ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันศุกร์, 3 พฤษภาคม 2567

ประเด็นโรฮิงยาเป็นปัญหาใหญ่ที่ที่ประชุมอาเซียนในฟิลิปปินส์หยิบยกขึ้นมาถกเถียงกัน

พม่าต้องเผชิญกับความกดดันอย่างหนักจากนานาชาติ ในการประชุมสุดยอดอาเซียนซึ่งจัดขึ้นที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในประเด็นที่จะดำเนินการอย่างไรให้ชาวโรฮิงยาหลายแสนคน ที่หนีภัยจากการทารุณกรรมของทหารพม่าเข้าไปยังบังคลาเทศ ได้กลับคืนสู่ที่อยู่อาศัย และสหประชาชาติ พร้อมกับผู้นำชาติต่างๆ ได้เรียกร้องให้พม่าควบคุมกองทัพให้อยู่ในร่องรอย

นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้พบกับนางอ่องซาน ซูจี ในการประชุมย่อย เพื่อหารือ และถกเถียงกันถึงสถานการณ์ในรัฐยะไข่ ซึ่งนำไปสู่การที่ชาวโรฮิงยากว่า 600,000 คน ต้องหลบหนีข้ามแดนไปหลบภัยในบังคลาเทศ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา

หลังจากการประชุม สหประชาชาติได้ออกแถลงการณ์ที่มีใจความสำคัญ ว่า ต้องสร้างความพยายามอย่างขันแข็งเพื่อให้มั่นใจว่า มีการเข้าถึงด้านมนุษยธรรม รวมทั้งผู้อพยพจะต้องสามารถกลับคืนมายังที่อยู่อาศัยได้โดยสมัครใจ ปลอดภัย มีศักดิ์ศรี และอย่างยั่งยืน และที่สำคัญ ต้องสามารถอยู่ร่วมกันกับชุมชนอื่นๆ ได้โดยสงบ แถลงการณ์ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการตั้งคณะผู้แทนสำหรับให้คำปรึกษาในรัฐยะไข่ด้วย

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม คณะกรรมการที่ปรึกษารัฐยะไข่ ซึ่งรัฐบาลพม่าได้แต่งตั้งให้ นายโคฟี่ อันนาน อดีตเลขาธิการ UN เป็นผู้นำ ได้ออกรายงานฉบับสุดท้าย โดยระบุข้อแนะนำในการแก้ไขปัญหาความตึงเครียดในรัฐยะไข่ รวมทั้งมาตรการอื่นๆ ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าว ได้เรียกร้องให้มีการทบทวนกฎหมายการถือสัญชาติพม่า และยุติข้อจำกัดอื่นๆ ต่อชาวมุสลิมโรฮิงยา ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยไร้รัฐในยะไข่ด้วย

กูเตอเรสต์ได้กล่าวสุนทรพจน์ในการพบปะกับผู้แทนสมาชิกสมาคมอาเซียน เมื่อคืนวันที่ 13 พฤศจิกายน ว่า เขาไม่อาจซ่อนความห่วงกังวลอย่างลึกซึ้ง ต่อการอพยพย้ายถิ่นฐานเพื่อหลบหนีภัยของชาวโรฮิงยาหลายแสนคนได้ และมันยิ่งทำให้เขามีความกังวลเพิ่มขึ้นในโศกนาฏกรรมที่ยืดเยื้อ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของความไร้เสถียรภาพ และความรุนแรงในภูมิภาค

เขายังกล่าวว่า UN ให้การต้อนรับแนวทางที่สร้างสรรค์โดยอาเซียน รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่เข้าไปยังรัฐยะไข่ และว่า เขาเรียกร้องให้มีการเข้าถึงด้านมนุษยธรรมที่ไม่จำกัดต่อชุมชนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ และสิทธิที่จะสามารถเดินทางกลับที่อยู่อาศัย ด้วยความปลอดภัย โดยสมัครใจ และมีศักดิ์ศรี

นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นาญิบ ราซัค ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมประชุมอาเซียน ได้สะท้อนให้เห็นถึงความห่วงใยของเลขาธิการ UN และว่าหากยังคงถูกกดขี่อยู่เช่นนี้ ชาวโรฮิงยาคงถูกกวาดล้างไปจนหมด และเขายังเขียนในบล็อกว่า อาเซียนในฐานะองค์กร ไม่ควรอยู่นิ่งเฉย ในขณะที่โลกกำลังรอคอยการแก้ไขปัญหา และตอบโต้ต่อวิกฤตินี้ และว่าที่ผ่านมา อาเซียนต้องรับมือกับวิกฤติที่มีผลกระทบต่อทุกประเทศที่โรฮิงยาได้อพยพเข้าไปอาศัยอยู่ เพราะผู้อพยพเหล่านี้เป็นเป้าหมายของกลุ่ม ISIS

นายโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวหลังจากพบปะกับ ประธานาธิบดีดูเตอร์เต้ แห่งฟิลิปปินส์ ว่า ผู้นำทั้ง 2 ได้หารือกันเกี่ยวกับประเด็นวิกฤติในพม่า และเรียกร้องให้เร่งส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปเพื่อช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับผลกระทบ

นายกรัฐมนตรี ปิแอร์ ทรูโด แห่งแคนาดา กล่าวว่า เขาได้เคยนำเรื่องสถานการณ์ในยะไข่ขึ้นมาหารือกับนางซูจี และว่า เรื่องนี้เป็นความกังวลของแคนาดา และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เขายังกล่าวว่า ควรจะร่วมช่วยกันเพื่อให้สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ โดยต้องพยายามลดความรุนแรง ต้องเน้นการนำกฎหมายมาใช้ และต้องมั่นใจว่า มีการปกป้องประชาชนอย่างเท่าเทียม

http://www.rfa.org/english/news/myanmar/asean-rohingya-11142017153923.html

http://www.rfa.org

ที่มาของเนื้อหา : tangnamnews.wordpress.com