ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันจันทร์, 20 พฤษภาคม 2567

ประกาศจุฬาราชมนตรี กำหนดวันที่ 1 เดือนชะบาน 1441

จุฬาราชมนตรี ประกาศ เดือนชะบาน 1441

ประกาศจุฬาราชมนตรี เรื่อง กําหนดวันที่ 1 ของเดือนชะบาน ฮิจเราะห์ศักราช 1441

ตามที่ ได้ประกาศให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมทั่วประเทศดูดวงจันทร์ เพื่อกําหนดวันที่ 1 ของเดือนชะบาน ฮิจเราะห์ศักราช 1441 ในวันอังคารที่ 24 มีนาคม 2563 เวลาหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้านั้น ปรากฏว่าในวันและเวลา ดังกล่าว ไม่มีผู้เห็นดวงจันทร์

จึงขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า วันที่ 1 ของเดือนชะบาน ฮิจเราะห์ศักราช 1441 ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม 2563

ประกาศ ณ วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2563

(นายอาศิส พิทักษ์คุมพล)

จุฬาราชมนตรี

“ชะบาน” คือ เดือนที่อยู่หลังเดือนเราะญับและก่อนเดือนเราะมะฎอน มีความประเสริฐและอิบาดะฮฺหลายอย่างที่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กระทำในเดือนนี้ ท่านเราะสูลใช้เวลาในเดือนนี้ถือศีลอดหลายวันมาก เพื่อเป็นการเตรียมตัวและใจให้พร้อมต้อนรับเดือนเราะมะฎอน

ท่านอิบนุหะญัร อัลอัษเกาะลานีย์ ได้กล่าวถึงการตั้งชื่อเดือนนี้ไว้ว่า

ความว่า:  ที่ถูกตั้งชื่อว่าชะบาน เพราะพวกเขา (ชาวอาหรับ) กระจายกันออกตามหาน้ำหรือเข้าไปอยู่ในถ้ำต่างๆ หลังเดือนเราะญับที่ต้องห้าม (ดู ฟัตหุลบารีย์ เล่มที่ 4 หน้าที่ 213 บท เศามฺ ชะอฺบาน)

จากอุซามะฮฺ บินซัยดฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า “โอ้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ฉันไม่เคยเห็นท่านถือศีลอดในเดือนใด (มาก) เหมือนกับที่ท่านถือศีลอดในเดือนชะอฺบานเลย?”

ท่านเราะสูลตอบว่า “นั่นคือเดือนที่มนุษย์ส่วนมากหลงลืม อยู่ในระหว่างเดือนเราะญับและเดือนเราะมะฎอน มันคือเดือนที่การงานทั้งหลายจะถูกยกขึ้นเสนอแก่พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก และฉันชอบที่จะให้การงานของฉันถูกยกไปในสภาพที่ฉันกำลังถือศีลอด” (บันทึกโดย อันนะซาอีย์ หมายเลขที่ 2357, เชคอัลอัลบานีย์บอกว่า หะดีษนี้ดี (หะสัน) ในหนังสือ เศาะฮีหฺ สุนัน อันนะซาอีย์)

ด้วยเหตุนี้เอง เดือนชะอฺบานจึงเป็นเดือนที่ส่งเสริมให้ทำอะม้าลอิบาดะฮฺต่างๆให้มาก เช่น

1. ถือศีลอดให้มาก

ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ถือศีลอดในเดือนนี้มากกว่าเดือนไหนๆ (ยกเว้นเดือนเราะมะฎอน)

จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ถือศีลอดกระทั่งเราพูดกันว่าท่านไม่ละศีลอดเลย และท่านละศีลอดกระทั่งเราพูดกันว่าท่านไม่ถือศีลอดเลย และฉันไม่เคยเห็นท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ถือศีลอดเต็มเดือนนอกจากในเดือนเราะมะฎอนเท่านั้น และฉันก็ไม่เคยเห็นท่านถือศีลอดในเดือนไหนมากไปกว่าเดือนชะอฺบาน (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ หมายเลขที่ 1969 และมุสลิม หมายเลขที่ 1156 และ2721)

บรรดานักวิชาการระบุว่า แม้ว่าการถือศีลอดในเดือนชะอฺบานจะเป็นการถือศีลอดอาสา (สุนนะฮฺ) แต่ก็มีความสำคัญในฐานะเป็นสิ่งที่จะทดแทนหรือชดเชยข้อบกพร่องต่างๆของการถือศีลอดบังคับ (วาญิบ) ในเดือนเราะมะฎอน เหมือนที่การละหมาดฟัรฎูมีการละหมาดสุนนะฮฺเราะวาติบก่อนและหลังเป็นการงานชดเชยข้อบกพร่องต่างๆ การละหมาดสุนนะฮฺสามารถชดเชยข้อบกพร่องของการละหมาดฟัรฎูได้ฉันใด การถือศีลอดสุนนะฮฺก็สามารถชดเชยข้อบกพร่องของการถือศีลอดวาญิบได้ฉันนั้น

อีกอย่างการถือศีลอดสุนนะฮฺในเดือนชะอฺบานยังช่วยเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมสำหรับการถือศีอลดวาญิบในเดือนเราะมะฎอนด้วย ไม่ให้ร่างกายรู้สึกหิว กระหาย หรือเหน็ดเหนื่อยเกินไปเมื่อเข้าสู่เดือนเราะมะฎอน

2. อ่านอัลกุรอานให้มาก

ส่งเสริมให้อ่านอัลกุรอานให้มากเดือนชะอฺบาน เป็นการสร้างความคุ้นเคย และเมื่อเข้าเดือนเราะมะฎอนแล้วก็ส่งเสริมให้อ่านมากยิ่งขึ้นไปอีก สะละมะฮฺ บินคุฮัยลฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า

ความว่า: แต่ก่อนนี้มีคำกล่าวว่า เดือนชะอฺบานนั้นคือเดือนของบรรดานักอ่าน (อัลกุรอาน)

เช่นเดียวกับอัมรฺ บินก็อยสฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ เมื่อเข้าเดือนชะอฺบานแล้ว เขาจะปิดร้านและใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่านอัลกุรอาน (ดู ละฏออิฟุล มะอาริฟ ลิ อิบนิเราะญับ อัลหัมบะลีย์ หน้าที่ 138)

ทำอะม้าลอิบาดะฮฺต่างๆให้มากขึ้น
ส่งเสริมให้ทำอิบาดะฮฺและการงานที่ดีทุกอย่างให้มากขึ้นในทุกๆเวลา เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเดือนเราะมะฎอน บรรดานักวิชาการอิสลามในอดีตมักจะเตรียมตัวเองและทำอะม้าลความดีต่างๆตั้งแต่เดือนชะอฺบานเลย พวกเขาฝึกฝนตัวเอง เพื่อจะได้เพิ่มพูนความดีต่างๆให้มากขึ้นไปอีกเมื่อเข้าสู่เดือนเราะมะฎอน

อบูบักรฺ อัลบัลคีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ เคยกล่าวไว้ว่า

ความว่า: “เดือนเราะญับคือเดือนแห่งการเพาะปลูก ส่วนเดือนชะอฺบานคือเดือนสำหรับรดน้ำบำรุงดิน และเดือนเราะมะฎอนคือเดือนเก็บเกี่ยวผล”

และเขายังกล่าวอีกว่า

ความว่า: “เปรียบเดือนเราะญับเหมือนลมพัด, เดือนชะอฺบานเหมือนเมฆ และเดือนเราะมะฎอนเหมือนฝน ใครที่ไม่ได้เพาะปลูกในเดือนเราะญับ และไม่ได้รดน้ำบำรุงดินในเดือนชะอฺบาน แล้วเขาจะเก็บเกี่ยวผลของมันในเดือนเราะมะฎอนได้อย่างไร?” (ดู ละฏออิฟุล มะอาริฟ ลิ อิบนิเราะญับ อัลหัมบะลีย์ หน้าที่ 130)

4. หลีกห่างจากการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺและทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างพี่น้องมุสลิม

ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม บอกว่า อัลลอฮฺ สุบหานะฮุ วะตะอาลา จะทรงอภัยโทษให้กับทุกคน ที่ไม่ตั้งภาคี (ชิรกฺ) และไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน ท่านกล่าวไว้ว่า

ความว่า: “แท้จริงอัลลอฮฺจะทรงปรากฏในค่ำคืนกลางเดือนชะอฺบาน แล้วอภัยโทษให้กับบ่าวทุกคน ยกเว้นคนที่ตั้งภาคีและคนที่ทะเลาะเบาะแว้งกัน” (บันทึกโดย อิบนุมาญะฮฺ หมายเลขที่ 1390, เชคอัลอัลบานีย์รับรองว่าเป็นหะดีษที่ถูกต้อง ในหนังสือ เศาะฮีหฺ สุนัน อิบนุมาญะฮฺ)

5. เกี่ยวกับค่ำคืนกลางเดือนชะอฺบาน (นิศฟุชะอฺบาน)

หะดีษที่ยกมาก่อนหน้านี้ได้พูดถึงคืนนิศฟุชะอฺบาน หรือค่ำคืนกลางเดือนชะอฺบาน นั่นหมายความว่า เป็นคืนพิเศษที่ส่งเสริมให้มีการทำอิบาดะฮฺเฉพาะด้วยหรือไม่? เรื่องนี้ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้อธิบายไว้ว่า

“การละหมาดเราะฆออิบ เป็นสิ่งที่ถูกอุตริขึ้นมา ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ไม่เคยกระทำ และไม่มีชาวสะลัฟสักคนเคยทำด้วย ส่วนค่ำคืนกลางเดือนชะอฺบานนั้นมีความประเสริฐ มีชาวสะลัฟในอดีตเคยละหมาดในค่ำคืนนั้น แต่การรวมตัวกันละหมาด (หรือทำอิบาดะฮฺอื่นๆ) ที่มัสญิดต่างๆนั้นเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) เช่นเดียวกับการละหมาดอัลฟียะฮฺ” (อัลฟะตาวา อัลกุบรอ เล่ที่ 5 หน้าที่ 344)

ที่มา: whitechannel.tv

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ประกาศจุฬาราชมนตรี การดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันที่ 1 เดือนเซาวาล (วันอีฎิ้ลฟิตริ) ฮิจเราะห์ศักราช 1445
ประกาศจุฬาราชมนตรี แจ้งดูดวงจันทร์ เพื่อกำหนดวันที่ 1 เดือนซุ้ลฮิจยะห์ ฮ.ศ.1441
ประกาศจุฬาราชมนตรี แจ้งดูดวงจันทร์ กำหนดวันที่ 1 เดือนซุ้ลเกาะดะห์ ฮ.ศ.1441
ประกาศจุฬาราชมนตรี (ฉบับที่ 7/2563) การผ่อนปรนให้ปฏิบัติศาสนกิจละหมาดญะมาอะห์ที่มัสยิด
ประกาศจุฬาราชมนตรี วันที่ 1 เดือนเซาวาล (วันอีฏิ้ลฟิตริ) ฮิจเราะห์ศักราช 1441
ประกาศจุฬาราชมนตรี มาตรการและข้อผ่อนปรนให้ปฏิบัติศาสนกิจละหมาดอีฎิ้ลฟิตร์