
กระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบียเผยว่า “ไม่มีแผน” ใช้มาตรการปิดกั้นการค้าขายน้ำมันกับโลกตะวันตกจากความขัดแย้งเรื่องการเสียชีวิตที่ตุรกีของผู้สื่อข่าวฝ่ายต่อต้านรัฐบาลริยาด แบบเดียวกับที่เคยใช้ในช่วงความขัดแย้งกับฝ่ายตะวันตกเมื่อ 45 ปีที่แล้ว
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 22 ต.ค.เกี่ยวกับประเด็นที่ว่าแรงกดดันของกลุ่มประเทศตะวันตกหลายแห่งต่อรัฐบาลริยาด จากการเสียชีวิตของนายจามาล คาช็อกกี ผู้สื่อข่าวชาวซาอุดีอาระเบีย ซึ่งหายตัวเข้าไปในสถานกงสุลใหญ่ที่เมืองอิสตันบูล เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา จะกลายเป็นแรงผลักดันให้รัฐบาลริยาดใช้มาตรการตอบโต้ด้วยการสร้าง “วิกฤติน้ำมัน” แบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2516 หรือไม่นั้น
นายคาลิด อัล-ฟาลีห์ รมว.กระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบีย กล่าวเมื่อวันจันทร์ ว่ารัฐบาลริยาดไม่มีนโยบายแบบนั้น วิกฤติการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อ 45 ปีก่อนและได้ยุติไปนานมากแล้ว ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่ใช้นโยบายน้ำมันดิบให้สอดคล้องกับกลไกลเศรษฐกิจโลก โดยไม่มีทางนำเรื่องนี้ไปใช้เป็นเครื่องต่อรองทางการเมือง
ทั้งนี้ ยิ่งราคาน้ำมันดิบแพงขึ้นเท่าไหร่ เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวมากขึ้นเท่านั้นจนอาจถึงขั้นถดถอย อย่างไรก็ตาม ฟาลีห์ซึ่งเป็นประธานบริหารของซาอุดีอารัมโกด้วย กล่าวอีกว่ายังไม่มีสิ่งใดการันตีได้ว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกนับตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป “จะไม่ผันผวน” จากการที่มาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันดิบฝ่ายเดียวของสหรัฐต่ออิหร่านจะมีผลบังคับใช้ นอกจากนี้ สถานการณ์ภายในกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลกอีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นเวเนซุเอลา ลิเบีย ไนจีเรีย และเม็กซิโก ยังคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดด้วย แต่ฟาลีห์มองว่าผลผลิตจากบราซิล คาซัคสถาน และสหรัฐ น่าจะช่วยรักษาสมดุลให้กับอุปทานในตลาดโลกได้
อนึ่ง ย้อนกลับไปเมื่อปี 2516 หรือค.ศ. 1973 ประชาคมผู้ส่งออกน้ำมันอาหรับ ( โอเอเปก ) ที่มีซาอุดีอาระเบียเป็นหัวเรือใหญ่ ระงับขายน้ำมันดิบให้สหรัฐ เพื่อตอบโต้ที่อีกฝ่ายสนับสนุนอิสราเอลในสงครามยมคิปปูร์หรือสงครามรอมฎอน ที่สมรภูมิส่วนใหญ่อยู่บริเวณคาบสมุทรไซนายและที่ราบสูงโกลัน ด้วยชนวนเหตุจากการที่อียิปต์ต้องการเปิดคลองสุเอซอีกครั้ง โดยพันธมิตรอาหรับเปิดฉากโจมตีอิสราเอลในวันยมคิปปูร์ซึ่งเป็นวันสำคัญของศาสนายูดาห์ และช่วงนั้นตรงกับเดือนรอมฎอนพอดี แม้อิสราเอลเป็นฝ่ายชนะทางทหาร แต่อียิปต์ได้พื้นที่ฝั่งตะวันออกของคลองสุเอซ และราคาน้ำมันในสหรัฐพุ่งทะยานพรวดพราดจนเกิดภาวะช็อก.
เครดิตภาพ : AFP
ที่มา:เดลินิวส์
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " ซาอุดีอาระเบียยันไม่มี “วิกฤติน้ำมัน” ซ้ำรอยปี 2516 "