
https://www.scmp.com/news/asia/south-asia/article/2167068/india-deports-rohingya-muslims-back-myanmar-drawing
http://www.scmp.com
เมื่อวันที่ 4 กันยายน ที่ผ่านมา ทางการอินเดียเนรเทศชาวมุสลิมโรฮิงยา 7 คน กลับประเทศเมียนม่าร์ สร้างความกังวลและการประณามจากกลุ่มสิทธิมนุษยชน ของสหประชาชาติ เนื่องจากเกรงว่า พวกเขาจะเป็นอันตรายถึงชีวิต และการกระทำเช่นนี้ยังขัดต่อหลักกฎหมายสากลในด้านการปกป้องผู้อพยพ
การตัดสินใจครั้งนี้มีขึ้นเนื่องจากพรรคภารติยะชนตะ ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลและมีแนวคิดแบบฮินดูหัวรุนแรง ได้โจมตีเกี่ยวกับกรณีผู้ลี้ภัยที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ประธานพรรค คือ นาย อามิต ชาห์ ได้เคยลั่นปากว่าจะเนรเทศผู้ลี้ภัยเหล่านี้ออกไป โดยอ้างว่าพวกเขาเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ และเปรียบเทียบผู้ลี้ภัยเป็นเช่นปลวกที่คอยกัดกิน
ชาวโรฮิงยาทั้ง 7 คน ถูกคุมขังอยู่ในคุกที่รัฐอัสสัม ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ตั้งแต่ปี 2012 ซึ่งขณะนี้ที่รัฐอัสสัมกำลังถูกเพ่งเล็งจากความพยายามในการระบุตัวตนพลเมือง และเนรเทศคนเข้าเมืองที่ผิดกฎหมาย
บารัต ภูชาน บาบู โฆษกกระทรวงกิจการภายใน กล่าวว่า หากมีผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ก็จะต้องถูกส่งกลับออกไป กฎระเบียบนี้ต้องใช้กับทุกคน แม้จะเป็นผู้ที่หนีภัยความรุนแรงจากประเทศบ้านเกิดมาก็ตาม
E. Tendayi Achiume ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ กล่าวในแถลงการณ์ว่า การบังคับชาวโรฮิงยาให้กลับไปยังเมียนม่าร์ อาจเป็นการก่ออาชญากรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ และว่า รัฐบาลอินเดียมีภาระผูกพันต้องปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ และต้องรับรู้ถึงการเลือกปฏิบัติ การฆาตกรรม การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ชาวโรฮิงยาประสบจากประเทศเมียนมาร์ และต้องให้ความคุ้มครองตามที่จำเป็น เขายังแสดงความกังวลเกี่ยวกับการคุมขังชาวโรฮิงยาอย่างยาวนาน โดยไม่แจ้งคดีและไม่ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายที่จำเป็น
มีรายงานว่า มีผู้อพยพชาวโรฮิงยาอาศัยอยู่ในอินเดียราว 40,000 คน ในขณะที่มีผู้ลงทะเบียนกับสหประชาชาติเพียง 18,000 คน ผู้อพยพชาวโรฮิงยาในอินเดียจำนวนมาก เดินทางมาตั้งแต่ก่อนที่จะมีเหตุการณ์ความรุนแรงในรัฐยะไข่ ในปี 2017 ที่ทำให้ชาวโรฮิงยากว่า 700,000 คน หนีตายจากการทารุณของทหารเมียนม่าร์ไปยังบังคลาเทศ
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) กล่าวว่า ชายชาวมุสลิมโรฮิงยาทั้ง 7 คน ไม่ได้ลงทะเบียนกับ UN
ในหลายปีที่ผ่านมา รัฐอัสสัม ของอินเดียซึ่งมีพรมแดนยาวติดต่อกับประเทศบังคลาเทศ ได้พยายามอย่างใหญ่หลวงที่จะ ตรวจสอบสถานะของผู้อยู่อาศัย และหากพบว่าผู้ใดเข้าเมืองมาโดยไม่ถูกต้องจะถูกลบข้อมูลชื่อออกจากทะเบียน เพื่อทำการเนรเทศกลับไปยังประเทศต้นทาง การหลั่งไหลเข้าเมืองของผู้อพยพถูกมองว่า เป็นการคุกคามต่อวัฒนธรรม และอาชีพการงานของชาวอัสสัม
เมื่อเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา รัฐอัสสัมได้เปิดเผยรายชื่อพลเมืองท้องถิ่น โดยตัดชื่อประชาชนออกไปถึง 4 ล้านคน โดยเฉพาะที่เป็นชาวมุสลิม ทำให้เกิดความหวั่นเกรงว่าพวกเขาจะถูกคุมขัง และเนรเทศออกไป
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " อินเดียเนรเทศชาวโรฮิงยา 7 คนกลับประเทศ แม้จะรู้ว่าเมียนม่าร์ปิดประตูไม่ต้อนรับ "