
https://www.ucanews.com/news/indonesian-mosques-launch-ramadan-anti-plastic-drive/82491
http://www.ucanews.com
องค์กรผู้นำในด้านรักษาสภาพแวดล้อมของอินโดนีเซีย ใช้ประโยชน์จากเดือนรอมฎอน เป็นฐานในการรณรงค์ต่อต้านการใช้พลาสติกในมัสยิด
กลุ่ม Greenpeace Indonesia และสภาอุละมะอฺอินโดนีเซีย ร่วมกันรณรงค์วันสิ่งแวดล้อมโลก หรือ World Environment Day ซึ่งตรงกับวันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี ที่ปอเนาะ มัสยิดกลางอินดะฮ์ (Pondok Indah Grand Mosque) ทางตอนใต้ของกรุงจาการ์ต้า
มุฮัรรอม อะธา รัสยาดี นักรณรงค์ของกรีนพีซ กล่าวว่า ขยะพลาสติกเป็นประเด็นใหญ่ของอินโดนีเซีย โดยในปี 2015 อินโดนีเซียติดอันดับที่ 2 ของประเทศที่มีการผลิตขยะพลาสติกมากที่สุด ทั้งนี้ เป็นการอ้างอิงจากรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2015 ที่ระบุว่า ประชากร 250 ล้านคนของอินโดนีเซีย ผลิตขยะพลาสติกถึง 3.2 ล้านตันในปี 2510 ในจำนวนนี้ราว 1.29 ล้านตัน ถูกทิ้งลงในทะเล และออกสู่มหาสมุทร
ประเทศที่ผลิตขยะมากที่สุดคือ จีน ซึ่งผลิตขยะพลาสติก 8.8 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 27 ของจำนวนรวมขยะทั้งโลก
รัสยาดี กล่าวว่า สาเหตุที่รณรงค์ในเดือนรอมฎอน เนื่องจากมีแนวโน้มว่า มีการบริโภคมากกว่าปกติในเดือนนี้ โดยเฉพาะมีการใช้ภาพชนะพลาสติกบรรจุอาหารละศีลอด ในการจัดงานที่มัสยิด ซึ่งเป็นการเพิ่มขยะให้มากขึ้น ฟาตะฮ์ ผู้บริหารปอเนาะอินดะฮ์ เห็นด้วยในเรื่องนี้ เพราะทางปอเนาะกำจัดขยะทุกวันในเดือนรอมฎอน ทั้งๆ ที่ในช่วงเวลาอื่นจะทำทุกๆ 4 วัน
มีการรณรงค์ให้ใช้แก้ว และภาชนะกระเบื้องในการจัดงานเลี้ยงทางศาสนา และสร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มชาวมุสลิม เกี่ยวกับการปกป้องสภาพแวดล้อม โดยจะเริ่มโครงการที่จาการ์ต้า และบันดุงก่อน เป็นอันดับแรก
ปีที่ผ่านมา จาการ์ต้าผลิตขยะวันละ 7,000 ตัน ในจำนวนนี้ 15 % หรือเท่ากับ 1,050 ตัน เป็นขยะพลาสติก ในปีเดียวกัน เมืองบันดุงผลิตขยะวันละ 1,500 ตัน โดยมีพลาสติกปนอยู่ร้อยละ 15 เช่นกัน
รัสยาดี กล่าวว่า ประชาชนติดนิสัยในการใช้แล้วทิ้งในครั้งเดียว เช่น ขวดน้ำพลาสติก ถุงก๊อบแก๊บ หลอด และภาชนะภลาสติกต่างๆ โดยไม่ตระหนักว่าจะเป็นสิ่งที่ทำลายธรรมชาติ อีกทั้งขยะพลาสติกเหล่านี้กำลังจะล้นทะเล และทำร้ายสัตว์น้ำ
ในปี 2017 รัฐบาลให้คำมั่นจะลดขยะพลาสติกทางทะเลให้ได้ 70 % ในปลายปี 2025 และในปีเดียวกัน มีการเปิดการรณรงค์ “อินโดนีเซียปลอดขยะ 2020 หรือ Indonesia Free Waste 2020” และได้เริ่มใช้นโยบายทดลองเพื่อลดขยะพลาสติก โดยสั่งให้ร้านค้าปลีกเก็บเงินจากลูกค้าเป็นค่าถุงพลาสติก หากไม่เตรียมถุงมาเอง
นายฮายู เอส.ปราโบโว่ ประธานฝ่ายอนุรักษ์สภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ของสภาอุละมะอฺอินโดนีเซีย กล่าวว่า อิสลามมีคำสอนให้ดูแลรักษาธรรมชาติ โดยมนุษย์มิได้ถูกสอนให้ดำรงความสัมพันธ์กับพระเจ้า และมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น แต่ยังต้องมีสัมพันธภาพกับธรรมชาติ ซึ่งจะให้ผลตอบแทนกลับสู่ตัวมนุษย์เอง
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " มัสยิดในอินโดนีเซีย ผลักดันโครงการรอมฎอนต่อต้านการใช้พลาสติก "