ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันศุกร์, 3 พฤษภาคม 2567

ภาคประชาชนเสนอ 3 ประเด็น ให้อิหม่ามใช้เป็นแนวเลือก กอจ.

ภาคประชาชนตื่นตัวการคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่กำลังจะเกิดขึ้น จัดทำข้อสรุปจากการเสวนา “กอจ.กับความคาดหวังของสังคม” เสนอ 3 ประเด็นทั้งในระดับจังหวัด ระดับกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และระดับประเทศ เสนออิหม่ามและผู้เกี่ยวข้องทั่วประเทศในฐานะเป็นตัวแทนประชาชนตามกฎหมายในการคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่กำลังจะเกิดขึ้น

จากการที่เครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อการพัฒนาได้จัดเสวนาเรื่อง “กอจ.กับความคาดหวังของสังคม” เมื่อวันเสาร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2560 โดยมีนักกิจกรรมเข้าร่วมเสวนากว่า 50 ท่าน ซึ่งผู้เข้าร่วมเสวนาทุกท่านมีความเห็นพ้องต้องกันว่า ควรที่จะจัดทำสรุปเนื้อหาสาระในการเสวนาในครั้งนี้ เมื่อจัดทำขึ้นเสร็จเรียบร้อยและจะได้จัดทำเป็นเอกสารแจกไปยังผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต่อไป

ในการนี้คณะทำงานได้จัดทำร่างข้อเสนอเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงขอนำเสนอให้ท่าน ในฐานะที่เป็นผู้คัดเลือก กอจ.ได้โปรดพิจารณารับทราบความคิดเห็นจากการเสวนาเพื่อนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ทั้งต่อการคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำจังหวัด กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และเพื่อใช้ประโยชน์หลังจากมีการตั้งคณะกรรมการดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว

เครือข่ายฯหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมุสลิมในประเทศไทยต่อไป และขอดุอาจากอัลลอฮฺ (ซ.บ.) โปรดประทานทางนำ ความง่ายดายในการทำงานในหนทางอิสลามที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมุสลิมและประเทศชาติของท่านต่อไป

1.ในระดับประเทศ
-ร่วมมือกับสำนักจุฬาราชมนตรีและ-หรือกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยในการจัดทำคุตบะหฺกลางตอบสนองต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต
-ร่วมมือกับมัสยิดในการนำปัญหาต่อเหตุการณ์ต่างๆในท้องถิ่น สอบถามไปยังจุฬาราชมนตรีเพื่อวินิจฉัย
-ร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการนำเสนอปัญหาการใช้ พ.ร.บ.บริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 กฎกระทรวง และ-หรือระเบียบต่างๆ ตลอดจนปรับปรุงแนวทางการคัดเลือกอีหม่าม กอจ. กอท. ให้เป็นไปตามหลักการศาสนาอิสลามอย่างแท้จริง
-ร่วมมือกับสำนักจุฬาราชมนตรีและกรรมการกลางฯในการด้านการสร้างความเข้าใจในการอยู่ร่วมกัน ต้องทำงานเชิงรุก เพื่อลดอคติ ความเกลียดกลัวและเกลียดชัง ของกระแสอิสลามโฟเบีย

2.ในระดับกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย(กอท.)
-ร่วมกันคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมกับการบริหารและการพัฒนาในยุค 4.0 เป็น กรรมการกลางฯ
-ร่วมมือกับ กอจ.อื่นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการพัฒนาสังคม การขอเงินอุดหนุนจากทางราชการ
-ร่วมมือกับ กอท.ในการร่วมพิจารณาปัญหาและแนวทางการบริหารงานของ กอท.โดยกำหนดให้กรรมการกลางฯตัวแทนจังหวัดนำข้อหารือและรายงานกิจการของกรรมการกลางฯเข้าที่ประชุม กอจ.เพื่อพิจารณาทุกครั้ง
-ร่วมมือกับ กอท.ในการนำเสนอปัญหาคุณภาพชีวิตของคนในจังหวัดให้ กอท.ได้รับทราบและหาทางพิจารณาแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิต
-ร่วมมือกันจัดทำทะเบียนสัปปุรุษทั่วประเทศและเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อแก้ปัญหาการจัดทำทะเบียนอย่างไม่โปร่งใส จนเป็นที่มาของความแตกแยก
-ร่วมมือกับ กอท.ในการจัดอบรมผู้สนใจในศาสนาอิสลาม การดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดเดือนใหม่และการอบรมอื่นๆตามความเหมาะสม
-ร่วมมือกับ กอท.ให้มีการออกระเบียบการรับรองฮาลาลให้เหมาะสมกับธุรกิจมุสลิม
-ร่วมมือกับ กอท.ในการจัดทำสารบบฮาลาลเพื่อความสะดวกต่อผู้บริโภคอาหารฮาลาล
-ร่วมมือกับ กอท.ในการจัดตั้งและการบริหารจัดการซะกาตอย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำตัวอย่างมาเลเซียเป็นกรณีศึกษา

3.ในระดับจังหวัด
-ส่งเสริมและสนับสนุนให้คัดเลือกสตรีที่มีความรู้ความสามารถ ระดับประเทศและ-หรือระดับจังหวัดจากวงนอกมาเป็น กอจ.และ-หรือคณะทำงานด้านต่างๆ
-ส่งเสริมและสนับสนุนให้คัดเลือกเยาวชนที่มีความรู้ความสามารถ ระดับประเทศและ-หรือระดับจังหวัดจากวงนอกมาเป็น กอจ.และ-หรือคณะทำงานด้านต่างๆ
-ส่งเสริมและสนับสนุนกิจการของมัสยิดโดยเป็นพี่เลี้ยงและเป็นผู้ให้ความรู้รอบด้าน ไม่ทำตัวเป็นผู้ตรวจจับผิด
-ส่งเสริมและสนับสนุน จัดทำ รวบรวม แจกจ่ายคุตบะหฺกลางไปยังกรรมการอิสลามประจำมัสยิด(กอม.)
-ส่งเสริมและสนับสนุนให้ กอม.ที่มีการคุตบะหฺที่โดยไม่แปลเป็นภาษาถิ่นหรือภาษาไทย ให้มีการบรรยายเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยนำเนื้อหาจากส่วนกลางไปใช้
-ส่งเสริมและสนับสนุนการทำบัญชี การทำบัญชีทรัพย์สิน และความรู้ด้านอื่นๆแก่ กอม.
-ส่งเสริมสนับสนุนในการจัดทำทะเบียนที่ดินวาก็อฟของมัสยิดเพื่อเป็นประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาสังคมและการจัดเก็บรายได้
-จัดทำทะเบียนผู้สนใจศาสนาอิสลาม และผู้รับศาสนาอิสลามจากการแต่งงาน และจัดอบรมตามความเหมาะสม
-จัดทำทะเบียนผู้สมควรได้รับซะกาต และ-หรือบุคคลที่สมควรได้รับการสนับสนุนเงินทุนในการประกอบอาชีพ
-จัดให้มีการประเมินผลจากภายในและจากภายนอก
-จัดให้มีการตรวจสอบบัญชีจากผู้ตรวจที่รับใบอนุญาต
-จัดให้มีการกระจายอำนาจในการจัดอบรมการใช้ชีวิตคู่ไปยังสถาบันการศึกษาหรือมัสยิดต่างๆ ไม่ควรเก็บค่าใช้จ่าย ปรับแก้สัญญาที่ไม่เป็นธรรม อาทิ ภรรยาสามารถที่จะขอยกเลิกการแต่งงานหรือขอหย่าจากสามีได้ ต่อเมื่อ สามีไม่ส่งนัฟเกาะห์(การเลี้ยงดู)เกิน 1 ปี ซึ่งเป็นการเอาเปรียบสตรีมากและไม่น่าถูกต้องตามหลักการ ระบุเรื่องทรัพย์สินส่วนตัวของสตรีและภรรยาตามหลักศาสนา
-ควรมีแผนพัฒนาสังคมมุสลิมในทุกมิติ และแถลงนโยบายและผลงานต่อสาธารณะ(ที่ไม่เป็นผลลบต่อทัศนคติต่อภาพรวมของสังคมในประเทศไทย)
-ควรมีการประเมินผลการทำงาน ที่พร้อมให้ตรวจสอบ เพื่อความโปร่งใส

ที่มาของเนื้อหา : i-newsmedia.net