ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันศุกร์, 19 เมษายน 2567

ชุ่ย! เสิร์ฟข้าวคลุกกะปิหมูหวาน แปะฮาลาล ให้นักศึกษามุสลิมในสถานกักตัวของรัฐ

ข้าวคลุกกะปิติดป้ายฮาลาล มื้อเย็นของวันพฤหัส 4 ก.พ. ในโรงแรมแห่งหนึ่งย่านนานา ซึ่งเป็นสถานกักตัวของรัฐ ด้วยความไม่แน่ใจว่าอาหารที่ได้รับมาฮาลาลจริงหรือไม่ ทำให้นักศึกษามุสลิมชุดหนึ่งเลือกที่จะไม่รับประทานอาหารของโรงแรม หลังมีนักศึกษาอีกชุดได้รับข้าวคลุกกะปิหมูหวาน

นักศึกษามุสลิมเดินทางจากต่างประเทศเข้ากักตัวที่โรงแรมแห่งหนึ่งย่านนานา ซึ่งเป็นสถานกักตัวของรัฐ (State Quarantine) ได้รับอาหารกล่องเป็นข้าวคลุกกะปิหมูหวานที่ติดป้ายฮาลาล

นักศึกษาชายมุสลิมคนหนึ่งบอกกับผู้สื่อข่าวเดอะพับลิกโพสต์ว่า ตนและเพื่อนนักศึกษาชุดหนึ่ง เดินทางกลับมาจากประเทศหนึ่งในตะวันออกกลาง ถึงประเทศไทยเมื่อช่วงเช้าของวันพฤหัส 4 ก.พ. ที่ผ่านมา และเข้ากักตัวที่โรงแรมแห่งหนึ่งย่านถนนนานา สุขุมวิท ซึ่งเป็นสถานกักตัวของรัฐ

ในมื้อเที่ยงของวันดังกล่าวได้รับอาหารกล่องจากทางโรงแรมที่แปะป้ายฮาลาลเป็นข้าวผัดพริกไก่ ซึ่งทุกคนต่างก็รับประทานอาหารที่ได้รับมาโดยไม่เฉลียวใจ

อย่างไรก็ตามในมื้อเย็นของวันเดียวกัน ทางโรงแรมได้ส่งอาหารกล่องมาเช่นเดิม แต่ปรากฏว่า ในไลน์กลุ่มของผู้เข้ากักตัว มีนักศึกษามุสลิมบางคนซึ่งเดินทางมาจากอีกประเทศในตะวันออกลาง ได้โพสต์ถามเจ้าหน้าที่โรงแรมซึ่งเป็นแอดมินกลุ่มไลน์ ว่าอาหารที่ตนได้รับนั้นสงสัยว่าจะเป็น “หมู” ซึ่งรับการยืนยันจากแอดมินกลุ่มว่า เป็นหมูจริงๆ

โรงแรมขออภัย และแจ้งว่าเป็นความผิดพลาด ให้คำมั่นว่าจะแจ้งเจ้าหน้าที่เช็คให้ละเอียด พร้อมนำอาหารที่เป็นไก่มาเปลี่ยนให้แทน

ด้วยความเคลือบแคลงต่อการจัดการของโรงแรมและไม่แน่ใจว่าอาหารที่ได้รับมาฮาลาลจริงหรือไม่ นักศึกษาชุดนี้จึงเลือกที่จะไม่รับประทานอาหารของโรงแรมตั้งแต่นั้น นักศึกษาที่ขอให้ปกปิดตัวตนกล่าวกับเดอะพับลิกโพสต์

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามข้อมูลไปยังนักศึกษามุสลิมอีก 2 ราย ซึ่งเดินทางมาจากประเทศในตะวันออกลางเช่นกัน แต่ละคนประเทศกับนักศึกษาชุดแรก พวกเขาบอกว่า เครื่องบินที่พวกเขาเดินทางมาถึงประเทศในช่วงบ่ายของวันที่ 4 ก.พ. และเข้ากักตัวโรงแรมเดียวกันกับนักศึกษาชุดแรก

มื้อแรกของพวกเขาในสถานกักตัวของรัฐแห่งนี้เป็นอาหารมื้อเย็น ที่ใส่กล่องมาให้โดยแปะ “ป้ายฮาลาล” เขียนด้วยลายมือ แต่กลับมีนักศึกษามุสลิม 2 รายที่ได้รับ “ข้าวคลุกกะปิหมูหวาน” ต่างจากเพื่อนๆ นักศึกษาที่มาเครื่องบินเที่ยวกันซึ่งมีราว 10-20 คน ที่ได้รับข้าวคลุกกะปิไก่หวาน

หนึ่งในสองนักศึกษาบอกกับเดอะพับลิกโพสต์ว่า ตนไม่ต้องการให้เรื่องนี้กลายเป็นข่าวหรือเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อทางโรงแรมผิดพลาดและขอภัย หลังจากนั้นทางโรงแรมก็ได้แก้ไขแล้วไม่มีอาหารที่เป็นหมูถูกเสิร์ฟให้นักศึกษามุสลิมอีก ตนก็อยากให้เรื่องจบแค่ตรงนั้น

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเดอะพับลิกโพสต์ได้รับข้อมูลว่า ในอาหารมื้อเย็นของวันเสาร์ ที่ 6 ก.พ. ก็มีความผิดพลาดเสิร์ฟหมูให้นักศึกษามุสลิมอีกแล้ว จนนักศึกษาคนหนึ่งต้องมาแจ้งขอเปลี่ยนในไลน์กลุ่มอีก

ทั้งนี้ อาหารฮาลาล (Halal Food) หมายถึง อาหารหรือผลิตภัณฑ์ซึ่งอนุมัติตามบัญญัติศาสนาอิสลามให้มุสลิมบริโภคหรือใช้ประโยชน์ได้ มีรายละเอียดยิบย่อย ไม่ใช่แค่ “ไม่มีหมู” ตามที่บางคนอาจเข้าใจผิด

ข้อมูลจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติระบุว่า อาหารฮาลาลจะต้องมีกระบวนการผลิตที่ถูกต้องตามข้อบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม เช่น

หน้าที่ของผู้เชือดสัตว์ตามศาสนบัญญัติเพื่อให้ได้เนื้อสัตว์ที่ฮาลาล มีดังนี้
  • ต้องนับถือศาสนาอิสลาม
  • สัตว์ที่จะเชือดนั้น ต้องเป็นสัตว์ที่รับประทานได้ตามหลักศาสนาอิสลาม
  • ต้องไม่ปะปนสัตว์ที่จะเชือดกับสัตว์ต้องห้ามในระหว่างขนส่ง
  • ต้องไม่ทารุณสัตว์ก่อนการเชือด ตลอดจนอุปกรณ์ที่ใช้ในการเชือดต้องมีความคม
  • ให้ผู้เชือดกล่าวพระนามของพระผู้เป็นเจ้า ขณะเริ่มทำการเชือด โดยต้องเชือดในคราวเดียวกันให้แล้วเสร็จ โดยไม่ทรมานสัตว์
  • ต้องเชือดให้หลอดลม หลอดอาหารและเส้นเลือดข้างลำคอของสัตว์ที่ถูกเชือด ขาดออกจากกันอย่างสิ้นเชิง โดยสัตว์จะต้องตายเพราะการเชือดเท่านั้น สัตว์นั้นต้องตายสนิทเองก่อน จึงจะนำไปดำเนินการอย่างอื่นต่อได้
ผู้ประกอบการ หรือผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาล มีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
  • รักษาอุปกรณ์ในการผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาลให้สะอาดถูกต้องตามศาสนบัญญัติ ตลอดจนไม่ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวร่วมกับของต้องห้ามตามศาสนบัญญัติ
  • วัตถุดิบหลักในการผลิต ตลอดจนเครื่องปรุงอื่น ๆ ต้องระบุแหล่งที่มาอันน่าเชื่อถือได้ว่า “ฮาลาล” โดยไม่แปดเปื้อนกับสิ่งต้องห้าม
  • วัตถุดิบที่ได้จากสัตว์ต่าง ๆ นั้น ต้องเป็นสัตว์ที่ศาสนาอิสลามอนุมัติ และหรือได้เชือดตามศาสนบัญญัติ
  • เจ้าหน้าที่ที่ควบคุมการผลิต หรือปรุงผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ต้องเป็นมุสลิม
  • ในระหว่างการขนย้าย ขนส่ง หรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์ฮาลาลนั้น ต้องไม่ปะปนผลิตภัณฑ์ฮาลาลนั้น ต้องไม่ปะปนผลิตภัณฑ์ฮาลาลกับสิ่งต้องห้ามตามศาสนบัญญัติ

ที่มา: พับลิกโพสต์