ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันจันทร์, 6 พฤษภาคม 2567

ผบ.สส.พม่าชี้แจงทูตสหรัฐ ยืนกรานมุสลิมโรฮีนจาไม่ใช่คนเมียนมา


พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผบ.สส.พม่า แฟ้มภาพ AFP

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผบ.สส.เมียนมา ชี้แจงกับเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำเมียนมา ยืนกรานมุสลิมโรฮีนจาไม่ใช่คนเมียนมาแต่ดั้งเดิม แต่เป็นเบงกาลีที่เจ้าอาณานิคมอังกฤษพาเข้ามาตั้งรกราก พร้อมโต้ตัวเลขผู้อพยพใส่สีตีไข่เกินจริง

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา ให้การต้อนรับสกอต มาร์เซียล เอกอัครราชทูตสหรัฐ ที่เข้าพบกรุงเนปยีดอเมื่อวันพุธที่ 11 ตุลาคม 2560 เพื่อหารือและแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ในรัฐยะไข่ที่ทำให้มีผู้ลี้ภัยมากกว่า 500,000 คน พร้อมกับเสนอให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

นายทหารที่ทรงอิทธิพลที่สุดในเมียนมาผู้นี้ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กของเขาหลังจากนั้น ชี้แจงด้วยท่าทีเช่นเดิมว่า ปฏิบัติการทางทหารของเมียนมา เพื่อตอบโต้ที่กองกำลังติดอาวุธอาร์ซาโจมตีที่ตั้งของหน่วยความมั่นคงเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม นั้นสมควรแก่เหตุ และจำนวนผู้อพยพออกจากรัฐยะไข่เข้าบังกลาเทศนั้นเป็นการปั้นแต่งตัวเลขเกินจริง และเป็นการโฆษณาชวนเชื่อและยุยงอยู่หลังฉากโดยใช้สื่อเป็นเครื่องมือ

เขาใช้คำเรียกขานชาวมุสลิมโรฮีนจาด้วยคำเชิงดูถูกว่า “เบงกาลี” โดยบอกว่า เมียนมาไม่ได้พาพวกเบงกาลีเหล่านี้เข้ามาอยู่ในเมียนมา แต่เป็นชาติเจ้าอาณานิคมอังกฤษที่พาเข้ามาจากบังกลาเทศ พวกนี้ไม่อาจอ้างการสืบเชื้อสายอย่างถูกกฎหมายบนผืนแผ่นดินเมียนมาได้

“พวกเขาไม่ได้เป็นคนพื้นเมืองที่นี่ เอกสารบันทึกในยุคอาณานิคมพิสูจน์ว่าพวกเขาไม่ได้ถูกเรียกว่าโรฮีนจาด้วยซ้ำ แต่ถูกเรียกว่าเบงกาลี” เขาอ้างถึงบันทึกประวัติศาสตร์ที่ยังเป็นข้อโต้แย้ง โดยบอกว่า พวกเบงกาลีเหล่านี้เพียงหนีกลับคืนมาตุภูมิของเขาเขา “จริงๆ แล้วถิ่นดั้งเดิมของเบงกาลีคือเบงกอล”

รายงานเอเอฟพีกล่าวว่า ถึงแม้ว่าจำนวนการอพยพย้ายถิ่นจะเพิ่มขึ้นในสมัยที่อังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคม แต่นักประวัติศาสตร์หลายคนกล่าวว่า มีบันทึกการตั้งถิ่นฐานของชุมชนชาวมุสลิมในรัฐยะไข่มาตั้งแต่ก่อนที่เมียนมาจะตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ

เมื่อวันพุธ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้เปิดเผยรายงานผลการสอบสวนที่ได้จากการสอบถามชาวโรฮีนจาที่อพยพจากรัฐยะไข่ และให้ข้อสรุปว่า ปฏิบัติการกวาดล้างของกองทัพเมียนมาเป็นการทำอย่างเป็นระบบที่ผ่านการจัดการและประสานความร่วมมือ โดยมีเจตนาไม่เพียงผลักไสประชากรกลุ่มนี้ออกจากเมียนมาเท่านั้น แต่ยังจงใจป้องกันไม่ให้โรฮีนจากลับคืนถิ่น ด้วยการวางเพลิงเผาบ้านเรือนและไร่นา

คำบอกเล่าของชาวโรฮีนจาต่อคณะสอบสวนของยูเอ็นกล่าวถึงความโหดร้ายของทหาร ซึ่งมักมีม็อบชาวพุทธยะไข่ผสมโรงด้วย ที่เข่นฆ่า ทารุฯ และข่มขืนเด็กโรฮีนจา

ในคำชี้แจงที่เผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก ผบ.สส.เมียนมาไม่ได้กล่าวคำกล่าวหาในรายงานฉบับนี้ แต่ได้บรรยายถึงความโหดร้ายของพวกกองกำลังติดอาวุธเบงกาลีว่า ได้ฆ่าชาวฮินดู 90 คนและชาวโรฮีนจาที่มีความเกี่ยวโยงกับรัฐบาล 30 คน

อีกด้านหนึ่ง ทางการบังกลาเทศได้ประกาศห้ามมูลนิธิอิสลาม 3 แห่งเข้าไปทำงานในค่ายผู้ลี้ภัยโรฮีนจาที่เมืองคอกซ์บาซาร์เนื่องจากวิตกว่าชาวมุสลิมโรฮีนจาอพยพเหล่านี้จะถูกชี้นำให้มีความคิดรุนแรง มูลนิธิเหล่านี้ได้แก่ มุสลิมเอดและอิสลามิกรีลีฟ ซึ่งมีที่ตั้งในต่างประเทศ และมูลนิธิอัลลามาฟัซลุลเลาะห์ที่อยู่ในบังกลาเทศ.

ที่มาของเนื้อหา : www.thaipost.net