
ด้วยความมุ่งมั่นที่จะยกระดับการผลิตอาหารฮาลาลหรืออาหารสำหรับมุสลิมให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานอาหารฮาลาลที่กำหนดไว้ตามหลักการของศาสนาอิสลาม ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานของ Codex ที่ให้ทั้งความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคและเป็นผลิตภัณฑ์อาหารส่งออกที่มีคุณภาพ ตามนโยบายที่จะให้อาหารฮาลาลในประเทศไทยสู่ครัวโลก
มกราคม 2538 ได้กำเนิดศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งแรกขึ้น คือ ‘ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ โดย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลันผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มจากรูปแบบห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ในคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยพัฒนางานด้านนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาลขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคทั้งมุสลิมและมิใช่มุสลิม และได้เติบโตขึ้นเป็นลำดับ มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับโดยได้รับการประกาศเกียรติคุณว่าเป็นหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งแรกในโลก
พร้อมพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมฮาลาลอย่างต่อเนื่อง ศูนย์มีห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC17025:2005 ติดตั้งครุภัณฑ์วิทยาศาสตร์ฮาลาลที่ทันสมัยมากมาย ได้แก่ LC/MS -Triple quadrupole, LC/MS-ESI, GC/MS/MS, ICP, FTIR-HTS-XT, realtime-PCR, zonal-UC, HPLC-UV, GC-FID ฯลฯจากความก้าวหน้าด้วยเครื่องมือวิเคราะห์วิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยและได้มาตรฐาน จนได้รับรางวัลระดับนานาชาติจากผลงานรางวัลอันหลากหลาย ทำให้ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สู่การเป็นผู้นำทางด้านวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาลในระดับโลก ที่จะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สาขาต่างๆ นำไปสู่การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ
จากการสร้างความก้าวหน้าและพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งในการพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล สร้างมูลค่าให้ฮาลาลประเทศไทยสามารถส่งออกได้มากกว่าเดิมหลายเท่าตัว นับเป็นเกียรติสำหรับประเทศไทยกับการขับเคลื่อนงานฮาลาลทำให้ทั่วโลกมองประเทศไทยเป็นแบบอย่าง เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย
โดยงานนี้ รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้การต้อนรับ ฯพณฯ มร.ซาเยดอาร์. อัลซายานี (H.E. Mr. Zayed R. Alzayani)รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์ และการท่องเที่ยว ประเทศบาห์เรน
พร้อมคณะ ได้เป็นเกียรติเยี่ยมชมศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในโอกาสที่เดินทางเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการอำนวยการบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรบาห์เรนว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคง ทางด้านอาหาร การค้า และการลงทุนในผลิตภัณฑ์และโภคภัณฑ์การเกษตร โดยเฉพาะอาหารฮาลาล อีกก้าวความสำเร็จ เพื่อประเทศไทย…สู่ศูนย์กลางด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลของโลก
ขอบคุณภาพ : http://www.halalscience.org/
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " ประเทศไทย…“ศูนย์กลางด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลของโลก” "