
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ว่าประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาส กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ( ยูเอ็นเอสซี ) เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เสนอให้มีการจัดการประชุมสันติภาพระหว่างประเทศภายในช่วงกลางปีนี้ ซึ่งจะเป็นกลไกแบบพหุภาคี เพื่อปูทางสู่การรื้อฟื้นการเจรจาสันติภาพระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอล ซึ่งหยุดชะงักไปตั้งแต่ปี 2557 และตั้งคำถามเกี่ยวกับ "ความจริงใจ" ของสหรัฐที่มีต่อแนวทางสองรัฐเพื่อแก้ไขความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอล พร้อมทั้งประณามการที่รัฐบาลวอชิงตันตัดเงินสนับสนุนการดำเนินงานของสำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ ( ยูเอ็นอาร์ดับเบิลยูเอ ) ทั้งที่เป็นหน่วยงานที่สหรัฐร่วมก่อตั้ง
ขณะเดียวกัน อับบาสกล่าวย้ำการเดินหน้าความพยายามทางการทูตของปาเลสไตน์ เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ( ยูเอ็นจีเอ ) ในฐานะรัฐสมาชิก หลังได้รับการยอมรับจากยูเอ็นจีเอ ในฐานะรัฐผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ใช่สมาชิก เมื่อเดือนพ.ย. 2555 ซึ่งเป็นสถานะที่เทียบเท่านครรัฐวาติกัน และกล่าวด้วยว่านับตั้งแต่ปี 2491 เป็นต้นมา ยูเอ็นเอสซีผ่านมติสนับสนุนปาเลสไตน์แล้ว 86 ฉบับ แต่ไม่เคยมีการหยิบยกคำสั่งจากมติใดก็ตามมาดำเนินการแม้แต่ครั้งเดียว และให้เหตุผลว่านั่นเป็นเพราะมีการสนับสนุนให้อิสราเอล “เป็นรัฐเหนือกฎหมาย”
WATCH: Israel Amb. Danon accuses Palestinian Pres. Abbas of "running away" after Abbas departs moments after giving his speech at the UN Security Council. pic.twitter.com/LpYAcHosEr
— NBC News World News (@NBCNewsWorld) February 20, 2018
แม้ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2552 ที่ผู้นำปาเลสไตน์วัย 82 ปี กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมยูเอ็นเอสซี อย่างไรก็ตาม อับบาสลุกออกจากห้องประชุมทันทีที่เสร็จสิ้นการแถลงของตัวเอง เรียกเสียงวิจารณ์อย่างหนักจากนายแดนนี ดานอน เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติ ว่าปาเลสไตน์เป็นฝ่าย “วิ่งหนี” จากกระบวนการสันติภาพ ด้านนางนิกกี เฮลีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำยูเอ็น กล่าวว่ารัฐบาลวอชิงตันพร้อมและยินดีที่จะเจรจากับปาเลสไตน์ แต่สหรัฐ “จะไม่เป็นฝ่ายไล่ตาม” ขณะที่มีการตีความคำว่า "พหุภาคี" ของอับบาสนั้น ไม่ได้ต้องการให้สหรัฐเป็นส่วนหนึ่ง
ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอลและสหรัฐตึงเครียดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว รับรองพื้นที่ทั้งหมดของกรุงเยรูซาเลมให้เป็น “เมืองหลวง” ของอิสราเอล “เพียงผู้เดียว” จุดกระแสการต่อต้านสหรัฐและอิสราเอลลุกโชนไปทั่วทั้งตะวันออกกลาง ขณะที่หลังจากนั้นไม่นานนัก ยูเอ็นจีเอจัดการประชุมวาระพิเศษ ลงมติเชิงสัญลักษณ์ด้วยคะแนนเสียง 128 ต่อ 9 เสียง ปฏิเสธนโยบายเยรูซาเลมของสหรัฐ และยูเอ็นเอสซีมีมติเสียงข้างมาก 14 เสียง ประกาศจุดยืนแบบเดียวกัน ซึ่งในส่วนของการลงมติโดยยูเอ็นเอสซี มีเพียงสหรัฐเท่านั้นที่ใช้อำนาจวีโต้ในฐานะสมาชิกถาวร.
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " ผู้นำปาเลสไตน์วอล์กเอาต์ประชุมยูเอ็นเอสซี "