
เมื่อวันที่ 16 เมษายน ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม นักวิชาการตะวันออกศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นกรณีการโจมตีซีเรียว่า โอกาสที่สถานการณ์จะลุกลามนั้น ยังไม่เห็นปฏิกิริยาการตอบโต้ในทางการใช้กำลังจากรัสเซีย มีเพียงการนำเรื่องเข้ายูเอ็น วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศมากกว่า เพราะในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา รัสเซียอยู่ข้างประเทศอาหรับมาตั้งแต่สงครามปี 1967 แต่ความช่วยเหลือของรัสเซียเป็นไปในทางคำพูดหรือการสนับสนุนด้านอื่นที่ไม่ได้เข้ามาสนับสนุนการใช้กำลังเต็มที่ แม้จะเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกันมาก่อน เมื่อเทียบกับการช่วยเหลืออิสราเอลของสหรัฐที่ช่วยแบบเต็มที่เต็มกำลังแล้วต่างกันอย่างมาก แม้ว่ารัสเซียเข้ามาช่วยซีเรียอย่างมากในการปราบปรามไอเอส ร่วมกับอิหร่านและกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ แต่ไอเอสระยะหลังเป็นปรปักษ์กับทุกกลุ่ม รวมทั้งสหรัฐและพันธมิตรของสหรัฐด้วย ฉะนั้น การปราบปรามไอเอสจึงเป็นการกระทำที่รัสเซียทำเต็มที่และได้ผล แต่ก็ไม่ได้เป็นการปะทะกับประเทศอื่นๆ
อาวุธเคมีมีจริงหรือจัดฉาก?
ศ.ดร.จรัญชี้ว่า ประเด็นที่น่าสนใจคือ ข้อกล่าวหาต่อซีเรียเรื่องการใช้อาวุธเคมีกับประชาชนนั้นเป็นเรื่องที่ถูกจัดฉากหรือมีอยู่จริง เพราะซีเรียเคยมีประสบการณ์นี้มาก่อนแล้ว และตอนนั้นมีโทมาฮอว์กมาถล่ม 59 ลูก จากการถูกกล่าวหาว่าใช้อาวุธเคมี จึงมีความคิดกันทั่วไปว่าซีเรียไม่น่าจะทำอีก
อีกเหตุผลหนึ่งที่อาจารย์จรัญมองว่า ตอนนี้ซีเรียไม่จำเป็นต้องใช้อาวุธเคมีแล้ว เพราะขณะนี้ฝ่ายกบฏกำลังล่าถอยหมดเเรง และไอเอสก็ออกไปเกือบหมดแล้ว การใช้อาวุธเคมีสำหรับซีเรียจึงไม่ค่อยมีความจำเป็น นอกเสียจากว่าจะถูกจัดฉากเพื่อให้ดูว่าซีเรียมีความโหดเหี้ยมกับประชาชนตัวเองแล้วจึงมีการถล่ม
ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ อำนาจทางอากาศของสหรัฐ อังกฤษ และฝรั่งเศส นั้น น่าจะต้องถูกพิจารณาหลายด้านด้วยกัน เพราะถ้าข่าวที่อ้างจากหลายฝ่ายรวมทั้งรัสเซียเป็นจริง คือถูกยิงตอบโต้และถูกหยุดยั้งได้ ข้ออ้างที่ว่าในอาวุธทั้งหลาย ทั้งขีปนาวุธร่อนหรือโทมาฮอว์กที่ยิงเข้าไป 103 ลูก แล้วถูกสกัดกว่า 70 ลูก แสดงให้เห็นว่า ยุทธศาสตร์หรือการใช้กำลังอย่างที่ทำกับอิรักและอื่นๆ ที่ไม่ได้มีการตอบโต้นั้น ขณะนี้สหรัฐและพันธมิตรนาโตจะทำได้อีกหรือไม่
สงครามตัวแทน กับชัยชนะของซีเรีย
มองสถานการณ์ตะวันออกกลางขณะนี้ที่เห็นชัดเจน มี 2 เรื่อง
1.อาวุธของรัสเซียที่มอบให้ซีเรียต่อต้านการรุกรานถือได้ว่ามีศักยภาพเพียงพอ
2.การกระทำของฝ่ายสนับสนุนกบฏให้โค่นล้มรัฐบาลของประเทศที่มีอธิปไตยของตัวเอง กำลังแสดงให้เห็นว่าอาจจะไม่ได้รับชัยชนะ เพราะชัยชนะส่วนใหญ่ตอนนี้เป็นของซีเรียเกือบหมด ทั้งชัยชนะที่มีต่อไอเอสและฝ่ายกบฏ เพราะฝ่ายกบฏได้รับการหนุนช่วยจากสหรัฐและพันธมิตรอาหรับ รวมทั้งพันธมิตรยุโรป เพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาลของประเทศอื่น ซึ่งมองในทางกฎหมายระหว่างประเทศแล้วเป็นสิ่งที่ไม่น่ากระทำได้ แต่ว่าการที่จะเปลี่ยนแปลงรัฐบาลซีเรียมีความตั้งใจเพื่อหยุดอำนาจของอิหร่านที่เป็นพันธมิตรของซีเรียด้วย และซีเรียเป็นประเทศที่ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชาวปาเลสไตน์มาอย่างหนักหน่วงมาก่อน เป็นปรปักษ์กับทั้งอิสราเอลและสหรัฐที่หวังจะเปลี่ยนแปลง และเคยเปลี่ยนแปลงประเทศต่างๆ มาได้แล้วในกรณีอาหรับสปริง
“ฉะนั้น อาจมอง 2 อย่าง คือในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมารัสเซียไม่ได้ตอบโต้ประเทศใหญ่ๆ ที่ร่วมสนับสนุนประเทศต่างๆ ในครั้งสงครามอาหรับ-อิสราเอล ผมเห็นอย่างชัดเจนว่า ซีเรียเป็นมาตุภูมิของสงครามตัวแทน สิ่งที่เห็นคือมหาอำนาจหลีกเลี่ยงที่จะชนกันเอง ตัวอย่างเช่น บริเวณที่เป็นตั้งของทหารรัสเซีย หรือที่ติดตั้งอาวุธของรัสเซียในซีเรียนั้นไม่ได้รับผลกระทบเลย ก่อนจะมีการทิ้งระเบิดครั้งนี้ก็มีการบอกกล่าวจึงทำให้ผู้คนหลบหนีทัน แต่ที่เห็นคือการสนับสนุนกบฏของกลุ่มประเทศตะวันตกที่จะโค่นล้มบาชาร์ อัล-อัสซาดนั้น ยิ่งห่างไกลจากชัยชนะเข้าไปทุกที แม้จะเปลี่ยนมาเป็นการถล่มด้วยข้อหาการใช้ก๊าซพิษไม่ว่าจะจริงหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่ได้ทำให้พื้นที่นั้นเปลี่ยนแปลงไปมากนักในตอนนี้ จึงหมายความว่าชัยชนะของซีเรียและพันธมิตรยังมีอยู่มากกว่า
คาดเร่งปราบกบฏ เลี่ยงโต้ตอบระหว่างชาติ
ส่วนการโต้ตอบของซีเรีย ศ.ดร.จรัญมองว่า ซีเรียอาจต้องปรึกษากับประเทศที่เคยมาช่วยและประเทศที่กำลังช่วยอยู่ ตอนนี้มีประเทศที่มีมติไม่เห็นด้วยกับการกระทำของสหรัฐ ฝรั่งเศส และอังกฤษ ถ้ามองเป็นฝ่าย ขณะนี้ จีน รัสเซีย และอาจมีโบลิเวีย และประเทศอื่นๆ ออกมายืนแสดงให้เห็นว่าการโจมตีซีเรียโดยยังขาดหลักฐานชัดเจน เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ส่วนอีกฝ่ายที่ต้องการสะกัดกั้นอิทธิพลของอิหร่าน ซึ่งขณะนี้เข้าไปในดามัสกัส อิรักและเยเมนแล้ว การส่งสัญญาณนี้ส่งผลกระทบต่ออิหร่าน แต่เมื่อมองภาพรวมแล้ว การตอบโต้คงจะเป็นการตอบโต้กับฝ่ายกบฏ มากกว่าจะไปตอบโต้ฝ่ายหนุนกบฏ
ตอนนี้สิ่งที่ซีเรียต้องการมากสุดคือความพยายามปราบปรามกลุ่มกบฏ ท่ามกลางการเจรจาสันติภาพที่ยังไม่สำเร็จ โดยสรุปก็คือซีเรียไม่น่าตอบโต้ระดับนานาชาติ แต่เป็นการตอบโต้ภายใน แม้ว่าเป็นที่รับรู้ว่าฝ่ายกบฏมีสหรัฐ ฝ่ายตะวันตกและพันธมิตรอาหรับหนุนหลัง เพื่อเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเมืองหลังจากสามารถโค่นล้มผู้นำอาหรับมาได้หลายคน แต่คิดว่าซีเรียเป็นตัวอย่างให้เห็นตั้งแต่สมัยโอบามาถึงปัจจุบันว่าไม่สามารถโค่นรัฐบาลนี้ได้
สร้างผลกระทบระยะสั้น เหตุรัสเซียไม่ตอบโต้
อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่เกิดขึ้นทั่วโลกนั้น ศ.ดร.จรัญมองว่ายังคงเกิดขึ้นในระยะสั้น เนื่องจากขณะนี้การโจมตีเกิดขึ้นเพียงวันเดียว
ถ้าสองฝ่ายทำสงครามกัน ไม่ว่าจะเป็นสงครามตัวแทนหรืออะไร ผลที่ตามมามันมากมายมหาศาล อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ยังเกิดเหตุการณ์แค่วันเดียวแล้วเลิกไป แต่จะเห็นว่าการถล่มส่งผลกระทบไปเยอะมากในขณะนี้ ในเรื่องการปรับเปลี่ยนราคาน้ำมัน การขนส่งหรือโลจิสติกส์ทั้งหลาย อย่างน้อยราคาน้ำมันก็พุ่งขึ้น ถ้าไม่มีเหตุการณ์ตามมา การกระทบถึงประเทศอื่นก็อาจน้อยลงไป
สำหรับผลกระทบทั่วโลกด้านอื่นๆ ศ.ดร.จรัญกล่าวว่า ยังไม่เห็นมากนัก เพราะซีเรียมีน้ำมันแต่ไม่มากเมื่อเทียบกับอิรักหรือซาอุดีอาระเบีย แต่ถ้ามีการตอบโต้ตามมาอาจส่งผลระยะยาว
เหตุที่ผมคิดว่ารัสเซียจะไม่ตอบโต้ เพราะดูจากที่ผ่านมาที่ตุรกียิงเครื่องบินของรัสเซียตก รัสเซียก็ออกมาในทำนองข่มขู่ แต่ไม่ได้ตอบโต้แต่อย่างใด รัสเซียคงคิดถึงผลระยะยาวมากกว่า ส่วนประเทศไทยในฐานะที่นำเข้าน้ำมันจากประเทศตะวันออกกลาง คิดว่าน่าจะมีผลกระทบอยู่บ้างในเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับตัว แต่ในระยะยาวคิดว่าไม่มีผลกระทบมาก ศ.ดร.จรัญกล่าว
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " ‘จรัญ มะลูลีม’ มองหลังเหตุถล่ม ‘ซีเรีย’ สงครามตัวแทนมหาอำนาจ กับท่าทีของ ‘รัสเซีย’ "