วันเสาร์ 10 พฤษภาคม 2568
ติดตามเว็บไซต์
หน้าแรก > ข่าวประจำวัน > ม.อ.ปัตตานีเตรียมจัดสัมมนาการศึกษาอิสลาม ครั้งที่ 4 เชิญนักวิชาการ 40 ประเทศเข้าร่วม

ม.อ.ปัตตานีเตรียมจัดสัมมนาการศึกษาอิสลาม ครั้งที่ 4 เชิญนักวิชาการ 40 ประเทศเข้าร่วม

หมวดหมู่ : ข่าวประจำวัน เปิดอ่าน 117 ครั้ง

 

ปัตตานี – ม.อ.ปัตตานี เชิญนักวิชาการ ผู้บริหารประเทศ และปราชญ์มุสลิมจาก 40 ประเทศทั่วโลก ร่วมสัมมนาการศึกษาอิสลาม : พลังแห่งการขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ในวันที่ 24-26 กรกฎาคม 2560 ณ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

วันนี้ (19 ก.ค.) ที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศาสตราจารย์ ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ที่ปรึกษาผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา ดร.ยูโซะ ตาเละ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา และรองศาสตราจารย์อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี ได้ร่วมกันแถลงข่าวการจัดสัมมนา “การศึกษาอิสลาม : พลังแห่งการขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข” ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 24-26 กรกฎาคม 2560 ณ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

โดยมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา ซึ่งเป็นการจัดการสัมมนา ครั้งที่ 4 ในรอบ 8 ปี โดยในครั้งนี้มีนักวิชาการ ผู้บริหารประเทศ และปราชญ์มุสลิมจาก 40 ประเทศทั่วโลก ร่วม 400 คน ร่วมการสัมมนา

รองศาสตราจารย์ ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงความเป็นมาของการสัมมนา และวัตถุประสงค์ของการจัดสัมมนาครั้งนี้ ความว่า สืบเนื่องจากการจัดสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ 3 ครั้งที่ผ่านมา โดยครั้งแรก เมื่อปี 2553 นักวิชาการด้านอิสลามศึกษา จาก 16 ประเทศ ได้ร่วมกันกำหนด “ปฏิญญาปัตตานี”

การสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ ครั้งที่ 2 จัดขึ้นเมื่อปี 2556 ได้ยกระดับการจัดการศึกษาของวิทยาลัยอิสลามศึกษาให้ก้าวหน้าสู่นานาชาติ สอดคล้องต่อนโยบายของรัฐบาลที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาอาเซียน ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนมุสลิม และสร้างสังคมสันติสุข และสมานฉันท์ที่ยังยื่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้

การสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ ครั้งที่ 3 เมื่อปี 2558 ได้กำหนดให้วิทยาลัยอิสลามศึกษา เป็นสถาบันที่พร้อมในการบริการวิชาการแก่ชุมชนทั้งระดับนักเรียน นักศึกษา บัณฑิต รวมทั้งคณาจารย์ต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อให้คนเหล่านั้นสามารถเข้าใจถึงวิถีของอิสลามสายกลาง สามารถที่จะไตร่ตรองสิ่งต่างๆ เพื่อยับยั้งสิ่งที่ไม่ดีจนสามารถสร้างความสงบร่มเย็นแก่ชุมชนได้

จากผลของการสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา วิทยาลัยอิสลามศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จึงได้เอาแนวคิด หลักการ และวิธีการต่างๆ ต่อยอด จัดโครงการการสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ “การศึกษาอิสลาม : พลังแห่งการขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข” (Islamic Education as a Driving Force for a Peaceful Coexistence and Development)

เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการ วิจัย และการแลกเปลี่ยนคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา เพื่อเป็นเวทีให้การแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ระหว่างนักวิชาการด้านอิสลามศึกษา และผู้นำทางศาสนาอิสลามเพื่อสร้างเครือข่ายทางด้านอิสลามศึกษาในระดับอาเซียน และระดับโลก เพื่อให้สังคมตระหนักในคุณค่าของอิสลามชี้นำให้ประชาชาติมีความสามัคคี ปรองดอง และสมานฉันท์ และสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในสังคมพหุวัฒนธรรม

ศาสตราจารย์ ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ที่ปรึกษาผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา กล่าวถึงผลการจัดการสัมมนาครั้งที่ผ่านมา ความว่า การสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติในครั้งนี้ เป็นโครงการต่อเนื่องจากการสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ 3 ครั้งที่ผ่านมา โดยการจัดสัมมนาครั้งแรก เมื่อวันที่ 21-23 ธันวาคม 2553 เรื่อง “บทบาทอิสลามศึกษาในยุคโลกาภิวัตน์” ผลที่ได้รับจากการประชุมสัมมนาในครั้งนั้น คือ ปฏิญญาปัตตานี (FATONI DECLARATION) มีสาระสำคัญคือ ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างเครือข่ายภาคีในการพัฒนาการศึกษาอิสลามศึกษาและภาษาอาหรับให้มีคุณภาพ และสามารถเป็นฐานในการประกอบอาชีพ และพัฒนาสังคมให้มีความสันติสุข

การสัมมนาครั้งที่ 2 ในปี 2556 ในหัวข้อ “อิสลามศึกษาในโลกที่เปลี่ยนแปลง : โอกาสและสิ่งท้าทาย” ผลจากการสัมมนา คือ ได้ยกระดับการจัดการศึกษาของวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ให้ก้าวสู่นานาชาติ สอดคล้องต่อนโยบายรัฐบาลที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาเอเซียน หรือ Asean Education Hub ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนมุสลิม และสร้างสังคมสันติสุข และสมานฉันท์ที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ในอนาคต สร้างภาพมุสลิมในประเทศไทยต่อสายตาชาวโลกมุสลิมในมิติเสรีภาพ ทางวิชาการ และการนับถือศาสนา เกิดเครือข่ายอิสลามศึกษา มีการแลกเปลี่ยนคณาจารย์ นักศึกษา มีการร่วมมือทางวิชาการ และการวิจัยร่วมกัน

ในการจัดสัมมนาครั้งที่ 3 เมื่อปี 2558 นักวิชาการมุสลิมโลก รวม 500 คน จาก 25 ประเทศ เปิดประเด็น “ค่านิยมอิสลามในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง” ผลจากการสัมมนาครั้งนี้ทำให้เกิดการอภิปรายในหัวข้อที่เกี่ยวข้องต่อค่านิยมอิสลาม และกลั่นกรองเอาประสบการณ์การนำค่านิยมเหล่านี้ไปใช้ในชุมชนมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิมที่แตกต่างกันทั่วโลก สร้างวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสันติภาพ และความสงบสุขในชุมชนที่หลากหลาย

พร้อมทั้งหลักกฎหมายอิสลามด้านดุลยภาพ ความเป็นเลิศและความพอดี (สายกลาง) ในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง และสิทธิมนุษยชนกลุ่มน้อยในสังคม ซึ่งนำไปสู่การความร่วมมือกันอย่างดีและจริงจังระหว่างรัฐบาล สถาบันการศึกษา ปัญญาชน องค์กรการกุศล นักการศึกษา นักวิทยาศาสตร์ และนักคิดทุกท่าน ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในโลก และส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนในปัจจุบัน

นอกเหนือจากการมีปฏิญญาปัตตานี และออกแถลงการณ์ของการสัมมนาในแต่ละครั้งแล้ว ยังได้จัดตั้งโรงเรียนสาธิตอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ การจัดการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศทางคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ บูรณาการอิสลาม และให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณธรรมนักเรียน เพื่อการเป็นมุสลิมที่ดี ยึดปฏิบัติตาม ดุลยภาพอิสลาม จัดตั้งศูนย์ทดสอบและพัฒนาภาษาอาหรับเพื่ออิสลามศึกษา ซึ่งเป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนามาตรฐานภาษาอาหรับของนักเรียนอิสลามศึกษาในประเทศไทย

จัดตั้งคณะกรรมการประสานงานอิสลามศึกษา (ISCC) ซึ่งเป็นคณะทำงานเพื่อกำหนดทิศทางของการสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ โครงการเครือข่ายอิสลามศึกษานานาชาติ (International Islamic Studies Network – IISN) เพื่อแลกเปลี่ยนนักศึกษา และบุคลากรระหว่างมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยในประเทศตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จอร์แดน บรูไน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น การจัดตั้งศูนย์พัฒนาบุคลากรด้านอิสลาม (ATSDC) การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลการจัดการข้อมูลอิสลาม (iCentre) เพื่อเป็นศูนย์ในการจัดระบบ ผ่านกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องทางวิชาการอิสลามศึกษา และเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องให้นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไปสามารถการเข้าถึงบริการ

จัดตั้งศูนย์วิจัยประยุกต์หลักการสายกลาง (วะสะฎิยะฮ) ในสังคมพหุวัฒนธรรม เพื่อศึกษาวิจัยหลักการสายกลางเพื่อประยุกต์ใช้ในสังคมพหุวัฒนธรรม เพื่อนำสู่แนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างสันติที่ยั่งยืนบนพื้นฐานความเคารพ ให้เกียรติ และยอมรับในความหลากหลายทางอัตลักษณ์ โครงการวิสาหกิจเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (SEED) เป็นกิจการเพื่อสังคมในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนแบบองค์รวมที่มีความมั่นคง และยั่งยืน โดยยึดหลักการทำงานร่วมระหว่างสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษากับชุมชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เป็นระบบ และรับผิดชอบในฐานะเป็นหุ้นส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างแท้จริง

ดร.ยูโซะ ตาเละ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา กล่าวถึงความคืบหน้าของการดำเนินการสัมมนา วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ว่า การสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ ครั้งที่ 4 การศึกษาอิสลาม : พลังแห่งการขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข (Islamic Education as a Driving Force for a Peaceful Coexistence and Development) ในวันที่ 24-26 กรกฎาคม 2560 โดยครั้งนี้ มีเป้าหมายผู้เข้าร่วมสัมมนาจากทุกทวีปทั่วโลกรวม 40 ประเทศ จำนวน 500 คน มีประเทศที่ตอบรับการเข้าร่วมมาแล้ว 37 ประเทศ

ได้แก่ ประเทศแอลจีเรีย, บาห์เรน, บรูไน, อียิปต์, อังกฤษ, กินี, อินเดีย, อินโดนีเซีย, อิรัก, ญี่ปุ่น, จอร์แดน, คูเวต, ลาว, ไลบีเรีย, ลิเบีย, จีน, มาซิโดเนีย, มาเลเซีย, มัลดีฟส์, โมร็อกโก, ไนจีเรีย, โอมาน, ปากีสถาน, ฟิลิปปินส์, กาตาร์, รัสเซีย, ซาอุดีอาระเบีย, ศรีลังกา, ซูดาน, ติมอร์-เลสเต, ตุรกี, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ยูกันดา, ยูเครน, สหรัฐอเมริกา, เยเมน และไทย

โดยมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา นอกจากนี้ จะมีการนำเสนอผลงานวิจัย บทความวิชาการจากนักวิชาการด้านอิสลามทั่วโลก กว่า 40 บทความ ที่เกี่ยวข้องต่อการศึกษาอิสลาม : พลังแห่งการขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ยังจะมีการประชุมของผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาทางด้านอิสลามศึกษาชั้นนำของโลกเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการ วิจัย และการแลกเปลี่ยนคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาอีกด้วย

ในการประชุมครั้งนี้จะเน้นการประชุมทวิภาคีที่ตกลงเบ็ดเสร็จ 4 เรื่อง คือ 1.การทำหลักสูตรร่วมกันในการศึกษาการเมืองอิสลาม 2.โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาเรียนต่างประเทศ ขณะนี้ปฏิบัติแล้วใน 6 มหาวิทยาลัยในมาเลเซีย 3.การเจรจาระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กับมุสลิมลีค (อัรรอบีเฎาะห์) ในด้านการสนับสนุนการศึกษาเช่น ร.ร.สาธิตอิสลาม และ 4.การพัฒนาศูนย์ทดสอบภาษาอรับให้ตรงกัน และเป็นที่ยอมรับต่อหลักสูตรเจาของภาษาอเหรับเอง

รองศาสตราจารย์อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี ได้กล่าวขอบคุณสื่อมวลชน ผู้สนับสนุนการจัดการสัมมนานานาชาติ และผู้ร่วมเป็นเกียรติในการแถลงข่าว ความว่า ตามที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้จัดการสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ ทุก 2 ปี และได้รับเกียรติจากสื่อมวลชนร่วมเป็นเกียรติ และทำข่าวเผยแพร่เจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยฯ ในการนำอิสลามศึกษามาเป็นพลังในการขับเคลื่อน เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของประชาคมโลก และยกระดับการจัดการศึกษาของวิทยาลัยอิสลามศึกษา ให้ก้าวสู่ความเป็นนานาชาติ ตลอดจนเพื่อแสวงหาความร่วมมือทางวิชาการด้านอิสลามศึกษา แก่วิทยาลัยอิสลามศึกษาในการพัฒนาหลักสูตร และบุคลากร และรูปแบบการเรียนการสอน ตลอดจนช่วยเสริมสร้างบรรยากาศทางวิชาการ ตลอดจนเพื่อสร้างสังคมสันติสุขและความสมานฉันท์ที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ขอขอบคุณรัฐบาลที่เห็นความสำคัญ และสนับสนุนการจัดสัมมนามาอิสลามศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ขอบคุณนักวิชาการ และนักการศาสนาจากทั้งใน และต่างประเทศที่ร่วมผลักดันการจัดการสัมมนาทุกครั้งที่ผ่านมา และขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ส่งเสริมสนับสนุนการให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินภารกิจ ไม่ว่าจะเป็นการแสวงหาความรู้ การวิจัย การบริการวิชาการแก่สังคม สนับสนุนส่งเสริมการจัดการศึกษา และขอขอบคุณสื่อมวลชนทุกท่านที่ช่วยประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข่าวสารของมหาวิทยาลัยอย่างสม่ำเสมอ และคาดหวังว่า ท่านจะกรุณาร่วมเป็นเกียรติในการสัมมนา “การศึกษาอิสลาม พลังแห่งการขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข” ในระหว่างวันที่ 24-26กรกฎาคม 2560

ที่มา:MGR Online

ข่าวล่าสุดของหมวดหมู่ ข่าวประจำวัน

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " ม.อ.ปัตตานีเตรียมจัดสัมมนาการศึกษาอิสลาม ครั้งที่ 4 เชิญนักวิชาการ 40 ประเทศเข้าร่วม "

ปิดการแสดงความคิดเห็น