
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์ : มาเลย์วุ่นหนัก!! ศาลแพ่งกับชาริอะฮ์ ขัดแย้งกันเรื่องสิทธิการปกครองบุตร
เมื่อวันที่ 29 มกราคม ที่ผ่านมา ศาลสูงสุดของมาเลย์ ออกคำพิพากษาให้การเปลี่ยนมารับอิสลามของเยาวชน 3 คน เป็นโมฆะ โดยว่า ทั้งพ่อ และแม่ ต้องให้ความยินยอมในการเปลี่ยนศาสนาของผู้เยาว์ โดยคำตัดสินในคดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานในคดีลักษณะเดียวกันนี้ที่จะเกิดขึ้นในมาเลเซียต่อไป
คดีนี้ยืดเยื้อมาเป็นเวลาหลายปี โดย อินทิรา คานธี มารดาของเด็กทั้ง 3 เป็นฮินดู และเด็กๆ ได้เปลี่ยนมาเป็นมุสลิมในปี 2009 ขณะอยู่กับบิดาที่ก็เพิ่งเปลี่ยนมานับถืออิสลามก่อนหน้านั้นไม่กี่สัปดาห์ โดยเธอไม่ได้รับทราบเรื่องนี้ และเด็กๆ ก็ยังไม่มีความเข้าใจ หลังจากนั้น บิดานำลูกคนเล็กสุด ที่เพิ่งมีอายุได้ 9 เดือนไป และนางอินทิรา ก็ไม่ได้พบเจอลูกสาวคนเล็กอีกเลย ขณะนี้เด็กทั้ง 3 อายุ 20 ปี 19 ปี และ 9 ปี ตามลำดับ
ก่อนหน้านี้ ศาลสูงเมืองอิโปฮ์ ได้พิพากษาให้การเปลี่ยนศาสนาเป็นโมฆะ แต่บิดา คือ นาย มุฮัมมัด ริดวาน อับดุลเลาะฮ์ ได้ยื่นอุทธรณ์ โดยมีความขัดแย้งในเรื่องสิทธิการเลี้ยงดูบุตรในศาลแพ่งกลาง ซึ่งพิพากษาให้บุตรอยู่ในความดูแลของฝ่ายมารดา ในขณะที่ตามศาลชาริอะฮ์แล้ว สิทธิการเลี้ยงดูบุตรต้องอยู่ที่บิดา แต่ตำรวจไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลแพ่งในปี 2014 ที่ให้จับกุมตัวบิดา
ทนาย และ นายเอ็ม กุลาซีการัน (M Kulasegarn) ส.ส.ฝ่ายค้านในสภา กล่าวว่า เขาจะพยายามติดต่อกับตำรวจระดับสูง ให้ติดตามตัวนายริดวาน มาดำเนินคดี รวมทั้งหาตัวเด็กหญิงที่นายริดวานนำไปด้วย
ประเทศมาเลเซีย ใช้ระบบกฎหมาย 2 แบบคู่เคียงกัน โดยหากเป็นประเด็นเกี่ยวกับครอบครัว การแต่งงานจะขึ้นอยู่กับศาลชาริอะฮ์ แต่กรณีดังกล่าวข้างต้นได้นำพาให้กฎหมายเข้าไปสู่ความซับซ้อนที่ไม่อาจชี้ขาดแบบฟันธง ว่า ขาว หรือ ดำ ได้
เมื่อปีที่ผ่านมา รัฐบาลมาเลย์ เลือกที่จะไม่ดำเนินการปฏิรูปกฎหมายการแต่งงานและหย่าร้าง (แก้ไขกฎหมายปี 2016) ที่ร่างขึ้นเกี่ยวกับกรณีลักษณะนี้ มาตรา 88A ควรจะต้องทำให้มั่นใจได้ว่า เด็กควรนับถือศาสนาแรก หลังจากเกิดและถูกเลี้ยงดูมา แม้ว่าบิดา หรือมารดา จะเปลี่ยนมานับถือศาสนาอื่นในภายหลัง
คำพิพากษาดังกล่าวสร้างความพึงพอใจให้กับคนในท้องถิ่น และองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ยูนิเซฟ ซึ่งได้ออกแถลงการณ์ว่า การตัดสินดังกล่าวสอดคล้องกับ “ผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของเยาวชน” ซึ่งเป็นหลักการที่สหประชาชาติยึดถือเกี่ยวกับสิทธิของเยาวชนตลอดมา และว่า การบังคับเปลี่ยนศาสนาจะทำให้ครอบครัวแตกแยก และการต่อสู้เพื่อแย่งชิงสิทธิการปกครองต้องใช้เวลานาน และเป็นผลร้ายที่ตกแก่เยาวชน
อย่างไรก็ตาม นายกสมาคมทนายความมุสลิมมาเลย์ ออกมากล่าวว่า เขารู้สึกเศร้าใจต่อคำตัดสินของศาลกลาง ซึ่งไม่สอดคล้องกับการตัดสินของศาลชั้นต้น แต่ก็จำต้องยอมรับเพราะเป็นอำนาจศาล
ที่มา: www.channelnewsasia.com
แปลและเรียบเรียงโดย: สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " มาเลย์วุ่นหนัก!! ศาลแพ่งกับชาริอะฮ์ ขัดแย้งกันเรื่องสิทธิการปกครองบุตร "