วันพฤหัสบดี 10 กรกฎาคม 2568
ติดตามเว็บไซต์
หน้าแรก > ข่าวประจำวัน > หวั่นคณะที่ปรึกษารัฐยะไข่ถูกใช้ฟอกผิดพม่า ปกปิดละเมิดสิทธิโรฮิงญา

หวั่นคณะที่ปรึกษารัฐยะไข่ถูกใช้ฟอกผิดพม่า ปกปิดละเมิดสิทธิโรฮิงญา

หมวดหมู่ : ข่าวประจำวัน เปิดอ่าน 43 ครั้ง

คณะที่ปรึกษาว่าด้วยวิกฤติรัฐยะไข่ที่นางซูจีตั้งขึ้น ออกมาระบุว่าพอใจกับพัฒนาการบางประการที่เกิดขึ้น แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนออกมาเตือนสมาชิกของคณะที่ปรึกษาดังกล่าวระวังถูกใช้เป็นเครื่องมือปกปิดการกระทำทารุณกรรมต่อชาวโรฮิงญา

การปราบปรามทางทหารที่รุนแรงของพม่าต่อชาวมุสลิมโรฮิงญาส่งผลให้พลเรือนราว 700,000 คน ต้องอพยพหลบหนีตายจากรัฐยะไข่ข้ามแดนไปฝั่งบังกลาเทศตั้งแต่ 25 สิงหาคม ซึ่งสหประชาชาติระบุว่าปฎิบัติการดังกล่าวของทหารพม่าเปรียบได้กับการกวาดล้างชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยโรฮิงญา

คณะที่ปรึกษาระหว่างประเทศที่ซูจีแต่งตั้งขึ้นต้องตกอยู่ในสถานการณ์ยุ่งยากหลัง บิล ริชาร์ดสัน อดีตผู้ว่าการรัฐนิวเม็กซิโก ของสหรัฐฯ ประกาศลาออกจากคณะในเดือนมกราคม หลังการประชุมนัดแรกในพม่า โดยระบุว่าซูจีไม่เปิดรับความคิดเห็นของคณะที่ปรึกษา และปฏิเสธที่จะช่วย “ฟอกขาว” กรณีโรฮิงญาให้กับพม่า

ในการประชุมครั้งที่ 2 ที่สิงคโปร์เมื่อวันอังคาร (3 เมษายน) กลุ่มได้เสนอข้อแนะนำบางประการสำหรับรัฐบาลพม่า ขณะเดียวกันก็ยกย่อง “การพัฒนาเชิงบวก” ที่เกิดขึ้นบางอย่าง ซึ่งรวมถึงข้อตกลงที่กำลังจะเกิดขึ้นระหว่างรัฐบาลพม่า และหน่วยงานของสหประชาชาติ คือ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ และสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ ที่จนถึงขณะนี้องค์กรเหล่านี้ยังคงถูกพม่ากันออกจากกระบวนการช่วยเหลือต่างๆ ต่อชาวโรฮิงญาที่รวมทั้งกระบวนการในการส่งตัวผู้อพยพโรฮิงญากลับพม่าที่ยังไม่เกิดขึ้นจนถึงเวลานี้

คำแถลงระบุเพียงสั้นๆ ว่าข้อตกลงมีแนวโน้มที่ลงนามในอนาคตอันใกล้

คณะกรรมการยังกล่าวว่า วิน มัต เอ รัฐมนตรีกระทรวงสวัสดิการสังคมของพม่า มีแนวโน้มที่จะเดินทางไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยโรฮิงญาในบังกลาเทศเร็วๆ นี้ ที่อาจจะเป็นการเยือนค่ายผู้ลี้ภัยครั้งแรกของเจ้าหน้าที่อาวุโสพม่านับตั้งแต่วิกฤติที่ปะทุขึ้นล่าสุด

ในรายการคำแนะนำ คณะกรรมการเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนการละเมิดสิทธิในรัฐยะไข่ การพัฒนายุทธศาสตร์การปราบปรามการก่อการร้าย และการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขภาพ

แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนเตือนคณะกรรมการว่ามีความเสี่ยงที่จะถูกใช้เป็นเครื่องปกปิดสำหรับรัฐบาลที่ปฏิเสธการร่วมมือกับผู้สืบสวนของสหประชาชาติ หรือประณามกองกำลังทหารที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำการกวาดล้างชาติพันธุ์ต่อชาวโรฮิงญา

“สมาชิกของคณะกรรมการที่ปรึกษารัฐยะไข่ต้องไม่ปล่อยให้ตนเองถูกใช้เป็นโล่กำบังในการปกปิดอาชญากรรมของทหารในพม่า” เจมส์ โกเมซ ผู้อำนวยการองค์การนิรโทษกรรมสากลภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

คำแถลงของคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ กลับไม่ได้กล่าวถึงโรฮิงญา หรือแนะนำให้พม่าร่วมมือกับผู้ค้นหาข้อเท็จ และผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติ ที่ทางการพม่าประกาศห้ามเดินทางเข้าประเทศ

“แม้จะมีข้อแนะนำบางอย่าง แต่สิ่งที่น่าวิตกคือคณะกรรมการชุดนี้ดูเหมือนจะกลายเป็นทีมเชียร์ลีดเดอร์เข้าไปทุกวัน” แมทธิว สมิธ จาก Fortify Rights กล่าว

กองทัพพม่าอ้างว่าการปราบปรามที่เกิดขึ้นนั้นถูกต้องตามกฎหมาย และมีเป้าหมายที่จะกำจัดผู้ก่อความไม่สงบที่ก่อเหตุโจมตีรุนแรงกับด่านรักษาความมั่นคง แต่ชาวโรฮิงญาที่หนีตายจากการปราบปรามทางทหารของพม่าไปยังบังกลาเทศเผยว่า สิ่งที่ทหารพม่า และกลุ่มม็อบชาวยะไข่ทำกับพวกเขามี ทั้งการข่มขืน วางเพลิง และฆาตกรรม

ขณะที่ พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย กล่าวในระหว่างพิธีสวนสนามเนื่องในวันกองทัพพม่าเรียกชาวโรฮิงญาว่า “เบงกาลี” ซึ่งเป็นคำที่ใช้เพื่อกล่าวหาชาวมุสลิมโรฮิงญานี้ว่าเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ และกล่าวว่า ชนกลุ่มนี้ไม่มีลักษณะหรือวัฒนธรรมที่เหมือนกันกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ของพม่า

“ความตึงเครียดลุกโหมขึ้นเพราะเบงกาลีเรียกร้องสิทธิความเป็นพลเมือง” ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวชี้ถึงเหตุปรามปรามทางทหารที่รุนแรงต่อชาวโรฮิงญาโดยไม่ได้อ้างถึงความรุนแรงที่เป็นผลมาจากกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญา อย่างที่ทางการพม่าอ้างถึงก่อนหน้านี้แต่อย่างใด

ในส่วนข้อตกลงการส่งผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลับพม่าที่ได้ลงนามกับบังกลาเทศตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานั้นจนถึงเวลานี้ยังไม่มีผู้ลี้ภัยโรฮิงญาเดินทางกลับแม้เพียงคนเดียว แม้พม่าจะตรวจเอกสารชาวโรฮิงญาเรียบร้อยแล้วราว 600 คนก็ตาม

เปิดอ่าน 43 ครั้ง

ข่าวล่าสุดของหมวดหมู่ ข่าวประจำวัน

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " หวั่นคณะที่ปรึกษารัฐยะไข่ถูกใช้ฟอกผิดพม่า ปกปิดละเมิดสิทธิโรฮิงญา "

ปิดการแสดงความคิดเห็น