 50 เล จอร์จี้ไม่มีเงินทอน เขาจึงตะโกนหาแม่ แต่ก่อนแม่จะมาแก้ปัญหา ผมก็หาเหรียญได้จนครบ 11 เลพอดี

เดินไปจนถึงจัตุรัสขนาดเล็ก Piata Unirii ที่สงบเงียบที่เดิม เปิด Timisoreana ขึ้นจิบแก้คอแห้ง มองไปยังโบสถ์เซนต์นิโคลัส และถนนเล็กๆ ที่ชันขึ้นไปสู่เนินเขาแทมป้า เมื่อใกล้จะหมดกระป๋องอากาศหนาวก็เข้าโจมตี ฟ้ากำลังจะมืดจึงเดินกลับ หมายจะเข้าที่พัก ผ่านร้านแปลกๆ ร้านหนึ่ง มีคนออกมาสูบบุหรี่นอกร้าน 2-3 คน เมื่อหนึ่งในนั้นหันมาเห็นผมก็โบกมือเรียกให้เข้าไป แล้วเปิดประตูเดินโอบไหล่ผมไปที่บาร์ในร้าน เขาพูดบางอย่างกับป้าข้างในบาร์รูปร่างอ้วนท้วนอารมณ์ดี แล้วก็ออกไปสูบบุหรี่ต่อ ทันใดนั้นป้าก็รินน้ำใสๆ ออกมาจากขวดใบใหญ่ลงในแก้วช็อต แต่มีขนาดใหญ่กว่าราว 2 เท่า รินลงไปได้ 1 ใน 4 ของแก้ว แล้วบอกผมว่า “Tuica” (บรั่นดีพลัม) ผมรับมาจิบ พยักหน้าให้ป้า แกจึงรินให้จนเต็มแก้วช็อต ผมรับมาแล้วเดินไปนั่งที่โต๊ะว่าง ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 5 โต๊ะ และมีคนนั่งอยู่แล้ว 4 โต๊ะ

มีชายคนหนึ่งเดินมาทักผมเป็นภาษาญี่ปุ่น แกว่าแกมีเพื่อนเป็นคนญี่ปุ่น ผมจึงตอบไปว่าเป็นคนไทย แกถามอีกว่า “เล่นยูโดเป็นไหม” ผมบอก “คนไทยชกมวยไทย” แล้วทำท่าให้ดู ทั้งร้านก็เลยร้องอ๋อ ทราบทีหลังว่าคนที่เดินมาถามเป็นอาจารย์สอนหนังสือในเมืองนี้ แขกส่วนมากในร้านเป็นคนวัยกลางคนจนถึงสูงอายุ คนงานก่อสร้างหรือพนักงานของเทศบาลก็มี คนหนึ่งกำลังจะกลับยื่นมือที่เปื้อนสีมาให้ผมจับ แล้วพูดว่า “นาพเต บูนา” ราตรีสวัสดิ์


เด็กๆ ปีนเล่นปืนใหญ่หน้าหอประจำเมือง ที่ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เมืองบราชอฟ

จากนั้นชายหนุ่มที่เป็นคนต้อนรับผมก็กลับมาจากสูบบุหรี่ หมอชื่อ “ดูมิตราส” อายุ 26 ปี บอกว่าตัวเองเป็นคนเลี้ยงม้า และเพิ่งร่วมขบวนในงานชื่อ Junii Brasovului มาเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ผมฟังจากดูมิตราสแล้วหาข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถสรุปลักษณะของ “เทศกาลจูนี” ได้ประมาณนี้

หลังฤดูหนาวอันยาวนานและหนักหน่วงกำลังผ่านไป หิมะที่ปกคลุมทั่วทั้งเมืองละลายลง แสงแดดแห่งฤดูใบไม้ผลิก็มาเยือนพร้อมอากาศที่อบอุ่นขึ้น ชาวเมืองจากเขต “ชเคอิ” ได้เวลาเฉลิมฉลองเทศกาลที่เรียกว่า “จูนี” ซึ่งแปลว่า “หนุ่มสาว” Junii Brasovului จึงหมายถึงงานฉลองของหนุ่มสาวชาวบราชอฟ กินเวลานานกว่าสัปดาห์ โดยส่วนมากก็คือการสังสรรค์ดื่มกินกันอย่างสุดเหวี่ยง ที่น่าสนใจคือในวันพฤหัสบดีชาวเมืองจะพากันจับผู้นำของพวกเขามัดกับแผ่นกระดานแล้วแห่แหนไปทั่วเมือง ขณะที่พระก็ทำพิธีสวดศพจำลองไปด้วย เพื่อให้ผู้นำอ้อนวอนให้ปล่อยตัวเขาลงมาด้วยคำมั่นสัญญาที่จะแลกกับไวน์เป็นจำนวนมาก เชื่อว่าพิธีนี้ได้รับการอนุรักษ์มากว่า 2,000 ปีแล้วในหมู่ชนชาวดาเซียน บรรพบุรุษของชาวโรมาเนียในปัจจุบัน

การมีส่วนร่วมของบรรดาหญิงสาวมีอยู่ไม่มาก นั่นคือในช่วงวันจันทร์หรือวันแรกๆ ของเทศกาล พวกหนุ่มๆ จะเข้าหาฝ่ายผู้หญิง สาวเจ้าก็จะยื่นไข่ที่ย้อมสีแดงให้ เมื่อหนุ่มๆ ได้รับไข่ย้อมสีกันครบแล้วก็จะฉีดน้ำหอมใส่ตัวฝ่ายหญิง จากนั้นในวันศุกร์หรือเสาร์ที่พวกคนหนุ่มกำลังเตรียมงานใหญ่สำหรับวันอาทิตย์อยู่นั้น เป็นไปได้ว่าพวกเขาจะชวนฝ่ายสาวไปปาร์ตี้ในที่ลับตาคน


ลานกีฬาของวิทยาลัย Andrei Saguna ในเมืองบราชอฟ บ้างเล่นกีฬา บ้างดูกีฬา

จุดไคลแมกซ์ของเทศกาลจะอยู่ที่วันอาทิตย์แรกหลังจากวันอีสเตอร์ ซึ่งก็คือวันสุดท้ายของงาน เปรียบได้กับวันขึ้นปีใหม่ของชาวดาเซียน เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่มีใครทราบ แต่ได้รับการบันทึกไว้ในปี ค.ศ.1728 ว่ามีมาก่อนหน้านั้นนานนักหนาแล้ว

คนหนุ่มจากเขตชเคอิในเครื่องแต่งกายฟู่ฟ่าแบบโบราณ ประดับประดาด้วยของมีค่าน้ำหนักหลายกิโลกรัม ขึ้นขี่ม้าของตน พวกเขาแบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม ตามความเชื่อที่ว่าพระเจ้าสร้างโลกในเวลา 7 วัน นอกจากนี้แล้วแต่ละกลุ่มก็มาจากคนละย่านกัน การแต่งกายแต่ละกลุ่มจะต่างสี ต่างเครื่องหมาย รองเท้าและหมวกคนละแบบ อีกทั้งยังถือคทาและธงทิวที่ไม่เหมือนกัน ในบรรดา 7 กลุ่มนี้ นำโดยกลุ่มคนหนุ่มที่สุดและยังไม่แต่งงาน และยังมีกลุ่มคนหนุ่มที่แต่งงานแล้ว กลุ่มที่แต่งกายเป็นทหารประจำชาติ และกลุ่มที่เป็นชาวเมืองบราชอฟแท้ๆ ด้วย แม้แต่บรรดาม้าเองก็จะแต่งตัวไม่เหมือนกันในแต่ละกลุ่ม

ธงชาติโรมาเนียถูกเหวี่ยงสะบัดอยู่ทั่วขบวนพาเหรด พร้อมไปกับจังหวะของเพลงประจำชาติเพลงแล้วเพลงเล่าที่บรรเลงโดยวงโยธวาทิต เด็กหนุ่มจะถูกนำตัวไปไว้กลางฝูงชน เขาโยนคทาขึ้น ผู้คนพากันวิ่งหาที่กำบัง แต่เด็กหนุ่มต้องรับคทาให้ได้ ผู้ที่โยนคทาได้สูงที่สุดและรับได้จะเป็นผู้ชนะเลิศ การละเล่นและการสังสรรค์ดำเนินต่อไปจนถึงเวลาเย็น ผู้คนก็จะไปรวมตัวกันที่ Casa Sfatului หรือหอประจำเมือง ณ จัตุรัส Piata Sfatului ทุกคนเดินวนรอบหอประจำเมืองแล้วเป็นอันเสร็จประเพณีประจำปี จากนั้นก็แยกย้ายกันไปย่าง “มิช” บาร์บีคิวเนื้อสามอย่าง แกล้มเบียร์หรือไวน์ได้ตามอัตภาพ


อาคารบ้านเรือนในเขตชเคอิ มุมมองหนึ่งจากจัตุรัส Piata Unirii

ดูมิตราสตั้งใจจะโชว์รูปที่เขาควบอาชาร่วมงาน Junii แต่โทรศัพท์มือถือแบตหมด บางทีเขานึกคำภาษาอังกฤษไม่ออกก็เรียกอาจารย์คนเดิมมาแปลให้ฟังถึงโต๊ะ อาจารย์เดินไปเดินมาอยู่หลายรอบ ตอนหลังจึงแปลตะโกนมาจากโต๊ะของแก คุยไปคุยมาดูมิตราสสารภาพว่าไม่มีเงินจะกินเบียร์ต่อ ผมจึงหยิบเบียร์ Ursus จากกระเป๋าให้เขา 1 กระป๋อง ส่วนผมขอไปเติมบรั่นดีพลัมจากป้าเจ้าของบาร์ ซึ่งเมื่อจ่ายเงิน ป้าแกคิดช็อตละ 2.5 เล เท่านั้น 2 ช็อตก็เท่ากับ 5 เล หรือประมาณ 40 บาท

ตอนท้ายมีชายคนหนึ่งเดินเข้ามาใหม่ นั่งได้ครู่หนึ่งเมื่อรู้ว่าผมเป็นคนไทยก็เดินมาถามว่ามีเงินไทยหรือเปล่า ผมตอบว่าไม่ได้พกมา แล้วแบกระเป๋าให้ดู เขาพูดขึ้นว่า “เงินอินเดียนี่” เขาหยิบไปดู แล้วพูดว่า “รูปีๆๆๆ” ผมบอกว่าให้ไม่ได้ตั้ง 1,000 รูปี และรุ่นนี้เขาเลิกผลิตแล้ว ผมดึงธนบัตรกลับมา อาจารย์คนเดิมเดินเข้ามาหาแล้วพูดกับชายคนนั้น ก่อนหันมาบอกผมว่า “จะหยิบกระเป๋าตังค์ออกมา ต้องระวัง” ดูมิตราสก็ช่วยสำทับว่า “จะทำอย่างนั้นไม่ได้”

บรั่นดีพลัมออกฤทธิ์รวดเร็วและร้อนแรงเหลือหลาย ผมลาทุกคนในร้านแล้วเดินออกมา ดูมิตราสตามมาด้วย ผมนึกว่าเขาใจดีเดินมาส่ง ทั้งที่ห่างจากที่พักไม่ถึง 100 เมตร เขาเอ่ยขึ้นว่า “ขอเงินซื้อเบียร์อีกกระป๋องสิ” ด้วยความสงสาร และเขาไม่ใช้คนหลอกลวงต้มตุ๋น แต่ผมมีเศษเงินแค่ 1.5 เล เขาก็ยังรับไว้และกล่าวขอบคุณ

ผมเข้านอนโดยไม่ได้อาบน้ำ แมวอ้วนจูดี้เข้ามาคลอเคลีย ผมให้เธอนอนหนุนแขนซ้ายแล้วเอาผ้าห่มคลุมจนถึงส่วนที่คิดว่าเคยเป็นคอของเธอ

ไม่รู้ใครหลับก่อนใคร.

หมายเหตุ : ผู้ควบอาชาแห่งเมืองบราชอฟ เขียนโดย “วิฑูรย์ ทิพย์กองลาศ” [email protected] ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์คอลัมน์ “เบื้องหน้าที่ปรากฏ” วันที่ 6 สิงหาคม 2560

ที่มาของเนื้อหา : www.thaipost.net