ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันพุธ, 24 เมษายน 2567

บทบาทใหม่ “เมธี อรุณ” ลาบานูน สู่ตัวแทนพูดปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

“อย่างน้อยก็จะได้เป็นตัวแทนพูดปัญหาของชาวบ้าน ได้นำเสนอว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรเป็นแบบไหนในสภา เป็นการพูดแทนพี่น้องประชาชน”

นี่คือเป้าหมายแรกๆ ที่ “เมธี อรุณ” หรือที่รู้จักกันในนาม “เมธี ลาบานูน” บอกกับ “ทีมข่าวอิศรา” ถึงการเปิดตัวลงเล่นการเมืองระดับชาติ เตรียมชิงเก้าอี้ ส.ส.นราธิวาส ในสีเสื้อประชาธิปัตย์

การเปิดตัวและตอบคำถามสื่อมวลชนระหว่างการลงพื้นที่ “ออนทัวร์” ของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 15 ต.ค.64 ที่ผ่านมา แม้จะเรียกเสียงฮือฮาจากสังคม แต่ผลสะท้อนกลับที่ เมธี ได้รับ มีทั้ง “ดอกไม้” และ “ก้อนอิฐ”

โดยเฉพาะคำตอบที่ว่า พรรคประชาธิปัตย์ คือ first choice หรือตัวเลือกแรกที่เขาตัดสินใจลงเล่นการเมือง ทำให้คนที่รู้จักเขาบางคนออกอาการรับไม่ได้ เพราะอาจมีความคาดหวังอีกแบบหนึ่ง หรือไม่ก็มองประชาธิปัตย์ในมุมที่ไม่ดีนัก

แต่ เมธี ไม่ได้เห็นแบบนั้น…

“ประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่เก่าแก่ เป็นสถาบันการเมืองที่ถ้าเราจะเรียนรู้ก็อยากเรียนรู้จากจุดเริ่มต้นของพรรคนี้” เขาให้เหตุผล

ความเป็นพรรคเก่าแก่ของประชาธิปัตย์ ทำให้คนรุ่นใหม่บางกลุ่มมองในมุม “เก่า” ไม่ตอบสนองต่อสิ่งใหม่ๆ และที่ผ่านมาก็มีเส้นทางการเมืองลุ่มๆ ดอนๆ แต่ เมธี มองว่านั่นคือเสน่ห์อย่างหนึ่งของพรรคที่มีตราสัญลักษณ์เป็น “พระแม่ธรณีบีบมวยผม”

“ประชาธิปัตย์เหมือนเป็นวัฏจักร มีขึ้นสูง มีลง ในยุคหัวหน้าพรรคบางคนก็ฟีเวอร์มาก ขณะที่บางยุค หัวหน้าพรรคบางคนก็ไม่ได้ฟีเวอร์มาก แต่สิ่งสำคัญคือเป็นสถาบันที่เก่าแก่”

ดูเหมือน เมธี จะให้น้ำหนักประชาธิปัตย์ในแง่ของการเป็น “โรงเรียนการเมืองที่ดี” เพราะในขณะเดียวกันเขาก็ไม่ได้ปฏิเสธกระแสในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งพรรคหน้าใหม่อย่าง “ประชาชาติ” มาแรง ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว (24 มี.ค.62) กวาดที่นั่ง ส.ส.ไปถึง 6 จาก 11 ที่นั่ง

“พรรคประชาชาติเป็นพรรคที่ดีที่มีอาจารย์วันนอร์เป็นหัวหน้า (นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา และอดีตรัฐมนตรีกลายกระทรวง) ซึ่งเป็นไอดอลของผมเลย จริงๆแล้วพรรคการเมืองหลายๆ พรรคมีจุดดี จุดแข็งของแต่ละพรรคอยู่แล้ว”

ตัวตนของ เมธี ในสายตาคนไทยส่วนใหญ่ น่าจะเป็นภาพของนักร้องนำวง “ลาบานูน” ที่มีเพลงฮิตติดหูมากมาย โดยเฉพาะเพลงยาม และเชือกวิเศษ เรียกว่าถ้ามีใครเปิดให้ได้ยินก็ต้องร้องตามได้แบบไม่ขัดเขิน

แต่ในภาพของนักการเมือง คนทั่วไปอาจไม่คุ้นชิน ทั้งๆ ที่ เมธี ยืนยันว่า เขาสนใจการเมืองมานาน และเคยทำงานการเมืองในระดับท้องถิ่นด้วย

“ผมสนใจการเมือง เพราะว่าชอบเห็นการเปลี่ยนแปลง ก่อนหน้านี้ผมเคยเป็นอาจารย์สอนรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ได้สอนนักศึกษาเสมอว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน อยู่ในตัวคนทุกคน เพราะประเทศเราจะเจริญไปข้างหน้าได้ มันหนีไม่พ้นเรื่องการเมือง และถ้าเราได้คนที่เก่งๆ คนที่มีความสามารถเข้ามาบริหารมาจัดการบ้านเมือง มันก็จะเป็นประโยชน์แก่สังคมมาก”

การเมืองในมุมมองของเมธี แจ่มชัดว่าเป็นกระบวนการคัดเลือกคนเข้าไปทำหน้าที่บริหารประเทศ ซึ่งมีทั้งมิติของฝ่ายบริหารจริงๆ คือ “รัฐบาล” และฝ่ายควบคุมการบริหาร คือ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” โดยแรงขับดันที่สำคัญ คือความต้องการพัฒนาจังหวัดบ้านเกิดของตนเอง

ความรู้สึกนี้พัฒนามาจากงาน “จิตอาสา” ที่เขาทำอยู่ก่อนแล้ว และต้องการก้าวต่อไปอย่างมีน้ำหนักมากขึ้น สร้างสิ่งดีๆ ในมิติที่กว้างขวางกว่าเดิม

“เจตนารมณ์ที่ลงเล่นการเมืองระดับชาติ เกิดขึ้นมาประมาณ 2 ปี หลังจากกลับมาอยู่บ้านเกิด แล้วมีความสุขที่ได้อยู่บ้านเกิดเพราะผมออกจากบ้านเกิดตั้งแต่อายุ 15 ปี หลังมาอยู่ก็ได้ออกไปทำกิจกรรมจิตอาสา ช่วยเหลืออะไรที่พอจะช่วยชาวบ้านได้ ชาวบ้านก็ถามว่าทำไมไม่ลง ส.ส. ทำไมไม่ลงเล่นการเมือง ซึ่งเราก็เห็นว่าถ้าเราเล่นการเมืองเราก็จะมีอำนาจ เราสามารถที่จะทำอะไรที่ใหญ่กว่านี้ได้ ดีกว่าที่เราเป็นจิตอาสา อย่างน้อยก็จะได้เป็นตัวแทนพูดปัญหาของประชาชน”

เมธี ตั้งความหวังเอาไว้ว่า หากได้เข้าไปนั่งในสภา สิ่งแรกที่เขาอยากอภิปราย ก็คือเรื่องราวที่บ้านเกิดของตนเอง และปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่พิเศษและมีปัญหาด้านความมั่นคงเรื้อรังมานาน ส่งผลให้ภาพลักษณ์ที่สะท้อนออกไปมีเพียงแง่มุมความรุนแรง เสียงปืน เสียงระเบิด

“ผมอยากนำเสนอว่า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรเป็นแบบไหน แล้วก็อยากนำเสนอว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีอะไรดีๆ มากมาย ต้องพูดในสภาว่าจังหวัดนราธิวาสเป็นแบบไหน เพื่อพูดแทนพี่น้องประชาชน”

เมธี ย้ำว่า การตัดสินใจลงสู่สนามการเมืองของเขา ไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือเรื่องใหญ่ในความรู้สึก แต่เป็นพัฒนาการและความผูกพันที่มีต่อการเมืองมาตลอดทุกห้วงเวลาของชีวิต

“ผมก็ทำงานจิตอาสามาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว เมื่อก่อนก็เป็นอาจารย์สอนวิชารัฐศาสตร์ เคยทำงานการเมืองท้องถิ่น แต่พอเป็นการเมืองระดับชาติ บางคนเลยมองเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งจริงๆ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ผมได้คลุกคลีและมีส่วนร่วมทางการเมืองมาตลอด”

แน่นอนว่าการเป็นนักการเมืองในเชิงอุดมคติ ก็คืองาน “จิตอาสา” รูปแบบหนึ่ง ฉะนั้นการข้ามเส้นจากจิตอาสาที่ลงแรงอย่างเดียวเพื่อช่วยเหลือผู้คน และพัฒนาท้องถิ่นโดยไม่หวังผลตอบแทน มาสู่การเป็นจิตอาสาที่ต้องสร้างคะแนนนิยมเพื่อผ่านสนามแข่งขันเข้าไปนั่งอยู่ในสภาในฐานะ “ตัวแทนประชาชน” จึงเป็นอีกหนึ่งบทบาทที่ท้าทายของ “เมธี อรุณ” หรือ “เมธี ลาบานูน”

น่าสนใจว่า ในสนามแข่งขันทางการเมืองที่เชี่ยวกราก เขาจะสร้าง “เชือกวิเศษ” อย่างไร เพื่อมัดใจคนนราธิวาส เพื่อก้าวไปสู่การเป็นผู้แทนราษฎร…

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา