
หากพูดถึงอาหารขึ้นชื่อในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างแล้ว ทุกคนก็จะนึกถึง “น้ำบูดู” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลาทะเล นับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่คิดค้นขึ้นมาจากรุ่นสู่รุ่น เป็นวิธีการถนอมอาหารให้สามารถเก็บไว้บริโภคได้อย่างยาวนาน การทำน้ำบูดูนั้นจะนำปลาสดมาคลุกเกลือ หมักไว้รับประทาน(คล้ายกับการหมักปลาร้าในภาคอีสาน) น้ำบูดู เป็นสินค้าพื้นเมืองที่ทำรายได้สูงแก่ประชาชนในท้องถิ่น แต่เนื่องจากมีกลิ่นแรง มีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ และเป็นของเหลวที่พกพาไม่สะดวก ปัญหานี้จึงมีผลต่อการขนส่งเพื่อการจำหน่ายให้กับท้องถิ่นอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคกลาง ภาคเหนือ หรือนำไปต่างประเทศจึงมีการคิดค้นนวัตกรรมการทำบูดูอัดก้อน จากโรงเรียนสายบุรีแจ้งประชาคาร อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนแห่งนี้อีกด้วย วันนี้ข่าวภาคใต้ชายแดนจึงขอนำเสนอเรื่องราวความเป็นมาของการทำบูดูอัดก้อน จากกลุ่มโรงเรียนสายบุรีแจ้งประชาคาร มาบอกต่อกันนะคะ
การนำน้ำบูดูไปต่อยอดเป็นนวัตกรรมใหม่ของโรงเรียนสายบุรีแจ้งประชาคารแห่งนี้ เป็นการเลื่อนไปอีกขั้นของน้ำบูดู ที่มาจากแนวคิดและแรงบันดาลใจของนักเรียนกลุ่มหนึ่งที่คิดค้นขึ้นเพื่อตอบโจทย์ปัญหาในการพกพาน้ำบูดู โดยอาศัยกรรมวิธีแบบวิทยาศาสตร์และการทดลองผลิตอยู่หลายครั้ง จนเกิดความสำเร็จเป็นบูดูก้อนขึ้นมา และได้มีการดัดแปลงมาอย่างต่อเนื่อง จนได้เป็นบูดูอัดก้อน เจ้าแรกของประเทศไทย ในแบรนด์ “บูดูอินเตอร์ โดยโรงเรียนสายบุรีแจ้งประชาคาร”และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี ในการพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์ให้มาตรฐานและทันสมัยมากขึ้น เพื่อความสะดวกในการพกพา สะอาด มีน้ำหนักเบา จึงตอบโจทย์ในเรื่องของการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังภูมิภาคอื่นๆ และต่างประเทศ ที่สำคัญได้รับมาตรฐาน อย. และ ตราฮาลาล อีกด้วย ในส่วนของยอดการสั่งซื้อบูดูอัดก้อน มีการสั่งซื้อจากผู้ประกอบการที่สนใจ นำไปจำหน่ายที่ประเทศสิงคโปร์ญี่ปุ่นจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ประเทศแถบตะวันออกกลาง และแถบยุโรป ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จในการคิดค้นนวัตกรรมบูดูอัดก้อนของโรงเรียนสายบุรีแจ้งประชาคารอ.สายบุรี จ.ปัตตานี แห่งนี้
โดยส่วนผสมบูดูอัดก้อน ประกอบด้วย (1) ปลาตาโต 30 กิโลกรัม (2) น้ำบูดู 10 ลิตร (3)หอมแดง 3 กิโลกรัม (4) น้ำส้มสายชู 3 กิโลกรัม (5) น้ำตาลทราย 3 กิโลกรัม (6) มะนาว 1.5 กิโลกรัม (7) พริกขี้หนู 1 กิโลกรัม(8)ใบมะกรูด และ (9) มะนาวสำหรับขั้นตอนการผลิตนั้นมีวิธีการดังนี้
1. นำปลามาล้างให้สะอาดและนำไปนึ่งสุก แกะเอาเฉพาะเนื้อปลา
2. ส่วนผสมประเภทหัวหอม พริกขี้หนู ให้นำไปปั่นให้ละเอียด
3. มะนาวคั้นเอาเฉพาะน้ำ ใบมะกรูด มะม่วงเบา และน้ำส้มสายชู ปั่นรวมกันให้ละเอียด
4. เทน้ำบูดูลงกระทะ เอาส่วนผสมทั้งหมดรวมทั้งเนื้อปลาที่แกะแล้ว ผสมเข้าด้วยกันและเคี่ยวให้แห้ง ใช้เวลาประมาณ 1 วัน
5. นำบูดูที่เคี่ยวและกวนจนแห้งแล้วนำไปอัดให้แน่น ทำเป็นก้อน ตกแต่งก้อนให้สวยงาม แล้วนำไปอบ ประมาณ 20 นาที โดยใช้อุณหภูมิ 80-100 องศาเซลเซียส
6. นำบูดูที่อบแห้งแล้วห่อด้วยพลาสติก 1 ชั้น และกระดาษฟอยด์อีก 1 ชั้น บรรจุกล่องละ 3 ก้อน ราคาจำหน่ายกล่องละ 12 บาท แล้วไปบรรจุห่อเพื่อจำหน่าย
สนใจสั่งซื้อ 073-411031 , 081-0984979
สำหรับวิธีการรับประทานนั้น บูดูอัดก้อน 1 ก้อน ผสมน้ำต้มสุก 3 ช้อนโต๊ะ หรืออาจนำไปตั้งไฟแบบไม่ผสมน้ำ ใส่พริก กระเทียม หอมแดง ปลาสด สามารถรับประทานอย่างเอร็ดอร่อยได้ในทันที ทานกับข้าวสวยร้อนๆ ใช้น้ำบูดูจิ้มกับผักสดหรือผักลวก รับรองความอร่อยแน่นอน
นางอาซีซะ มะลี ครูชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ครูผู้ดูแลโครงการนี้ กล่าวว่า จากที่มาของน้ำบูดูผ่านกระบวนการทางความคิดของชาวบ้าน ครู และนักเรียน ที่โรงเรียนสายบุรีแจ้งประชาคาร แห่งนี้ นำไปสู่การผลิตภัณฑ์ “บูดูอัดก้อน”นวัตกรรมที่ช่วยให้น้ำบูดูที่เป็นอาหารประจำถิ่นใต้เป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ที่สามารถพกพาได้ง่าย เป็นของฝากได้ดี สามารถนำไปยังสถานที่ต่างๆหรือนำไปต่างประเทศได้สะดวก และด้วยคุณสมบัตินี้เองคาดว่าในอนาคต “บูดู”จะเป็นอาหารที่ชื่นชอบและหาได้ง่ายในทุกๆภูมิภาคหรือทั่วโลกได้”…ส่วนตัวแล้วอยากให้โครงการนี้ ยังคงพัฒนาและต่อยอดต่อไป เพราะ บูดูอัดก้อนถือเป็นนวัตกรรมที่ได้พัฒนาและตอบโจทย์ในเรื่องการส่งอออกได้ดี ซึ่งมีประโยชน์มากต่อชุมชน สามารถเพิ่มรายได้เป็นรายได้เสริมให้กับชาวบ้านได้ ได้ฝึกอาชีพให้กับนักเรียนในโรงเรียน ถือได้ว่าเป็นองค์ความรู้ใหม่ เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจมาก”
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " “บูดู Cube”น้ำบูดูอัดก้อน นวัตกรรมสร้างชื่อ บูดูอินเตอร์ โรงเรียนสายบุรีแจ้งประชาคาร "