
เปลี่ยนพื้นที่ใต้สะพานเป็นแกเลอรี่ดีๆ
ใครอยู่ กทม….ลองแวะไปนะครับ
เมื่อพื้นที่ใต้สะพานริมคลองแสนแสบ มีแกลอรีซ่อนอยู่ด้านใน ชุมชนบ้านครัว ชุมชนมุสลิมใจกลางเมืองกรุงเทพฯ คนในชุมชนและสถาปนิกชุมชนได้เปลี่ยนพื้นที่รกร้างใต้สะพานเจริญผล ให้เป็นแกลอรีของชุมชนที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมและศึกษาประเพณีวัฒนธรรมของคนมุสลิมบางกอกได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้แกลอรียังเป็นเหมือนประตูสู่ชุมชนบ้านครัวทั้ง 2 แห่ง คือ ชุมชนบ้านครัวเหนือ และชุมชนบ้านครัวตะวันตก ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน
ที่นี่..จุดแลนด์มาร์คสำคัญตั้งแต่ พ.ศ. 2506 เรื่อยมาถึงปัจจุบัน เคยเป็นแหล่งชิมช้อป สภากาแฟ แหล่งชุมนุมผู้ค้าลูกค้า ที่ประชุมกรณีทางด่วนบ้านครัว และใช้เป็นเส้นทางสัญจรหลักของคนบ้านครัว จุดแบ่งเขตปทุมวัน-ราชเทวี บ้านครัวเหนือ-บ้านครัวตะวันตก
ผลงานที่สำเร็จนี้เป็นที่ประจักษ์ มีเบื้องหลังที่ถูกดูแคลนว่าจะทำได้จริงหรือ บ้างวิจารณ์ตั้งคำถามถึงลวดลายเพ้นท์ บ้างให้ข้อเสนอแนะ โดยเฉพาะการปรับภูมิทัศน์ครั้งใหญ่อุโมงค์ใต้(สะ)พาน เช่น ขอความร่วมมือย้ายจุดจอดรถมอเตอร์ไซค์ เพื่อให้ร้านอาหารของหลายครอบครัวได้มีพื้นที่ทำมาหากินเลี้ยงปากท้องได้ดังเดิม
เบื้องหลังความสวยแบบน่ารักจากภาพลวดลายเพ้นท์ฝาผนังใต้อุโมงค์เตี้ย ๆ นี้ ได้บอกเล่าวิถีชีวิตผู้คนบ้านครัวโดยสังเขปตามขนาดของพื้นที่ภายใต้ข้อจำกัด
ขอขอบคุณการชักนำโดยสถาบันอาศรมศิลป์ สรุปเวทีประชุมร่วมกับคนบ้านครัวเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2562 ได้ข้อสรุปแนวคิดในการออกแบบและ เรียงลำดับเนื้อหาใหม่ เพื่อต้องการสื่อสารให้เราๆ ได้เกิดความรู้ความเข้าใจของบ้านครัวมากขึ้น ผ่านการเล่าเรื่องราวบนผนัง (แกลอรี) ดังนี้
ช่องที่ 1 นักรบกองอาสาจาม สมัยรัชกาลที่ 1 สื่อถึงบรรพชนมุสลิมเชื้อสายจาม ร่วมรบในสงครามเก้าทัพเพื่อสยาม พื้นที่นี้จึงแลกมาด้วยเลือดเนื้อของบรรพชนสืบเรื่อยมาถึงปัจจุบัน
ช่องที่ 2 วิถีชีวิตของชุมชนบ้านครัว สื่อถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่นี่ มีมัสยิดตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นมัสยิดหลังแรกของฝั่งพระนคร เป็นพื้นที่ศูนย์รวมจิตใจและเป็นศูนย์กลางเสาหลักของชีวิตโดยเฉพาะการศึกษา
ช่องที่ 3 ผ้าไหมบ้านครัว สื่อถึงว่า คนบ้านครัวในอดีตนั้น ทอผ้าไหม และเป็นจุดกำเนิดผ้าไหมจิม ทอมป์สัน สู่ตลาดโลก จิมเป็นคนที่มายืมผ้าไหมจากเมยรอ มูลค่าสองพันบาท เอาไปทำตลาด จนโลกรู้จักดี จิม ทอมป์สัน จึงเป็นผู้ที่นำไหมบ้านครัวสู่ตลาดโลก
ช่องที่ 4 อาหารพื้นถิ่น สื่อถึงอัตลักษณ์ของชุมชน เอกลักษณ์ผ่านอาหารพื้นถิ่นของชุมชน จึงขอหยิบแค่ส่วนหนึ่งหากินได้ยากมีสีสันที่โดดเด่นลงตัว
ช่องที่ 5 วิถีชีวิตริมน้ำ สื่อถึงคลองแสนแสบในอดีต ที่มีเรือขายของ ผู้คนมาอาศัยตั้งถิ่นฐานริมน้ำ และเด็กเล่นน้ำในคลอง เสมือนเป็นหน้าบ้านที่ทุกคนต้องได้สัมผัส
ช่องที่ 6 นาเสปโบราณ สื่อถึงการละเล่นดนตรีพื้นบ้านมุสลิมพร้อมขับขานลำนำในภาษามลายู ภาษาอาหรับ ภาษาไทย มีปรากฎในงานบุญสำคัญ ๆ และเป็นประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นของคนมุสลิมที่โด่งดังมากในยุคหนึ่ง
ทั้งหมดนี้ทีมงานจากสถาบันอาศรมศิลป์และคนบ้านครัว ได้รับความร่วมมือ แรงกาย แรงใจ จากผู้เสียสละเวลา บริจาคเงินสนับสนุน ทั้งความชื่นชม และความร่วมมือร่วมใจของหลาย ๆ คน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าบ้านหรือผู้มาเช่าพักอาศัยในบ้านครัว และความสนใจจากชาวต่างชาติที่ผ่านมาพบถึงและการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับบ้านครัวในมิติต่าง ๆ
.
พบกันใหม่แลนด์มาร์คต่อไป
ขอให้เชื่อมั่นในศรัทธาของเรา
สามารถท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีชุมชนบ้านครัว
Facebook: มัสยิดยามีอุลค็อยรียะห์ บ้านครัว
สถานที่ : ใต้สะพานเจริญผล ชุมชนบ้านครัว เขตราชเทวี กรุงเทพฯ
โครงการฟื้นฟูชุมชนบ้านครัว ภายใต้โครงการบ้านมั่นคงโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน)
ที่มา:https://web.facebook.com/499764496863362/photos/a.503206683185810/1246104385562699/?type=3&theater&ifg=1
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " เปลี่ยนพื้นที่ใต้สะพานเป็นแกลลอรี่ดีๆ ชุมชนมุสลิมบ้านครัว "