
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ว่านายบอริส จอห์นสัน รมว.กระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร เข้าพบนางออง ซาน ซูจี มนตรีแห่งรัฐและรมว.กระทรวงการต่างประเทศเมียนมา ที่ทำเนียบในกรุงเนปิดอว์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญของการหารือเกี่ยวกับความคืบหน้าของโครงการความร่วมมือระหว่างเมียนมากับบังกลาเทศ ในการส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาจากบังกลาเทศให้กลับมาตั้งถิ่นฐานในรัฐยะไข่ และการสืบสวนสอบสวนสถานการณ์ด้านความมั่นคงในพื้นที่ ซึ่งส่งผลให้ชาวโรฮีนจาเกือบ 700,000 คนลี้ภัยไปยังบังกลาเทศตั้งแต่เดือนส.ค. ปีที่แล้ว และการเสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบ
แม้รัฐบาลเมียนมายืนยันว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงในรัฐยะไข่ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว "อยู่ที่ประมาณ 400 คน" แต่รายงานขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน ( เอ็มเอสเอฟ ) ประเมินว่ามากถึง 6,700 คน เฉพาะในช่วงเดือนแรกของการเกิดเหตุรุนแรง ซึ่งจอห์นสันเรียกร้องให้กระบวนการสืบสวนสอบสวนโดยทางการเมียนมา "เป็นไปอย่างเปิดเผย" และในส่วนของการรับกลับผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาขอให้เกิดขึ้น "ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม" และให้การเดินทางกลับเป็นไปด้วยความสมัครใจระหว่างสองฝ่าย หลังการเริ่มโครงการมีอันต้องเลื่อนออกไป "อย่างไม่มีกำหนด" จากเมื่อช่วงปลายเดือนม.ค. ที่ผ่านมา
Boris Johnson has urged Aung San Suu Kyi to allow an independent probe of the Rohingya refugee crisis pic.twitter.com/PWqFkcnIIk
— The Telegraph (@Telegraph) February 11, 2018
ขณะเดียวกัน จอห์นสันหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับการที่รัฐบาลเมียนมาดำเนินคดีอาญากับผู้สื่อข่าว 2 คนของสำนักข่าวรอยเตอร์ส คือนายจ่อ โซ โอ และนายว้า โล่น ฐานครอบครองและแพร่งพราย "เอกสารลับ" เกี่ยวกับสถานการณ์ในรัฐยะไข่ด้วย แต่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าซูจีและคณะของเมียนมามีปฏิกิริยาอย่างไรกับเรื่องนี้
ทั้งนี้ การเยือนเมียนมาของจอห์นสันเกิดขึ้นหลังการลงพื้นที่ค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจา ในเมืองค็อกซ์ บาซาร์ ของบังกลาเทศ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา และต่อจากนั้นรมว.กระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร มีกำหนดเข้าพบหารือกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย และนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรมว.กระทรวงการต่างประเทศของไทย ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานคณะที่ปรึกษาร่วมแก้ปัญหาในรัฐยะไข่ ที่นางซูจีเป็นผู้แต่งตั้งเมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้วด้วย.
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " อังกฤษเรียกร้องเมียนมา ‘โปร่งใส’ เรื่องรัฐยะไข่ "