วันเสาร์ 10 พฤษภาคม 2568
ติดตามเว็บไซต์
หน้าแรก > ข่าวประจำวัน > คอลัมน์ รายงานพิเศษ : หลากแง่มุมกรณีตรวจสอบคุณภาพข้าว

คอลัมน์ รายงานพิเศษ : หลากแง่มุมกรณีตรวจสอบคุณภาพข้าว

หมวดหมู่ : ข่าวประจำวัน เปิดอ่าน 75 ครั้ง

คอลัมน์ รายงานพิเศษ

เสียงเรียกร้องของพรรคเพื่อไทยและเจ้าของโรงสีบางส่วนที่ให้รัฐบาลตรวจสอบคุณภาพข้าวในโครงการรับจำนำข้าว

เนื่องมาจากข้อสงสัยมีการนำข้าวคุณภาพดีมาขายถูกในรูปของอาหารสัตว์ 

ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล โดย พล.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ ตั้งข้อสังเกตว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวในช่วงใกล้วันตัดสินคดีโครงการรับจำนำข้าว ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ และพรรคเพื่อไทย

เจตนาเพื่อหวังผลทางคดีความหรือเรียกร้องความเห็นใจ

มีความเห็นอีกหลายแง่มุมจากนักวิชาการและผู้ส่งออก ในเรื่องเดียวกัน

บุญเรือง คัชมาย์ 

ผู้เชี่ยวชาญภาษาวัฒนธรรมชุมชน วิทยาลัยชุมชน สระแก้ว

ข้าวที่เก็บในโกดังอาจจะเก็บไว้อาจเป็นเวลา 5 หรือ 10 ปี ก็เสื่อมสภาพได้โดยธรรมชาติ รัฐบาลก็ต้องขายไป เพราะไม่สามารถควบคุมคุณภาพของข้าวให้คงทนอยู่อย่างเดิมได้ 

ที่บางคนบอกว่าข้าวยังดีเพราะคง ไม่ได้ดูข้อเท็จจริง จึงคิดว่าคุณภาพยังเหมือน ครั้งแรกที่นำเข้าเก็บในโกดัง แต่เมื่อไปตรวจแล้วไม่ดีจึงขายเป็นอาหารสัตว์

ต้องมองในแง่ของสัจธรรมด้วยว่าธรรมชาติย่อมเปลี่ยนแปลง อาจไม่ได้คุณภาพเหมือนเมื่อก่อน

นักการเมืองย่อมมองในแง่การเมือง การกระทำทุกอย่างจึงเป็นไปเพื่อการเมือง ที่ต้องทำให้ฝ่ายตรงข้ามพ่ายไป มีการเอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่เพื่อน

เช่นเดียวกับโฆษกรัฐบาลที่ถูกมองว่าพยายามเชื่อมโยงเรื่องนี้เป็นการเมือง เพราะโฆษกรัฐบาลเองก็อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของหัวหน้ารัฐบาล จะพูดอะไรเกินไปไม่ได้ ต้องพูดให้โน้มเอียงกับสิ่งที่หัวหน้ารัฐบาลพูด

ต่างฝ่ายต่างเป็นการเมืองทั้งคู่ แต่บางครั้งการเมืองก็มีคนทุจริตอยู่ในตัว หรือมีอคติอยู่ในตัวเอง

หากเป็นไปได้และคิดว่าจะให้สังคมคลายความสงสัย ควรเปิดให้มีการตรวจสอบคุณภาพข้าวใหม่ และควรแสดงให้เห็นวิธีการตรวจสอบว่าจะทำแบบใดและให้ใครมาตรวจสอบ และจะตรวจสอบกี่โกดัง ตรงนี้ต้องทำให้ชัดเจน

เชื่อว่าหากมีการตรวจสอบใหม่ผลดีจะเกิดกับโครงการอื่นๆ ของรัฐบาลด้วย

ส่วนที่อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศระบุว่า ไม่สามารถตรวจสอบได้ เพราะข้าวผ่านการประมูลไปแล้วนั้น คิดว่าไม่น่าถูกต้อง เพราะจะให้ทุกอย่างเป็นการเมืองไม่ได้ ต้องมองหาว่าตรงไหนคือความยุติธรรม จิตใจของผู้ตรวจสอบต้องเที่ยงธรรม ที่สำคัญต้องมีคนที่จะยืนยันความยุติธรรมเพื่อชี้ขาดลงไป 

สำหรับข้อสังเกตที่ว่าอาจมีกลุ่มคนที่ต้องการยื้อไม่ให้มีการตรวจสอบข้าวใหม่ เนื่องจากคนเหล่านี้ต้องร่วมจ่ายค่าเสียหายด้วย ก็มีส่วน เพราะทุกอย่างมีความเกี่ยวข้องกันหมด

ขณะที่การออกมาเรียกร้องให้ตรวจสอบคุณภาพข้าว เป็นการดิ้นรนเพื่อให้หลุดพ้นจากความเป็นไปต่างๆ เป็นเรื่องธรรมดาของคนถูกกล่าวหาที่ต้องหาทางแก้ปัญหา แต่จะแก้อย่างถูกทางและยุติธรรมหรือไม่คือสิ่งที่ต้องคำนึงถึง

อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐบาลจริงใจต้องเอาความสุจริตเที่ยงธรรมมาพูดกัน ไม่ใช่เอาเรื่องที่รัฐบาลถูกต้องหรือพรรคเพื่อไทยถูกต้องมาพูดเท่านั้น

แต่เรื่องนี้ต่างคนต่างมีมุมมอง หาทางที่จะช่วยตัวเอง รัฐบาลก็ต้องการชื่อเสียง ส่วนอีกฝ่ายก็ต้องการรักษาผลประโยชน์ที่จะช่วยตัวเองได้

นิพนธ์ พัวพงศกร

นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) 

การเรียกร้องให้ตรวจสอบคุณภาพข้าว ทำไมเพิ่งมาทำตอนนี้ เพราะเมื่อครั้งที่รัฐบาลเข้ามาดูแลและตรวจสอบคุณภาพข้าวในโกดัง ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาประมาณ 100 ทีม เพื่อตรวจสอบและจัดเกรดข้าวในโกดังของรัฐ เพื่อทำการขายตามคุณภาพ

ทีมงานมีทั้งภาครัฐและหอการค้าร่วมทำงาน เมื่อตรวจสอบเสร็จ ก็ออกใบอนุญาตตามคุณภาพของข้าว

ต้องถามกลับไปว่า โกดังข้าว ทรัพย์สินของรัฐบาล ทำไมปล่อยให้เน่าตั้งแต่รัฐบาลก่อน

เมื่อรัฐบาลชุดคสช. เข้ามาก็ต้องเร่งดำเนินการเคลียร์เรื่องนี้ ไม่ให้สต๊อกข้าวเป็นภาระกับรัฐบาล โดยเฉพาะงบประมาณที่จะดูแล

แต่เมื่อฝากโกดังข้าวให้เอกชนหรือโรงสีดูแลแล้ว ทำไมทำข้าวเน่า 

ในสมัยคสช.ตรวจสอบครั้งแรก มีการทักท้วงว่า หากนำข้าวดีไปขายในคุณภาพข้าวเพื่อเป็นอาหารสัตว์จะเสียหายกับรัฐบาลและประเทศชาติ กระทรวงพาณิชย์ก็พยายามเข้าตรวจสอบและแยกกองข้าวดีออกจากข้าวเน่า

เมื่อดำเนินการได้ไม่นาน ไม่สามารถทำงานต่อได้ หากให้แยกข้าวดีออกจากข้าวเสีย สิ่งที่ต้องใช้คืองบประมาณในการจ้างแรงงานในการตรวจ-คัดแยก กำลังแรงงานก็ไม่พอ แถมพื้นที่ในการแยกกองก็ไม่มี

สำคัญที่สุดจำนวนข้าวในโกดังรัฐบาลมหาศาลต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ และคัดแยกประมาณ 12 ปีถึงจะแล้วเสร็จ 

เมื่อคำนวณผลได้ไม่น่าจะคุ้มกับสิ่งที่เสียไป การสุ่มตรวจตามกฎระเบียบที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดจึงเป็น เรื่องที่ดีที่สุดและเร็วที่สุดในการจัดการกับสต๊อกข้าวของรัฐบาล ไม่ให้กระทบกับผลผลิตข้าวในตลาดในระยะยาว

หากจะให้พูดเรื่องการเมืองเรื่องการทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สำหรับโครงการรับจำนำข้าวมันมีตลอด คงไม่ขอแสดงความคิดเห็น

แต่เรื่องการตรวจสอบคุณภาพข้าวของรัฐบาล เชื่อว่าน่าจะทำได้ดีพอสมควร มีนักกฎหมายดูแล มีความรอบคอบอยู่มาก

กิตติ ลิ่มสกุล

คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น 

การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 เหตุผลอย่างหนึ่งที่คสช.ระบุ คือ โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่แล้วก่อให้เกิดความเสียหาย โดยตอนนั้นยังไม่มีการปิดบัญชี แต่ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้นมากว่า 100 ชุด

กระบวนการตรวจสอบดำเนินไปโดยไม่อ้างอิงตามหลักวิชา ลูบหน้าปะจมูก ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ในฐานะผู้รับผิดชอบตอนนั้น ไม่ใช่บุคคลที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้โดยตรง ผลการตรวจสอบที่ออกมาก็ไม่มีบัญชีที่ชัดเจน 

ใช้รูปแบบคือให้ทหารไปสุ่มแทงกระสอบข้าวตามโกดังแต่ละพื้นที่อย่าง เร่งรีบ เกณฑ์ขั้นต่ำการสุ่มตรวจควรอยู่ที่ 10 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งโกดังไหนมีสต๊อกเยอะ จำนวนแทงสุ่มต้องเพิ่มสัดส่วนตาม ลำดับด้วย

ก่อให้เกิดการตั้งคำถามในแง่การถ่วงดุลของการตรวจสอบ ที่ควรตั้งคณะกรรมการกลาง ในฐานะบุคคลที่สามร่วมติดตามด้วย เพื่อให้มีมาตรฐานร่วมกัน ไม่ใช่ให้แค่ฝ่ายตรวจสอบวางเกณฑ์อยู่ฝ่ายเดียว

เมื่อข้าวยังคงเก็บอยู่ในโกดัง ก็ย่อมเสื่อมสภาพไปตามเวลา ระหว่างนั้นก็มีการขอซื้อจากเอกชนอยู่เรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นข้าวดี เกรดเอ, บี, ซี ที่เป็นอาหารสำหรับคน แต่ทางรัฐบาลยังไม่ขาย จนมาช่วงท้ายของรัฐบาลคสช. ที่ต้องการปิดบัญชีข้าวจึงเริ่มมีการระบาย

นำไปสู่การตรวจสอบของส.ส.พรรคเพื่อไทยในภาคอีสาน ที่ทักท้วงใน 2 ประเด็น คือ 1.ทำไมเมื่อเข้าไปขอซื้อข้าวดีเกรดซี ในราคา 11 บาท จึงไม่ขาย แต่กลับถูกนำมาประมูลโดยตีเป็นข้าวเสียสำหรับอาหารสัตว์ โดยราคาสุดท้ายเหลือเพียง 5 บาท จนตั้งข้อสงสัยว่า ส่วนต่าง 6 บาท หายไปไหน

2.กรณีโกดังที่จ.อ่างทอง และสุพรรณบุรี มีการยืนยันว่าข้าวไม่เสียหาย เป็นข้าวดีเกรด ซี ทั้งยังคละกับข้าวดีเกรดอื่น สามารถคัดแยกแบ่งขายในราคาที่ต่างกันได้อีกด้วย

การตรวจสอบพื้นที่บริษัทเล็กรายหนึ่งที่ชนะประมูลข้าวดีราคาอาหารสัตว์ราว 3 หมื่นตัน ก็พบเพียง 5 พันตัน หากคำนวณระยะเวลาการแปรรูปข้าวเหล่านี้ เพื่อบรรจุขายพบว่า ต้องใช้เวลาถึง 20 ปี ทำให้ไม่พบความสมเหตุสมผล ที่บริษัทเล็กจะประมูลข้าวขนาดนี้

แน่นอนบริษัทนี้สามารถนำข้าวส่วนที่เหลือไปขายต่อก็ได้ แต่ไม่มีใครรู้ว่าข้าวเหล่านั้นไปอยู่ที่ไหนกับใคร หรือถูกนำบรรจุเวียนเข้าไปขายในตลาดแล้วหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันต่อบรรดาเอกชนเอง ที่ต้องทำราคาแข่งกับผู้ที่ได้ข้าวมาในราคาต่ำกว่า ส่วน ผู้บริโภคก็ต้องซื้อข้าวถูกในราคาแพง

ในวงการข้าวรู้เบื้องหลังเรื่องเหล่านี้ แต่อาจเปิดเผยไม่ได้ เพราะจะเกิดปัญหาด้านคดีความ

ที่สำคัญการระบายข้าวเพื่อปิดบัญชี ตัวเลขส่วนต่างความเสียหายทั้งหมดเหล่านี้ จะถูกนำไปคิดรวมกันเป็นชนักปักหลังให้รัฐบาลที่ผ่านมา

กระบวนการทั้งหมดนี้เปรียบเสมือนการต่อสองแล้วเข้าฮอส หวังชนะทันที

เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ 

นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าว

ขอพูดในหลักการของการสุ่มตรวจคุณภาพข้าวว่าได้ถือปฏิบัติมาอย่างไรตั้งแต่ในอดีตในฐานะที่เป็นผู้ส่งออกมากว่า 30 ปี 

ก่อนอื่นสังคมต้องเข้าใจก่อนว่าการสุ่มตัวอย่างพืชไร่ต่างจากการตรวจสอบสินค้าอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ที่ใช้วิธีการตรวจสอบทุกคันมีมาตรฐานกำหนดชัดเจน

แต่พืชไร่ทุกชนิดไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ จึงต้องมีการสุ่มตรวจ 3% ของปริมาณทั้งหมดในโกดัง ผลตัวอย่างที่สุ่มตรวจออกมาเป็นอย่างไรก็ต้องยึดตามนั้น

แน่นอนว่าในแต่ละโกดังย่อมมีทั้งข้าวคุณภาพดี คุณภาพไม่ดี ด้อยคุณภาพ ข้าวผิดประเภทปะปนกันอยู่ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะต้องยึดตามผลของ 3% ของตัวอย่างที่สุ่มออกมาตรวจ

เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ว่าผู้ตรวจสอบจะตรวจสอบข้าวทั้งหมด ทุกกระสอบในโกดัง เพราะค่าใช้จ่ายมหาศาล

หลักเกณฑ์การตรวจสอบข้าวในรัฐบาลชุดก่อน ก่อนที่จะนำข้าวเข้าโกดังก็ไม่ได้ตรวจทุกกระสอบเช่นกัน รัฐบาลชุดปัจจุบันเมื่อจะขายข้าวก็สุ่มตรวจอีกเช่นกัน เมื่อผลออกมาอย่างไรก็ยึดตามนั้น

หากต้องตรวจสอบครบทุกกระสอบ ข้าวในโกดังในโครงการรับจำนำเริ่มแรกมี 18 ล้านตัน หรือ 180 ล้านกระสอบ ต้องใช้พื้นที่ราว 5,000 ไร่ ในการจัดเก็บ แรงงานในการขนย้าย แยกกองข้าวอีกไม่ต่ำกว่าวันละ 1,000-2,000 คน ค่าจัดเก็บ ดูแลรักษาอีก ที่ผ่านมาก็เฉลี่ยปีละ 20,000 ล้านบาท

ดังนั้นรัฐบาลชุดนี้ถึงหาวิธีที่รวดเร็ว กระทบต่องบประมาณภาครัฐให้น้อยที่สุดในการระบายข้าวออกไปไม่ให้เป็นภาระของรัฐบาล และราคาข้าวใหม่ที่จะออกมา 

สังเกตว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำไมราคาข้าวถึงไม่กระเตื้อง เพราะเรามีสต๊อกข้าวเหลือจำนวนมาก คอยกดราคาข้าวในประเทศ แต่พอเริ่มระบายออกไปและส่งสัญญาณว่าประเทศไทยจะไม่เหลือข้าวในสต๊อกแล้ว ราคาข้าวในปีนี้ก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

เห็นด้วยกับที่อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ยืนยันว่าจะไม่ตรวจสอบคุณภาพข้าวตามที่มีการเรียกร้องอีก เพราะหากตรวจสอบโกดังนี้ซ้ำก็ต้องมีการเรียกร้องให้ตรวจสอบโกดังอื่นๆ อีก ทำให้การระบายข้าวชะงักแล้วภาระค่าใช้จ่ายจะยังมีต่อไปอีก ทำให้ปัญหาไม่จบและคุณภาพข้าวยิ่งจะเสื่อมไปเรื่อยๆ จากที่เป็นอยู่

การที่มีคนออกมาบอกว่ารัฐบาลชุดนี้ขายข้าวขาดทุนนั้นในฐานะผู้ส่งออกให้ความเห็นมาตลอดว่ารัฐบาลขาดทุนตั้งแต่วันแรกที่รัฐบาลชุดก่อนซื้อข้าวจากชาวนามาเก็บไว้ในโกดังแล้ว เพราะมีค่าใช้จ่ายมากมาย

และการขายข้าวแต่ละครั้ง เราไม่สามารถกำหนดราคาขายได้เองอยู่แล้ว มีแต่จะกดราคาให้ข้าวในท้องตลาดตกต่ำลงไป จึงอยากให้คนที่ไม่เข้าใจระบบการตรวจสอบพืชไร่ได้เข้าใจการระบายข้าวของรัฐบาลด้วย 

สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่คือการจบปัญหาหยุดค่าใช่จ่ายที่เกิดขึ้นให้เร็วที่สุด ยังคิดไม่ออกว่าจะมีวิธีไหนที่จะทำได้นอกจากวิธีนี้

และการขายข้าวแต่ละครั้งรัฐบาลจะเปิดโอกาสให้ผู้สนใจซื้อไปตรวจสอบคุณภาพข้าวซ้ำนานถึง 7 วัน ก่อนตัดสินใจประมูล ซึ่งผู้ประกอบการก็พร้อมรับความเสี่ยงนั้นๆ เพราะถือว่าการสุ่มตรวจได้มาตรฐานสากล

แต่สิ่งที่อยากให้ภาครัฐเข้มงวดคือการติดตามหลังการระบายข้าวว่าผู้ที่ชนะ การประมูลนำข้าวไปเข้าระบบตามวัตถุประสงค์ของการประมูลหรือไม่

ทุกคนต้องเข้าใจจุดนี้ก่อนที่จะโจมตีหรือโยงไปเรื่องการเมือง

เปิดอ่าน 75 ครั้ง

ข่าวล่าสุดของหมวดหมู่ ข่าวประจำวัน

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " คอลัมน์ รายงานพิเศษ : หลากแง่มุมกรณีตรวจสอบคุณภาพข้าว "

ปิดการแสดงความคิดเห็น