
http://www.arabnews.com/node/1377146/world
http://www.arabnews.com
ธักกา – รายงานล่าสุดของกลุ่มประสานความร่วมมือ (Inter Sector Coordination Group – ISCG) ตีพิมพ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เปิดเผยว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของเยาวชนชาวโรฮิงยาในค่ายผู้อพยพที่ ค็อคส์ บาซาร์ บังคลาเทศ กำลังเติบโตขึ้นโดยไม่ได้เข้าถึงการศึกษาเบื้องต้น รายงานยังระบุว่า ร้อยละ 47 ของเด็กโรฮิงยา ในกลุ่มที่อายุระหว่าง 3-14 ปี ไม่ได้เข้าศูนย์เพื่อการเรียนรู้ ในขณะที่ร้อยละ 98 ของวัยรุ่นที่อายุระหว่าง 14-24 ปี ออกนอกระบบการศึกษาไปแล้ว
อารีซ เราะฮ์มาน โฆษกของคณะกรรมการความก้าวหน้าในชนบทของบังคลาเทศ (BRAC) ซึ่งเป็นองค์กร NGO ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ระบุว่า สถาบันการศึกษาที่จัดหาให้โดยสหประชาชาติ และบริหารโดยหน่วยงาน NGO ยังคงไม่เพียงพอ และให้บริการเพียงการศึกษาที่ไม่เป็นทางการ เล็กๆ น้อยๆ อาทิ ภาษาพม่า อังกฤษ และคณิตศาสตร์ โดยไม่มีหลักสูตรหนึ่งเดียวที่ใช้ในการเรียน การสอน เหมือนกันในค่ายผู้ลี้ภัย ที่ดำเนินการโดยองค์กรพัฒนาเอกชนอื่นๆ
ปัจจุบัน องค์กร NGO ได้เตรียมหลักสูตรโดยผู้เชี่ยวชาญขององค์กรเอง และยื่นขอการอนุมัติจากองค์การยูนิเซฟ เฉพาะองค์กร BRAC แห่งเดียว บริหารจัดการศูนย์การเรียนรู้ 365 แห่ง ในค่ายผู้อพยพ ซึ่งมีนักเรียนรวมราว 30,000 คน ที่มีอายุระหว่าง 4 – 14 ปี เราะฮ์มาน กล่าวว่า โรงเรียนจะเน้นสอนในระดับประถม ทั้งการรู้หนังสือขั้นพื้นฐาน การคำนวณ ข้อมูลการช่วยชีวิต การสนับสนุนด้านจิตวิทยาสังคม และทักษะในการดำเนินชีวิตสำหรับเด็กๆ ในค่าย เป็นต้น
ตัวเลขของยูนิเซฟ ระบุว่า มีศูนย์การเรียนรู้ทั้งสิ้นประมาณ 1,000 แห่ง ที่จัดการเรียน การสอน ให้กับเยาวชนชาวโรฮิงยา
ธนาคารโลก แถลงเมื่อเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา ว่า จะช่วยเหลือด้านงบประมาณ จากเงินส่วนหนึ่งในวงเงิน 480 ล้านดอลล่าร์ เพื่อนำมาจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ใหม่อีก 1,000 แห่ง และสนับสนุนศูนย์การศึกษา 500 แห่งที่มีอยู่แล้ว ในค่ายผู้อพยพ นอกจากนี้ จะมีการคัดเลือก และฝึกอบรมครู ประมาณ 2,000 คน ในศูนย์ฝึกอบรมครูประมาณ 100 แห่งด้วย
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " เยาวชนโรฮิงยาถูกลิดรอนสิทธิ์ในการศึกษาเล่าเรียน "