ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันพฤหัสบดี, 28 มีนาคม 2567

Fuad Kouichi Honda ชาวญี่ปุ่นเข้ารับอิสลาม และหลงใหลการออกแบบอักษรอาหรับ

Fuad Kouichi Honda ชาวญี่ปุ่นที่เข้ารับอิสลาม และหลงใหลการออกแบบอักษรอาหรับวิจิตร

Fuad Kouichi Honda เกิดในกรุงโตเกียว เป็นอาจารย์สอนภาษาอาหรับที่ Daito Bunka University ในประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังเป็นนักออกแบบตัวอักษรอาหรับวิจิตรชั้นนำของโลก ที่ผลงานได้รับหลายรางวัลจากหลายสถาบัน โดยผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขาคือการเขียนข้อความจากอัลกุรอาน

Honda เริ่มเรียนภาษาอาหรับเมื่อหลายสิบปีก่อน และได้ไปทำงานเป็นผู้นำการสำรวจทะเลทรายของซาอุดิอาระเบียเป็นเวลาสามปีในช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งเขาบอกว่าความงามของเนินทรายและการตัวอักษรวิจิตรที่เขาได้เห็นคือส่วนผสมที่จุดประกายให้เขาหลงใหลในศิลปะชนิดนี้

“ผมเข้ารับอิสลามเพื่อให้เข้าถึงแก่นแท้ของความเชื่อนี้และเข้าถึงถึงพระเจ้าให้มากขึ้น ผลงานของผมคือการสื่อสารเรื่องอิสลามและวัฒนธรรมอิสลามในสไตล์ญี่ปุ่น” เขากล่าว และบอกอีกว่าการได้อ่านอัลกุรอานเป็นภาษาอาหรับเป็นแรงบันดาลใจให้เขา ซึ่งเขาอธิบายว่ามันเป็นเหมือนดนตรีที่ปราศจากเสียง

ย้อนกลับไปในปี 1965 Honda ได้เข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีด้านภาษาต่างประเทศที่มหาวิทยาลัยโตเกียว เขาตัดสินใจเรียนภาษาอาหรับเพราะสนใจอารยธรรมโบราณในตะวันออกกลางโดยเฉพาะอียิปต์

“ผมคิดว่า (อาหรับ) เป็นภาษาที่ยากที่สุดในโลก” เขากล่าว “อาจารย์ขอให้ผมอ่านหนังสือภาษาอาหรับเกี่ยวกับ Antarah ibn Shaddad กวีผู้เป็นตำนานของชาวอาหรับก่อนยุคอิสลาม ซึ่งนั่นเป็นเรื่องยากมากสำหรับผม”

หลังสำเร็จการศึกษา Honda ได้เข้าทำงานในบริษัทญี่ปุ่นที่ทำงานร่วมกับรัฐบาลซาอุดิอาระเบียเพื่อสำรวจและทำแผนที่คาบสมุทรอาหรับ เขาจึงมีโอกาสได้เดินทางไปยังซาอุดิอาระเบียในปี 1974 เพื่อทำงานในตำแหน่งล่ามให้กับบริษัท และแผนที่หลายฉบับของบริษัทก็มีการใช้ตัวอักษรอาหรับวิจิตร ซึ่งนั่นทำให้เขาตกหลุมรักศิลปะชนิดนี้ เขาเริ่มฝึกฝนด้วยตัวเองเพื่อสร้างสรรค์งานที่เขาเคยเห็นขึ้นมาใหม่

นักออกแบบตัวอักษรอาหรับวิจิตรคนหนึ่งที่เขาพบขณะทำงานที่ซาอุฯแนะนำให้เขาซื้อหนังสือเกี่ยวกับการออกแบบตัวอักษรอาหรับวิจิตรของ Naji Zein ซึ่งกลายมาเป็นอิทธิพลสำคัญต่องานของเขา

เมื่อกลับมายังโตเกียว Honda ยังคงฝึกคัดลายมือและได้รับการร้องขอจากสถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียเพื่อออกแบบชิ้นงานสำหรับวันชาติ จากนั้นสถานทูตอาหรับอื่นๆ ก็เริ่มขอจากเขาด้วยเช่นกัน จนทำให้เขามาถึงจุดที่ต้องตัดสินใจว่า การออกแบบตัวอักษรอาหรับวิจิตรไม่ได้เป็นเพียงงานอดิเรกสำรับเขาอีกต่อไป

“(เมื่อผมกลับมา) ญี่ปุ่นในช่วงปลายยุคเจ็ดศูนย์ ผมกลายเป็นพนักงานออฟฟิศในบริษัท ผมรู้สึกว่างานประจำไม่เข้ากับชีวิตและความคิดของผม ผมจึงตัดสินใจลาออกและเริ่มสอนภาษาอาหรับ”

เขาเสริมว่าแรงจูงใจหลักในการลาออกของเขาคือความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะ “ใช้ชีวิตอย่างอิสระ” และเรียนรู้การออกแบบตัวอักษรอาหรับวิจิตร

สิ่งหนึ่งที่ Honda ในตอนนั้นอาจไม่รู้คือ ความคิดของเขาได้เดินทางผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ช่วงเวลาที่เขาอยู่ในซาอุดิอาระเบียไม่ได้เพียงหล่อหลอมและเชื่อมโยงจิตวิญญาณของเขาเข้ากับประเทศและวัฒนธรรมซาอุดิอาระเบียเท่านั้น แต่ยังรวมถึงศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมอีกด้วย

Honda สนใจศาสนาอิสลามตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย และความสนใจนั้นได้หยั่งรากลึกยิ่งขึ้นเมื่อเขาได้รู้จักเพื่อนมุสลิมในซาอุดิอาระเบีย และเมื่อเขาได้อ่านคัมภีร์กุรอานและหนังสือศาสนาอื่นๆ หลังจากกลับมายังบ้านเกิด ลาออกจากงาน และเริ่มเรียนรู้ภาษาและการออกแบบตัวอักษรอาหรับวิจิตรอย่างเข้มข้นมากขึ้น เขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม

Honda เขารับอิสลามที่ศูนย์อิสลามในโตเกียว และใช้ชื่อภาษาอาหรับว่า Fuad ที่หมายถึง “หัวใจ” ซึ่งเขาเชื่อว่ามันเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ระหว่างหัวใจของเขากับพระเจ้า

ในปี 1988 Honda ได้รับคำเชิญให้ไปแสดงผลงานในต่างประเทศเป็นครั้งแรก โดยครั้งนั้นเขานำผลงานไปยังกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก เพื่อเข้าร่วมการประชุมวิชาการด้านการออกแบบตัวอักษรอาหรับวิจิตรระดับนานาชาติ ร่วมกับนักออกแบบตัวอักษรอาหรับวิจิตรอีกราว 180 คนจากหลายประเทศ ซึ่งที่นั่นเขาได้พบกับ Hasan Chalabi นักออกแบบตัวอักษรอาหรับวิจิตรชาวตุรกีชื่อดัง

หลังจากได้พบกัน Honda จึงได้ขอให้ Chalabi ช่วยสอนเพิ่มเติมให้ “เขาแก้งานผมเยอะมาก” Honda กล่าว แต่การแก้งานก็ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป และหลังจากผ่านไปราวหนึ่งทศวรรษของการเรียน Honda ก็ได้ใบประกาศนียบัตร

หลังได้ใบประกาศนียบัตร Honda ก็มุ่งมั่นได้สร้างสรรค์งานออกแบบของตนเองและเข้าร่วมแสดงผลงานในหลายนิทรรศการ แต่เขาบอกว่าการเลียนแบบงานเก่าทำให้เขารู้สึก “ถูกจำกัดด้วยขนบธรรมเนียมดั้งเดิม”

“วันหนึ่ง ขณะผมกำลังอ่านอัลกุรอาน รูปทรงที่คลุมเครืออย่างวงกลมและสามเหลี่ยมก็แวบเข้ามาในหัว” เขาเล่า “ผมรู้สึกว่านี่เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบตัวอักษรอาหรับวิจิตรรูปแบบใหม่ ที่สะท้อนถึงความหมายของอัลกุรอาน – ดังนั้นฉันจึงเริ่มทำอย่างนั้น”

Honda เน้นย้ำว่าเขาเคารพมรดกแห่งการออกแบบตัวอักษรอาหรับวิจิตรเป็นอย่างมาก ซึ่งเขาเชื่อว่ามัน “เป็นศิลปะชั้นสูงของโลกในแง่ของคุณค่าด้านสุนทรียะ” แต่เขาปรารถนาที่จะสร้างสไตล์ที่เป็นส่วนตัวมากขึ้นสำหรับตัวเขาเองด้วยพื้นหลังแบบใหม่ ซึ่งเป็นรูปแบบที่มี “ความหมายทางปรัชญา” เพื่อสร้างมุมมองใหม่ให้กับศิลปะโบราณ
.
สีมีบทบาทสำคัญในงานของ Honda โดยเฉพาะอย่างยิ่งสีน้ำเงินและสีทอง โดยสีน้ำเงินแสดงถึงท้องฟ้า น้ำ และความเป็นนิรันดร์ ส่วนสีทองสะท้อนถึงพระเจ้า “คำศัพท์เกี่ยวกับน้ำมีความหมายที่ลึกซึ้งมาก” เขาอธิบาย “น้ำมีความสำคัญในอัลกุรอาน เพราะมันมีรูปร่างที่แตกต่างกันในทุกขณะ และสิ่งนี้แสดงให้เห็นในงานออกแบบของผม”

Honda เพิ่มมิติให้กับงานของเขาผ่านการลงสีทีละนิด ซึ่งเป็นเทคนิคที่จิตรกรชาวญี่ปุ่นใช้กันอย่างแพร่หลาย หนึ่งในผลงานชิ้นโปรดของเขาคือภาพทะเลทรายสีฟ้าพร้อมโองการจากอัลกุรอานบนเนินทราย เขาได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างงานชิ้นนี้จากการได้ไปเยี่ยมชม Rub’ al Khali หรือ Empty Quarter ของซาอุดิอาระเบีย และสังเกตเห็นว่าเนินทรายเปลี่ยนสีไปตามเวลาและรูปร่างที่เปลี่ยนไป มันชวนให้เขานึกถึงคลื่นและลายเส้นละเอียดอ่อนบนพื้นผิวของพวกมัน จนกลายเป็นงานออกแบบตัวอักษรอาหรับวิจิตรจากคัมภีร์กุรอานดังกล่าว

ปัจจุบัน Honda ยังคงหลงใหลในงานออกแบบตัวอักษรอาหรับวิจิตร เขาได้ตีพิมพ์หนังสือของตัวเอง ได้ไปสอนและบรรยายในต่างประเทศ รวมถึงยังก่อตั้งสมาคมออกแบบตัวอักษรอาหรับวิจิตรแห่งประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย

เรียบเรียงโดย Halal Life Magazine
ที่มา : Fuad Honda, the Japanese Muslim reinterpreting Arabic calligraphy – https://arab.news/zacss

#halal_life
#เชื่อมโยงผู้คนด้วยเรื่องราว

Halal Life Magazine